thansettakij
แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ต้องรอบคอบ ไม่ควรรวบรัด

แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ต้องรอบคอบ ไม่ควรรวบรัด

26 มี.ค. 2568 | 07:25 น.
อัปเดตล่าสุด :26 มี.ค. 2568 | 07:34 น.

แก้กฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต. ต้องรอบคอบ ไม่ควรรวบรัด : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม 2568

ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นไทยที่ดำดิ่งและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ในจุดตํ่าสุด รัฐบาลโดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังเร่งผลักดันการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยเฉพาะอำนาจในการสอบสวนคดีอาญา และลงโทษผู้กระทำผิดในการปั่นหุ้น หรือ กระทำการไม่เป็นธรรมในตลาดหลักทรัพย์

การเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลตลาดทุน เป็นเรื่องที่จำเป็น และการให้อำนาจเพิ่มเติมแก่ ก.ล.ต. ก็มีเหตุผลที่เข้าใจได้ เพราะในปัจจุบัน ก.ล.ต. พบปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อตรวจพบความผิดแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ทันท่วงที ต้องส่งเรื่องต่อให้ตำรวจดำเนินการสอบสวน ซึ่งอาจทำให้เกิดความล่าช้า และความเสียหายต่อนักลงทุนรายย่อย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการรวบรัด ด้วยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แทนการเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติตามกระบวนการปกติ กลับเป็นประเด็นที่น่ากังวล และต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 172 ได้กำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่า การตราพระราชกำหนดให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นว่า เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ

คำถามสำคัญคือ การแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. เป็นพนักงานสอบสวนนั้น มีความฉุกเฉินเร่งด่วนถึงขนาดที่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชกำหนดหรือไม่? หรือว่า เป็นเพียงความพยายามเร่งรีบแก้ปัญหาตลาดทุน ด้วยมาตรการที่อาจส่งผลกระทบในระยะยาว?

ปัญหาตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่เติบโต ปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติ และสถาบันขายหุ้นออกอย่างต่อเนื่อง การแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. เพียงอย่างเดียว จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ในทันที

ที่สำคัญ การใช้ พ.ร.ก. เป็นเครื่องมือในการแก้ไขกฎหมายที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่เข้าเงื่อนไข ตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง พ.ร.ก. นั้น ก็จะไม่มีผลบังคับใช้มาแต่ต้น จะยิ่งสร้างความสับสนและความไม่แน่นอนในตลาดทุน

การตรากฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควรผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากรัฐสภา ตามกระบวนการปกติ เพื่อให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ไม่ควรข้ามขั้นตอนสำคัญนี้ ด้วยการออกเป็นพระราชกำหนด เว้นแต่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง

แม้การแก้ไขปัญหาตลาดทุนเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วน แต่การสร้างความเชื่อมั่นในระยะยาว จำเป็นต้องอาศัยมาตรการที่รอบด้าน ทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ การส่งเสริมการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน การปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าสมัย และการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุน

รัฐบาลควรพิจารณาแก้ไขปัญหาตลาดทุนอย่างเป็นระบบและรอบด้าน โดยคำนึงถึงเป้าหมายระยะยาวในการสร้างตลาดทุนที่เข้มแข็ง โปร่งใส และน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยมาตรการที่อาจสร้างความไม่แน่นอนในทางกฎหมาย

การแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ ก.ล.ต. เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ รัดกุม และผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตลาดทุนไทยในระยะยาว

หน้า  6  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568