เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและเศรษฐกิจ

28 ก.ย. 2567 | 06:30 น.

เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความอยู่รอดของชีวิตและเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4031  

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยเองก็หนีไม่พ้นจากความท้าทายนี้เช่นกัน 

รัฐบาล ภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” เน้นยํ้าความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเสาหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผ่านนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy)

โดยจะอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลส์บนหลังคาและผืนนํ้า พลังงานนํ้า และพลังงานทางเลือกอื่นๆ 

รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี และคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคง ด้านพลังงานรูปแบบใหม่ สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

สะท้อนถึงการเตรียมพร้อมของประเทศ ในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ก้าวทันนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งไทยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 

อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายระยะยาวนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการในระยะสั้นก่อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญ ภายในปี 2030 

ล่าสุดปี 2024 ประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสร็จสมบูรณ์แล้ว และแผนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติจาก สศช. แล้ว จะถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในขั้นสุดท้าย เมื่อแผนได้รับการอนุมัติ จะสามารถดำเนินการในทุกภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย และ การเกษตร

ขณะที่การประชุม COP29 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนของประเทศไทย 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยํ้าถึงความจำเป็นที่่ประเทศไทยจะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจว่า เพื่อความอยู่รอดทางชีวิต และเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะตามหลังประเทศอื่นๆ และแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้ินต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมาคนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 44 ฉบับที่ 4,031 วันที่ 29 ก.ย. - 2 ต.ค. พ.ศ. 2567