“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

21 ก.ค. 2565 | 15:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.ค. 2565 | 22:28 น.
711

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ภาวะเศรษฐกิจถดถอย กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ผู้คนทั้งโลกกำลังจับจ้องกันอยู่ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา สาขาแอตแลนตา (Fed Atlanta) ได้ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของสหรัฐ ว่าน่าจะเติบโตติดลบ 2.1% จากเดิมเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ที่ยังคาดไว้ว่าจีดีพีสหรัฐจะขยายตัวได้ 2% เท่ากับเป็นการเหวี่ยงลงลึกถึง 4% 

 

     ภาพสะท้อนภาวะเศรษฐกิจของพี่ใหญ่สหรัฐที่เห็นได้ชัดเจนคือ สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2565 ทะลุขึ้นมา 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี วิกฤติลงลึกกว่าที่หลายคนคิดไว้มาก 

 

     นี่จะเป็นเดิมพันของตลาดเงิน ตลาดทุนกันทั้งโลกว่า การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด วันที่ 27 ก.ค.2565 จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% หรือ 1% 

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     ไม่ว่าออกหัวออกก้อย แรงเหวี่ยงของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ จะลากพี่ไทยให้ทรุดลงไปด้วย  

 

     เพราะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ผูกติดกับต่างประเทศ ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจ กำลังซื้อ การผลิต การจ้างงานของไทยยังไม่ฟื้นตัวได้ดี 

     แน่นอนว่าจะเชื่อมโยงมาถึงค่าเงินบาท ตอนนี้ “อ่อนค่า” สุดในรอบ 15-16 ปีไปแล้ว การอ่อนค่าลงมาที่ระดับ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ไม่เคยปรากฏมาก่อนนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2549   

 

     ในเกมหมากรุกนั้นหาก “หมากอ่อนให้ซ้อนเรือ” ฉันใด ในเรื่องค่าเงินนั้น เงินบาทที่อ่อนค่า ทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยถูกลง สามารถแข่งขันได้ง่าย แต่หน่วยงานของรัฐที่ดูแลค่าเงินบาทต้องบริหารให้เป็น ต้องหากรรมวิธีให้เงินตรามาเข้าประเทศเร็วขึ้น พักให้น้อยลง เพื่อจะได้นำเงินรายได้มาขยายการซื้อสินค้าและวัตถุดิบ ทดแทนเงินทุนเคลื่อนย้ายจากค่าเงิน 

 

     ขณะเดียวกันต้องหามาตรการมาบริหารจัดการสินค้าคงทุน เครื่องจักรหรือวัตถุดิบหลักที่เรานำเข้ามาให้ทันท่วงที ไม่เช่นนั้นจะเกิดการขาดดุลการค้าอย่างหนักหน่วง เพราะเราต้องควักเงินบาทไปซื้อสินค้ามากขึ้น กำไรที่ได้มาอาจไม่พอยาไส้ต้นทุนการนำเข้า 

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     ประเด็นต่อมาคือ จะทำอย่างไรกับต้นทุนดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีการประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย ในเดือน ส.ค. 2565 พรวดเดียว 0.5% ไม่ใช่ 0.25% เหมือนที่เคยเป็น 

 

     ท่ามกลางปัญหาว่าคนไทยเป็นหนี้กันพรวดเดียว 40 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้เป็นหนี้ค้างชำระมากกว่า 3 เดือน ที่พร้อมถูกฟ้องมากถึง 8 ล้านบัญชี เฉพาะกลุ่มที่ค้างชำระ 31-90 วันมีอยู่มากโขถึง 1.7 ล้านบัญชี 

 

     สินเชื่อรถยนต์พร้อมถูกยึดรถมีมากถึง 4.13 แสนราย สินเชื่อบ้านอีกกว่า 1.8 แสนราย ถ้าไม่เข้าไปช่วยก็ตายอย่างเขียด

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งสัญญาณออกมาชัดว่า หลังสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่านั้น หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องมานั่งหารือร่วมกันว่า จะเตรียมรับมืออย่างไร แม้ว่าจากการติดตามข้อมูลของไทยพบว่า เงินเฟ้อของไทยเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานจากภาวะราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น และเชื่อว่าเมื่อทุกอย่างคลี่คลายและเข้าที่ จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เพราะไทยเคยเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงสุด 9% มาแล้วเมื่อปี 2551 

 

     แต่ว่า การใช้เครื่องมือนโยบายทางการเงิน โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้ปัญหาเงินเฟ้อนั้น อาจเกิดผลกระทบที่น่ากังวล เพราะเมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จะทำให้ต้นทุนของประชาชนและภาคเอกชนสูงขึ้น  

 

     เท่ากับว่าไทยจะต้องเจอความเสี่ยงที่ในการเกิดเศรษฐกิจถดถอยเร็วขึ้นกว่าที่คาด และหากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยขึ้นมาอีกเท่ากับเศรษฐกิจของไทยต้องเผชิญกับมรสุม 3 ลูกที่เข้ามาพร้อมกัน   

 

     1.เงินเฟ้อสูง   

     2.ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและสินค้าอื่นมีราคาสูงขึ้น 

     3.เจอพิษเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งเดิมคาดว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในช่วง 12-16 เดือนข้างหน้า แต่ขณะนี้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐและยุโรป จะมาเร็วกว่าที่ทุกคนคิด 

 

     ติดตามกันให้ดี ตอนนี้ยักษ์ใหญ่ของโลก ไล่จาก Apple โกลด์แมน ซาร์ เทสล่า อเมซอน ไมโครซอฟต์ ต่างประกาศชะลอการจ้างงานในสหรัฐแล้ว เพราะความกังวลเรื่องสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย 

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     คุณบัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล บอกว่า ตอนนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วและมีปัญหาระยะสั้น คือ เศรษฐกิจชะลอตัวซึ่งจะมีการถดถอยในภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็ว และเงินเฟ้อเพิ่มเร็วในอัตราเร่ง ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนในช่วง 20-30 ปี 

 

     ดังนั้น การออกนโยบายอาจผิดพลาดได้ถ้าไม่ดูให้รอบคอบและในระยะยาวโลก จะยิ่งยากมากขึ้นเมื่อมีการแบ่งฝ่าย เพราะโลกจะมีต้นทุนพลังงานและอาหารสูงจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น  โอกาสของไทยอยู่ที่การส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นได้จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากขึ้น 

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     ดังนั้น สิ่งที่จะรัฐบาลจะทำได้โดยเร็ว 

 

     1.ต้องแก้ปัญหาเงินเฟ้อก่อนเพราะกระทบทุกคน ต้องใช้กลไกตลาดมากกว่าการควบคุมราคาสินค้า เพราะควบคุมราคาทำได้แค่ระยะสั้น และหากควบมากคุมสินค้าจะขาดแคลน และทำให้สินค้าเพิ่มตามต้นทุนจริง และต้องขึ้นดอกเบี้ยเพราะอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและลดการอ่อนค่าของเงินบาท 

 

     2.ต้องช่วยเสริมสภาพคล่องและประคองหนี้และดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินไม่ให้เป็นอุปสรรคการทำธุรกิจ  ต้องหาแหล่งเงินทุนให้เอสเอ็มอีสามารถตั้งกองทุนระดมเงินจากประชาชน และเอกชนเพื่อช่วยเหลือในการลงทุน 

 

     3.รัฐบาลต้องกระตุ้นให้ผู้คนประหยัด โดยภาครัฐต้องทำนำร่อง 

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     ขณะที่ คุณกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า Global Recessions : โลกถดถอยมาแน่ บริษัทที่อ่อนแอ ก็จะต้องปิดตัวไปในช่วงนี้ คนตกงาน รวมไปถึงคนที่จ้างมาเกินก็ตกงานกันช่วงนี้ และธนาคารจัดการปัญหาหนี้เสียออกจาก Balance Sheets 

 

     ถ้าลองคิดดู ปี 1975 1982 1991 ปัญหาเริ่มมาจากราคาน้ำมันที่คุกคามทุกประเทศ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ราคาน้ำมันโลก ผสมผสานกับราคาอาหารโลก ส่งผลกระทบทุกคนพร้อมๆ กัน นำไปสู่วิกฤตเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 30-40 ปี เกือบทุกประเทศ 

 

     ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายเข้มงวดเพื่อทำสงครามกับเงินเฟ้อ ต้องใช้ยาแรงเป็นพิเศษ   

 

     และจากนโยบายธนาคารกลางต่างๆ เหล่านี้ จะมีหลายประเทศที่เริ่มเข้าสู่ Recession อย่างจริงๆ จังๆ ในช่วงปลายปีนี้ถึง ต้นปีหน้า 

 

     และจะมีนัยยะมายังประเทศไทยในช่วงต่อไป อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

“รัฐบาลลุง” ขอรับ! เลิกตั้งรับเศรษฐกิจถดถอย

 

     เราควรใช้เวลาที่เหลือ ฉวยโอกาสที่เปิดกว้างขึ้นจากวิกฤตราคาอาหาร ราคาพลังงาน และจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ  มาดูแลเรื่องสินค้าเกษตร การส่งออกไปสหรัฐ การท่องเที่ยว การลงทุนในพลังงานทดแทน  

 

     ถ้าลงมือทำจะพอผ่อนหนักเป็นเบาไปได้ แต่ถ้าไม่ขยับรับมือ ไม่ทันวิกฤตแน่นอน