ไทยกำลังเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน

12 ส.ค. 2565 | 05:15 น.
859

บทบรรณาธิการ

พอมีข่าวดีขึ้นมาบ้างหลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลมายังราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศปรับตัวลดลงตาม โดยราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์ในรอบกว่า 1 เดือน ที่ผ่านมาปรับราคาลงแล้วราว 8.7 บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันดีเซลรัฐบาลยังคงตรึงราคาอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังชดเชยอยู่ที่ 0.24 บาทต่อลิตร ซึ่งในสัปดาห์หน้า หากราคาน้ำมันในตลาดยังทรงตัวหรือปรับราคาลงมา ก็จะได้เห็นราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมาบ้าง 
 

ขณะที่ข่าวร้ายๆ ต้องไปลุ้นเรื่องของค่าไฟฟ้า ว่าในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 นี้ จะปรับเพิ่มขึ้น 68.66 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยปรับขึ้นไปอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะไปหาทางพยุงได้แค่ไหน หลังจากขอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เบรคการประกาศปรับค่าเอฟทีไปแล้ว 2 ครั้ง แต่เมื่อดูภาระค่าเอฟที ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท ในปี 2566 คงหนีไม่พ้นที่ค่าไฟฟ้าจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6 บาทต่อหน่วย
 

ตามมาด้วยล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้นโยบายกับปลัดกระทรวงแรงงานไปแล้ว ในเรื่องของการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ที่จะต้องพิจารณาให้ได้ข้อยุติภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับใหม่ 5-8% นี้ จะมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หรือไม่ก็วันที่ 1 มกราคม 2566 ซึ่งเท่ากับว่าค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นไปประมาณ 15-25 บาทต่อวัน เป็นภาระให้กับผู้ผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอีก
 

ด้วยปัจจัยค่าไฟฟ้าและค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับตัวสูงขึ้นนี้ หากมองในภาพรวมของเศรษฐกิจมหาภาค ย่อมส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อพิจารณาค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 6 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม คู่แข่งสำคัญของไทย ค่าไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยอยู่ที่ 2.76 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าธุรกิจอื่นๆ 2.59 บาทต่อหน่วย
 

ขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยเมื่อปรับใหม่จะขึ้นไปอยู่ที่ราว 328-338 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนเวียดนาม อยู่ที่ 150-205 บาทต่อคนต่อหน่วย สปป.ลาว 105 บาทต่อคนต่อวัน เมียนมา 90 บาทต่อคนต่อวัน กัมพูชา 217 บาทต่อคนต่อวัน และมาเลเซีย 291-318 บาทต่อคนต่อวัน
 

ดังนั้น เมื่อนักลงทุนจากต่างประเทศ จะเข้ามาลงทุน อัตราค่าไฟฟ้าและค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนพิจารณาตัดสินใจเป็นลำดับต้นๆ ว่า เมื่อเข้ามาลงทุนแล้ว การผลิตสินค้า หรือภาคบริการ จะมีต้นทุนมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีต้นทุนที่ถูกกว่า
 

ถึงวันนี้เมื่อดูแนวโน้มของค่าไฟฟ้าและค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นแล้ว การจะดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนตามเป้าหมาย อาจจะเป็นเรื่องยากลำบากขึ้นมาอีก เพราะปัจจัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลงแล้ว 
 

มองเห็นตรงจุดนี้แล้ว การจะฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาปกติเหมือนก่อนช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการหรือสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน จูงใจนักลงทุน เพื่อมาชดเชยสิ่งที่เสียไปได้มากน้อยแค่ไหน คงเป็นการบ้านที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจต่อไป