น้ำท่วม ปัญหาซ้ำซากของเมียนมา 2

28 ต.ค. 2567 | 06:25 น.

น้ำท่วม ปัญหาซ้ำซากของเมียนมา 2 คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบทั้งฝั่งไทยและเมียนมา ถ้าจะพูดไปแล้ว ฝั่งไทยเรา ที่เกิดน้ำท่วมทั้งที่เชียงรายและเชียงใหม่ แม้จะรุนแรงมากๆ เราก็ยังโชคดีที่ยังมีหน่วยงานจิตอาสาจากทุกภาคส่วน ออกมาร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้แม้จะมีความเสียหายที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้ แต่หากจะเปรียบเทียบกับที่ประเทศเมียนมาแล้ว เขายังย่ำแย่กว่าเราเยอะมาก เพียงแต่ผู้สื่อข่าวต่างๆ ไม่ได้มีการรายงานผลพวงที่เกิดขึ้น ออกมาสู่สายตาของประเทศเพื่อนบ้านมากนักเท่านั้นเองครับ

โดยส่วนตัวผม ได้เห็นภาพต่างๆของการประสบภัยพิบัติของประเทศเมียนมา มาหลายครั้งหลายหนมาก ครั้งนี้ผมยังไม่กล้าที่จะนำเสนอในช่วงเวลานั้น เพราะเกรงว่าจะเกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า เอ๊ะ....ทำไมผมจึงได้พูดแต่เรื่องเมียนมาๆๆ ทั้งๆที่อำเภอแม่สาย เชียงรายหรือเชียงใหม่ก็ประสบภัยพิบัติอยู่ ดังนั้นผมจึงได้แต่ปล่อยม้าศึกออกรบ หลังศึกสงบผ่านไปแล้วนั่นเองครับ

ที่เมียนมาไม่ค่อยจะมีปีไหนที่ผมจะได้ฟังมาว่า ไม่มีน้ำท่วมหรือดินถล่มเลย ต้องพูดว่าเกือบทุกปีในช่วงเวลาสามสิบกว่าปีมานี้ เหตุผลหนึ่งที่อยากจะพูดคือ การขุดลอกคูคลอง หรือที่เป็นสันดอนในกลางแม่น้ำ ประเทศเมียนมาเขาไม่ได้ทำการขุดลอกเลย ตัวผมเองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เคยนำพาผู้ประกอบการจากประเทศไทย เดินทางไปท่องเที่ยวและดูงานที่ประเทศเมียนมา มีอยู่รายการหนึ่ง ที่จะต้องพานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เดินทางไปเที่ยวที่หมินกุน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่บนรอยต่อของรัฐสะกายกับรัฐมัณฑะเลย์ โดยต้องนั่งเรือไปตามแม่น้ำอิยะวดี พอใกล้ๆจะถึงหมู่บ้านหมินกุน ปรากฎว่าเรือสามลำที่คณะเราร่วม 60 ท่านที่นั่งไป มีอยู่ลำหนึ่งติดสันดอนของทราย ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ ลูกเรือต้องกระโดดลงเรือ ช่วยกันงัดเอาเรือออกจากสันดอน ทำกันอยู่นานกว่าจะเดินทางต่อไปได้ นี่ขนาดไม่ใช่ฤดูแล้ง ยังเป็นเช่นนี้ ถ้าฤดูแล้งคงไม่ต้องเอากันเลย แต่ทุกปีแม่น้ำอิยะวดีนี้ สองข้างตลิ่งจะเกิดน้ำท่วมทุกปีครับ

ดังที่กล่าวมานี้ ถ้าหากเป็นประเทศไทยเรา ผมเชื่อว่ากลุ่มพ่อค้าวัสดุก่อสร้างได้เห็นแม่น้ำที่มีทราย ที่เหมาะสำหรับใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการฉาบผนัง หรือกลุ่มธุรกิจกระจก ถ้าเป็นทรายที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ (ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่มีความรู้ว่าสามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้หรือไม่?) เชื่อว่าคงขออนุญาตขุดทรายกันไปแล้วอย่างแน่นอน คงไม่ปล่อยให้สายน้ำต้องมาตื้นเขินอย่างแน่นอนครับ

ในส่วนของปลายทางของแม่น้ำ ไม่ว่าเป็นแม่น้ำอิยะวดี หรือแม่น้ำสาละวิน ทั้งสองสายหลักของประเทศ อย่างที่กล่าวไปแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่กว้างใหญ่มากๆ ยิ่งแม่น้ำอิยะวดีที่ตอนปลาย ก่อนจะไหลออกทะเลบางส่วน กว้างขนาดมองเห็นฝั่งตรงข้ามอยู่ลิบๆเลยครับ อีกทั้งยังมีจำนวนของแม่น้ำสายย่อยๆที่ไหลออก เยอะมาก ในส่วนของแม่น้ำสาละวินก็เช่นเดียวกัน ที่เล่าไปว่าทางออกสู่ทะเลมีถึงสองสายน้ำ ปลายปากน้ำก็กว้างใหญ่มาก เรียกว่าไม่เป็นปัญหาที่น้ำจะไหลสู่ทะเล แต่ก็มีน้ำท่วมตามชายขอบริมแม่น้ำตลอดสายเช่นกัน ส่วนว่าน้ำจะลึกขนาดไหนนั้น ผมก็ไม่ทราบได้ เพราะได้แต่มองยังไม่เคยกระโดดลงไปวัดความลึก เพราะถ้าขืนกระโดดลงไปวัด ป่านนี้คงได้ไปเฝ้าพระอินทร์ไม่ได้มานั่งเขียนบทความแล้วละครับ

เมื่อเป็นเช่นนี้ แน่นอนว่าปัญหาย่อมเกิดที่ช่วงกลางของลำแม่น้ำ ที่มีความตื้นเขินตลอดสาย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีสาเหตุมาจากความที่รัฐบาลไม่มีการจัดสรรงบประมาณลงไปในการขุดลอกแม่น้ำมานาน เพราะคงจะเกินกำลังของรัฐบาลจริงๆครับ อีกอย่างคือความไม่สงบที่อยู่ตามเขตป่าเขา ทำให้การเข้าถึงความเจริญยาก อีกทั้งกองกำลังต่างๆที่อยู่ในเขตอิทธิพลของเขา คงไม่อนุญาตให้ฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับเขา เข้าไปสู่พื้นที่ได้ง่ายๆ ดังนั้นการที่จะขนย้ายเครื่องจักรกลเข้าไปขุดลอกแม่น้ำ น่าจะปิดประตูตายเลยครับยังมีปัญหาการแบ่งปันผลประโยชน์ของกลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่มีการยึดครองพื้นที่อยู่ ผมก็คิดเอาเองนะครับว่า คงไม่ง่ายที่จะปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไป ด้วยการเอาเครื่องจักรกลหนักเข้าไปยุ้มย่ามเลยครับ ดังนั้นการขุดลอกแม่น้ำน่าจะไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆเลยครับ

ถ้าหากการขุดลอกแม่น้ำทำไม่ได้ ก็หมายถึงการระบายน้ำไม่ให้ท่วมซ้ำซากย่อมทำไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องใช้วิธีการซับน้ำให้อยู่ในช่วงฤดูฝน เพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งที่ทำได้ก็มีอยู่หลายวิธี เช่นการสร้างฝายกั้นน้ำ ที่ประเทศไทยเราในช่วงของหลายสิบปีก่อน ถ้าผมความจำยังไม่เลอะเลือน จำได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านก็เคยดำริให้ใช้วิธีนี้อยู่เช่นกัน ซึ่งก็ช่วยชาวบ้านแถบริมแม่น้ำสี่สายของเรา ได้รอดพ้นภัยพิบัตินี้มาก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นวิธีที่ใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เกิดปรโยชน์สูงสุด

หรืออีกวิธีหนึ่ง คือการเร่งปลูกป่า แต่ผมคิดว่าวันนี้ป่าไม้ของเมียนมา ยังอุดมสมบูรณ์กว่าที่เมืองไทยเรามากอยู่แล้ว จะมีแต่เพียงบางส่วนในบริเวณที่มีการสู้รบกันอยู่ ที่ป่าไม้ได้ถูกทำลายไปเยอะพอสมควร แต่ก็คงยากเช่นกันครับ

ที่พูดมาทั้งหมด คงเป็นการพูดแบบคนที่รู้ไม่จริง แล้วชอบไปยุ่งกับเรื่องของชาวบ้าน(ประเทศอื่น)เขา เอาเป็นว่าเรานำมาพูดมาเล่า เพื่อให้สะท้อนถึงประเทศไทยเรา ในส่วนของตอนบนของประเทศก็แล้วกันนะครับ ต้องบอกว่าทุกคนมีภารที่จะต้องช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อความอยู่รอดของพวกเราและลูกหลานในอนาคตต่อไปครับ!!!