จีนปลดล็อก 50 ล้งลำไย จี้คุมเข้ม‘เพลี้ยแป้ง’

27 ส.ค. 2564 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 17:38 น.
669

ส่งออกลำไยเชียงใหม่คลายกังวล หลังจีนปลดล็อกให้ 50 ล้งกลับมาส่งออกได้ เป็นล้งจากเชียงใหม่ 27 ราย ชี้จากนี้ต้องคัดคุณภาพเข้มข้นทุกขั้นตอนก่อนส่งออกไม่ให้มีเพลี้ยแป้งปะปน เรียกคืนความเชื่อมั่นจากจีน


ตลาดลำไยเชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย หลังทางการจีนกลับมาอนุญาตให้ผู้ค้าผลไม้ไทย ส่งลำไยเข้าประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของลำไยไทยได้อีกครั้ง นางสาวศศิธร ริ้วทอง ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาทางประเทศจีนได้ตรวจพบการปนเปื้อนเพลี้ยแป้งในลำไยส่งออก จึงขอระงับการส่งออกลำไยจากล้งที่ตรวจพบปัญหาด้านคุณภาพ
     

ต่อปัญหานี้กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ทำการเจรจากับประเทศจีน จนได้ข้อสรุปว่ากลับมาอนุญาตให้ส่งออกได้แล้วทั่วประเทศจำนวน 50 ล้ง เป็นล้งจากจังหวัดเชียงใหม่ 27 ล้ง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติมอีก 10 ล้ง

ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มงวด มาตรการคัดกรองคุณภาพของลำไย ก่อนส่งออกไปจำหน่าย โดยจะมีการสุ่มตรวจทั้งในขั้นตอนการเก็บ การอบ และก่อนการส่งออก ไม่ให้มีเพลี้ยแป้งปะปนเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศจีนกลับมาเช่นเดิม

ทั้งนี้ ผลผลิตลำไยทั่วประเทศปีนี้สภาพอากาศหนาวเย็นเอื้ออำนวย ประกอบกับมีฝนตกต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงกุมภาพันธ์ 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอช่วงออกดอกและติดผลอ่อน ทำให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านตัน คิดเป็นอัตราเพิ่มจากปีกลาย 17% เฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลำไยหลัก มีผลผลิตจำนวนกว่า 420,000 ตัน เป็นลำไยในฤดู 260,000 ตัน เพิ่มขึ้น 24%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นแต่ด้านการตลาดมีอุปสรรคจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่ทางการต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมการระบาด ลดการเดินทางของประชาชนข้ามเขตพื้นที่

ทำให้การขนส่งเพื่อระบายลำไยจากแหล่งผลิตไปสู่ตลาดนอกพื้นที่ทำได้ยากขึ้น รวมถึงขาดแคลนแรงงานเก็บลำไย ที่ต้องคัดกรองผู้มาจากพื้นที่เสี่ยงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ต่างประเทศก็เข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพสินค้า ป้องกันการปนเปื้อน

สำนักงานพาณิชย์ได้มีมาตรการรองรับผลผลิตลำไยในฤดู ทั้งโครงการสนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไย เพื่อกระจายออกนอกแหล่งผลิตจังหวัดเชียงใหม่ โดยรับสมัครผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งรัฐสนับสนุนค่าบริหารจัดการ ในการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตไม่เกิน 3 บาท/กก. เริ่มดำเนินการรับซื้อตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2564 ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการผ่านการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว 15 ราย
    

ด้านการเชื่อมโยงตลาด โดยสำนักงานพาณิชย์ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรม Online Business Matching สินค้าลำไยและลำไยแปรรูป และกิจกรรมเจรจาการค้าผ่านช่องทาง Online ระหว่างผู้นำเข้าอินโดนีเซียกับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน 
    

นอกจากนี้ได้จัดประชาสัมพันธ์เชิญชวนบริโภคลำไย ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อรณรงค์การบริโภคลำไย และช่วยซื้อลำไยจากเกษตรกรโดยตรง การเชื่อมโยง กระจายผลผลิตลำไยไปยังจังหวัดปลายทาง โดยการสนับสนุนกล่องบรรจุผลไม้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและลดภาระค่าใช้จ่ายบรรจุภัณฑ์
     

การป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ขึ้นทะเบียนแรงงานรับจ้างเก็บลำไย ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ พร้อมทั้งเข้ารับการอบรมการเก็บลำไย ให้ปลอดภัยจากโควิด และการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ชี้แจงสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผลผลิตลำไยของเชียงใหม่
     

ด้านการส่งออกลำไย แบ่งเป็นการส่งออกทั้งสดและอบแห้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 พบว่า การส่งออกลำไยแบบสด มีการส่งออกไปยังประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง อินโดนีเซีย และมาเลเซีย แล้ว 198,079 ตัน และการส่งออกลำไยแบบอบแห้ง มีการส่งไปยังประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงค์โปร์ และเกาหลี ไปแล้ว 14,069 ตัน โดยขณะนี้ราคายังอยู่ในราคาที่ทรงตัว

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,709 วันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน พ.ศ. 2564