EA ไม้ล้มข้ามได้...คนล้มอย่าข้าม!

17 ก.ค. 2567 | 16:16 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2567 | 16:28 น.
1.4 k

EA ไม้ล้มข้ามได้...คนล้มอย่าข้าม! : คอลัมน์เมาธ์ทุกเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** “ผมขอยืนยันว่า EA ไม่เหมือน STARK และไม่ใช่ STARK แน่นอน เพราะเรามีทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่เหมาะสม ธุรกิจโรงไฟฟ้ามีกำไรต่อเมกะวัตต์เติบโตดีกว่าคู่แข่งรายอื่นเสมอมา” นี่คือคำพูดส่งท้ายของ “สมโภชน์ อาหุนัย” ก่อนที่จะส่งผ่านหน้าที่และความรับผิดชอบในฐานะของผู้บริหารของ EA ไปให้กับทีมผู้บริหารที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่...

เจ๊เมาธ์จะพาไปรู้จักทั้ง “สมโภชน์ อาหุนัย” และ EA ว่าทำไม EA ถึงไม่เหมือน STRAK ด้วยกัน...

“สมโภชน์ อาหุนัย” จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วศ.69) เริ่มต้นเป็นมนุษย์เงินเดือนตำแหน่งเซลส์ใน บมจ. ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) ก่อนที่จะไปจบปริญญาโท MBA จาก University of Pittsburgh ประเทศสหรัฐอเมริกา

เริ่มงานในสถาบันการเงินเอกชนที่ ดับบลิว.ไอ.คารร์, ยูบีเอส, บงล.บุคคลัภย์ ในสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ ไปจนถึงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสถาบันต่างประเทศที่บริษัทหลักทรัพย์นวธนกิจ จำกัด และเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบทบาทของนักการเงินในบริษัทสุดท้ายขอสมโภชน์

 

เมื่อออกมาจากหยวนต้า สมโภชน์ ได้ก่อตั้ง บริษัท ซันเทคปาล์มออยล์ จำกัด ขี้นด้วยทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ในปี 2549 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ EA และ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปี 2556

โดยบริษัทเป็นโรงงานผลิตน้ำมันไบโอดีเซล และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 8 MW ที่จังหวัดลพบุรี ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ค่าไฟพิเศษ (ADDER) ในช่วง 10 ปีแรก ของการดำเนินงานจากอายุสัมปทาน 25 ปี ในราคาเงิน 8 บาทต่อหน่วย 

และภายหลังเข้าตลาดฯ  EA ได้เพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 MW ที่ นครสวรรค์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 MW ที่จังหวัดลำปาง เข้ามาในปี 2556 และ 2558 
รวมไปถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 MW ที่จังหวัดพิษณุโลก ในปี 2559 จนสามารถย้ายเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2560 

ปัจจุบัน EA มีธุรกิจโรงผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือ กำลังการผลิตรวม 664 MW แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 278 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมอีก 386 MW 

โดยแบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “หาดกังหัน” จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึง จังหวัดสงขลา จำนวน 3 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 126 MW และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “หนุมาน” จังหวัดชัยภูมิ อีก 5 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตรวม 260 MW

อย่าลืมว่า ราคาค่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานแสง และพลังงานลม เมื่อ 10 ปี ก่อน มีมูลค่าสูงกว่าปัจจุบันถึง 10 เท่า และต้นทุนที่ว่านี้ ยังจะต้องนับรวมไปถึงค่าเบี้ยบ้ายรายทาง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้

...ต้นทุนที่ว่ามีทั้งค่าอนุมัติโครงการ และค่าตรวจสอบโครงการ ค่าเลี้ยงรับรองต่างๆ ไปจนถึงค่านำเข้าวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง 
เหล่านี้ถือได้ว่า เป็นจุดอ่อนของการพัฒนาประเทศของไทย แต่หากใครไม่ทำตาม ก็อย่าหวังว่าจะได้งาน ดังนั้น...การที่ สมโภชน์ และ EA ผ่านจุดนี้มาได้จึงถือได้ว่าไม่ธรรมดา

ขณะเดียวกัน รายได้ในระยะยาวของธุรกิจโรงไฟฟ้า ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัญหา เนื่องจากรายได้ที่มาจากการขายไฟฟ้า ซึ่งขายได้ตามอายุสัมปทานที่มีราว 25 ปี และรายได้ที่มาจากค่าไฟพิเศษ (ADDER) ซึ่งมีอายุสัญญาราว 10 ปี จำเป็นที่จะต้องแยกออกจากกัน 

ดังนั้น เมื่อค่าไฟพิเศษบางส่วนเริ่มหมดอายุลง EA ภายใต้การนำของ “สมโภชน์” จึงต้องมองหารายได้จากธุรกิจอื่น เพื่อทดแทนรายได้ส่วนที่ขาด จนเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการโรงงานผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โครงการสถานีประจุไฟฟ้า (Charging Station) โครงการเรือไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา

โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อการพานิชย์ทั้งรถบรรทุกและรถเมล์ไฟฟ้า และโครงการสัมปทานการเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ ผ่านทางบริษัทย่อยทั้ง NEX และ BYD ซึ่งนั่นจึงทำให้สินทรัพย์ที่ EA มีอยู่ในปัจจุบันมีมูลค่ารวมอยู่ถึง 1.13 แสนล้านบาท

ดังนั้นหากจะถามว่า EA และ STARK ต่างกันอย่างไร ???

คำตอบก็คือ EA มีทั้งสินทรัพย์ รายได้ และ กำไรที่จับต้องได้ ในขณะที่ทาง STARK มีแต่ลูกหนี้การค้า และสินค้าคงเหลือที่มีแต่ตัวเลขทางบัญชีแต่ไม่มีตัวตนซึ่งเป็นรูปแบบของการตกแต่งตัวเลขขึ้นมาเป็นการเฉพาะนั่นเอง 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของ EA ที่ถูกทาง กลต. ส่งหนังสือฉบับเดียวออกมากล่าวโทษนั้น ยังต้องรอการสืบข้อมูลในชั้นของ ป.ป.ช. รวมไปจนถึงต้องรอการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ที่ชั้นศาลในอนาคต ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ผู้บริหารของ EA ยังเป็นแค่เพียงผู้ถูกกล่าวหา ...แต่ไม่ใช่ผู้ต้องหา ต่างไปจากรณีของ STARK ที่มีทั้งการสืบทรัพย์ อายัดทรัพย์ และส่งฟ้องศาลจนผู้บริหารได้กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้วนั่นเอง

โบราณว่า “ไม้ล้มข้ามได้...คนล้มอย่าข้าม” โดยในกรณีของ EA เรื่องของราคาหุ้นที่ปรับลงมาหนักๆ ก็เป็นปัญหาเกมการเงิน ที่แทบจะไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานทางธุรกิจ 

ขณะที่การแจ้งข้อกล่าวหาของ กลต. ก็ยังจะต้องรอการพิสูจน์ว่าเป็นจริงหรือไม่อีกหลายขั้นตอน เพียงแต่เรื่องราวทั้งหมดดูประจวบเหมาะเข้ามาในช่วงเวลาเดียวกัน จนเจ๊เมาธ์มองว่า เรื่องแบบนี้ดูเหมือน “ฉากละคร” ที่ถูกกำหนดเอาไว้ว่า จะต้องเกิดอะไรขึ้น 1-2 และ 3 ประมาณว่า มีใครอยากยึดเอาบริษัท หรือ ธุรกิจของ EA อะไรแบบนี้ 

ดังนั้น เมื่อมีโจทย์ที่ชัดเจน จึงเป็นไปได้ว่า วิธีในการแก้ปัญหาของ EA ก็อาจถูกได้กำหนดเอาไว้แล้วว่า จะต้องทำอย่างไร เจ๊เมาธ์บอกเลยว่าของแบบนี้มันไม่แน่อะไรก็เกิดขึ้นได้!!!