นัดแรกกรรมการ บริหารวิกฤติเศรษฐกิจ

13 ส.ค. 2565 | 07:30 น.

บทบรรณาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจนัดแรก โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่มาจากรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหน่วยงานเศรษฐกิจทางการ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้น่าจะเป็นความหวังในการนำพาประเทศออกจากวิกฤติ หรือบรรเทาเบาบางปมปัญหาทางเศรษฐกิจให้กระทบประชาชนให้น้อยที่สุด

 
เป็นที่ทราบกันดีเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ซึมเซาเหงาหงอยมา 2 ปีเศษ ประจวบเข้ากับเจอวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งของมหาอำนาจกระเทือนไปทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน พลังงาน ที่พุ่งสูงขึ้น กดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้น จากปัจจัยต้นทุนและการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมากก่อนหน้านี้ ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่างสหรัฐ ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ตามด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อของสหรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อเงินทุนไหลเข้า-ออก อัตราแลกเปลี่ยน อันส่งผลมาถึงการกำหนดนโยบายและทิศทางการปรับดอกเบี้ยของไทยด้วย

คณะกรรมการรับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมเห็นชอบมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) โดยเฉพาะมาตรการประหยัดพลังงาน การพิจารณาต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ที่ยังไม่มีข้อสรุปในการประชุมรอบนี้ แต่ให้กระทรวงการคลังไปหารือกับกระทรวงพลังงานหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว พร้อมกับมาตรการดูแลค่าใช้จ่ายประชาชน โดยจัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือน ทั้งรถ ขสมก. รถโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รฟท.) รถไฟฟ้า MRT
 

มาตรการแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร ให้เร่งโครงการบริหารจัดการปุ๋ย โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ มาตรการทางการเงินภาคครัวเรือน และ SME โครงการพักทรัพย์พักหนี้ การค้ำประกันสินเชื่อ SME การสนับสนุนการให้สินเชื่อผู้ประกอบธุรกิจ มาตรการสนับสนุนการเงินในการพัฒนาศักยภาพ การขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางเงิน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สนับสนุนสินเชื่อจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ที่มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเทคโนโลยี

เมื่อดูจากองค์ประกอบคณะกรรมการและอำนาจหน้าที่ ทั้งที่ติดตัวหน่วยงานของคณะกรรมการมาและเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจการบริหารครอบคลุม น่าจะเป็นความหวังมากกว่านี้ในการกำหนดมาตรการ หรือนโยบายในการนำประเทศผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ ที่สำคัญต้องตีโจทย์ให้แตกตั้งแต่ต้นมือ พร้อมกับจัดลำดับความสำคัญให้ได้ ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วน คงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในครั้งถัดไป หลังนัดแรกที่ออกมายังขาดภาพที่ชัดเจนในการบริหารวิกฤติ