บิ๊กโปรเจ็กต์ ร้อนฉ่า ! ปี 64

29 ธ.ค. 2564 | 17:25 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ธ.ค. 2564 | 00:38 น.
860

ปมร้อนโครงการขนาดใหญ่ ภาคใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดช่วงปี2564 มีบางโครงการ อาจหาทางลงไม่ได้ ขณะบางโปรเจ็กต์จบลง แบบค้านสายตา

+ขวางขยายสัญญาสายสีเขียว การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งระบบให้กับ บริษัทระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพ (จำกัด) หรือ บีทีเอสซี 30ปี ตั้งแต่ปี2572-2602แลกกับหนี้ก้อนโต 1.07 แสนล้านบาท ที่ กระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร(กทม.)ต้องแบกภาระ โดยรับโอนค่าก่อสร้าง ส่วนต่อขยาย 2ช่วง กว่า 6-7 หมื่นล้านบาท ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เข้ามาดูแล อีกทั้งระบบอาณัติสัญญาณ และค่าจ้างเดินรถ ที่กทม.ค้างจ่าย บีทีเอสซีกว่า4ปี บวกดอกเบี้ยรวมเป็นหนี้พอกพูนถึง 3.7หมื่นล้านบาทกระทั่ง มี การทวงหนี้ผ่านโลกโชเซียลและเตรียมฟ้องร้องจากฝั่งเอกชน

 

 

 

ขณะเบื้องลึก กทม.ไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือได้ เพราะนโยบายรัฐบาลต้องการลดค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนการกำหนดจัดเก็บค่าโดยสาร 65บาทตลอดสาย เพื่อนำมาทยอยชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถของกทม. กลับถูกขัดขวางจากกระทรวงคมนาคมโดยอ้างว่าอาจกระทบประชาชน ทำให้การใช้บริการส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ตั้งแต่ ห้าแยกลาดพร้าวถึงคูคต ยังฟรีมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า2ปี ล่าสุด เรื่องการขยายสัมปทานสายสีได้เขียว ถูกถอดออกจากวาระการประชุม ครม.อีกครั้ง เมื่อวันที่19พฤศจิกายน 2564 ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือกระทรวงคมนาคม นั่นเอง

+ทีโออาร์ฉาวสายสีส้ม

 

 

นอกจากปัญหาขยายสัมปทานสายสีเขียว กลุ่มบีทีเอสยัง มีความเชื่อมโยงกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม และสัมปทานเดินรถ ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวิทวงศ์ ) มูลค่า1.4แสนล้านบาท จนเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องและเรื่องยังคาราคาซังอยู่ในศาล เมื่อรฟม. ปรับหลักเกณฑ์ทีโออาร์สุดประหลาด ใช้ผลตอบแทน 70 คะแนน ควบคู่กับด้านเทคนิค 30 คะแนน หากใครได้คะแนนรวมสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีโครงการใดเคยประมูลในลักษณะนี้มาก่อน อีกทั้งการประมูลในครั้งนี้จะไม่เป็นประเด็นหากรฟม. มีการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ในช่วงที่มีการประกาศประกวดราคาตั้งแต่แรก แต่ดันกลับลำแก้ทีโออาร์ใหม่ในช่วงที่มีเอกชนซื้อซองประมูลและยื่นข้อเสนอแล้วเสร็จ จึงเป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจเอื้อประโยชน์ต่อรายใดรายหนึ่งแม้ล้มประมูลไปแล้วแต่ รฟม.ยังยืนยันต้องใช้เกณฑ์ทีโออาร์ใหม่เนื่องจาก เป็นอุโมงค์และผ่านจุดสำคัญในกรุงเทพมหานคร

 

 

+”ม่วงใต้” เดือด

 

ขณะสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ มูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท กลายเป็นประเด็นร้อนตามมาติดๆช่วงต้นปี 2564 เนื่องจากการประมูลรอบแรกในรูปแบบการประกวดราคานานชาติ รฟม.ล้มประมูลกะทันหัน แม้มีผู้รับเหมาซื้อเอกสารประกวดราคาไปแล้ว 9 ราย โดยอ้างว่าส่งเอกสารบางรายการไม่ครบถ้วน อีกทั้งการระบาดโควิด-19 ทำให้การสื่อสารระหว่างผู้สังเกตการณ์กับ รฟม. เกิดความคลาดเคลื่อนในการจัดส่งเอกสารประกวดราคาซึ่งไม่เป็นไปตามแนวทางวิธีการข้อตกลงคุณธรรม ของโครงการที่ลงนามร่วมกันไว้และยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขการประเมินเกณฑ์เทคนิคควบคู่ราคา อีกทั้งมีกระแสข่าวว่าการยกเลิกประมูลสายสีม่วงใต้ เป็นการตัดปัญหา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ถูกไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ จนล่าสุดรฟม.ได้กำหนดเกณฑ์การประมูลใหม่อีกครั้ง โดยกลับมาใช้เกณฑ์เดิมและเมื่อวันที่ 27ธันวาคม มีผู้รับเหมายื่นประกวดราคา6สัญญา ล้วนเป็นยักษ์แถวหน้าของเมืองไทย

+ทางคู่”เหนือ-อีสาน”กระฉ่อน

 

 

อีกเหตุการณ์ กระฉ่อนพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง หนีไม่พ้น การประมูล 2รถไฟทางคู่ใหม่ สายเหนือ (เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ) และสายอีสาน(บ้านไผ่-มุกดาหาร -นครพนม) 5สัญญามูลค่า1.28แสนล้านบาท ที่ผลการประมูลช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีผู้รับเหมารายใหญ่เพียง5ราย ผ่านเกณฑ์ทีโออาร์ และทุกสัญญา ล้วนเสนอราคาห่างจากราคากลาง เฉลี่ย 0.08% ราวกับตาเห็น เพราะนอกจากไม่ช่วยให้รัฐประหยัดงบประมาณแล้วยังไม่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนกระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชี้ขาดในที่สุด2รถไฟทางคู่ก็ได้ไปต่อ อย่างไร้มลทินและลงนามกับผู้ชนะประมูล วันที่29ธันวาคมส่งท้ายปี2564 แบบค้านสายตา

 

บิ๊กโปรเจ็กต์  ร้อนฉ่า ! ปี 64

+ขอผ่อน”แอร์พอร์ตลิงก์”

 

 

การระบาดโควิด-19 สะเทือน บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (เครือซีพี) เอกชนคู่สัญญา สิทธิ์การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ของรฟท. เปิดเงื่อนไข ขอ แบ่งชำระ 10 งวด เป็นเวลา10ปี วงเงิน 10,671 ล้าน แทนการจ่ายงวดเดียว หลังติดขัดวงเงินกู้เกินเพดาน ลากปัญหา สัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร สัญญา 50 ปี ตามมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านกระหึ่ม ด้านรฟท. ยัน รัฐไม่เสียเปรียบ บวกดอกเบี้ยเพิ่ม กว่า 1,000 ล้านบาท และจะโอนสิทธิ์ให้เอกชนต่อเมื่อชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมดแล้ว ซึ่งงานนี้ลุ้น! อภิมหาโปรเจ็กต์การขนส่ง และ ท่องเที่ยวของประเทศ รุ่งหรือร่วง! แต่ ล่าสุด รฟท.ส่งมอบพื้นที่เฟสแรกช่วง สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยในช่วงต้นปี2565 เอกชนคู่สัญญาต้องเข้าตอกเสาเข็ม + ลดบทบาทหัวลำโพง

 

 

 

ปิดท้ายโครงการส่งท้ายปี 2564 นโยบาย กระทรวงคมนาคม ลดบทบาทสถานีหัวลำโพงนับตั้งแต่วันที่23ธันวาคม 2564เป็นต้นไป โดยรฟท. ต้องการอัพเกรดพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ 120ไร่ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินสะสมของรฟท.กว่า 1.9 แสนล้านบาท กลายเป็นกระแสดราม่า โดนทุกภาคส่วนและประชาชนถล่มอย่างหนัก หลังมอบบริษัทลูกของรฟท. อย่าง บริษัทเอสอาร์ที แอสเสทจำกัดจัดทำแผนแม่บท และขอปรับแก้สีผังเมืองรวมกทม. ซึ่งมองว่า ไม่ตอบโจทย์ เพราะกระทบต่อการเดินทางของประชาชนจำนวนไม่น้อย จนสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย (สหภาพรถไฟฯ) ถึงขั้นล่ารายชื่อประชาชนเพื่อคัดค้านการปิดสถานีหัวลำโพง กว่า 3หมื่น ราย ในที่สุด เสียงค้าน ทำให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของนโยบาย ต้องออกมาดับร้อน ให้หัวลำโพงเดินรถตามปกติ เพื่อดูทิศทางต่อไปในช่วงต้นปี2565

 

 

นี่คือบิ๊กโปรเจ็กต์ ร้อน ขุมทองแห่งปี ที่ต้องจับตา ห้ามกระพริบ!!!