ครม.เศรษฐกิจฟูลทีม ผลงานต้องดีกว่าเก่า

01 พ.ค. 2567 | 13:37 น.
อัปเดตล่าสุด :01 พ.ค. 2567 | 15:37 น.

ครม.เศรษฐกิจฟูลทีมผลงานต้องดีกว่าเก่า : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 2988

การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ของนายเศรษฐา  ทวีสิน สู่รัฐบาล “เศรษฐา 2” หรือ รัฐบาลเศรษฐา 1/1 สุดแล้วแต่ใครจะเรียกแบบไหน แน่นอนว่านำมาซึ่งความสมหวังของรัฐมนตรีใหม่ และความผิดหวังของรัฐมนตรีเก่าที่ถูกปรับออก

การปรับ ครม.ครั้งนี้มีแรงกระเพื่อม เกิดประเด็นดราม่า และกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาของผู้เห็นต่างมากมาย อย่างไรก็ดีการปรับครั้งนี้ สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่หน้าตาของ ครม.จะดูดีขึ้น หรือ แบ่งโควตารัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลลงตัว 

แต่สาระสำคัญอยู่ที่ได้คนที่ตรงปก หรือได้คนที่ตรงกับงานในแต่ละกระทรวง รวมถึงจะสามารถขับเคลื่อนแผนงาน/ นโยบายของรัฐบาลที่ต้องเร่งสานต่อสู่เป้าหมายในกำหนดเวลาที่วางไว้หรือไม่

ทั้งนี้ ดูตามรายชื่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่แล้ว ภาคเอกชน และประชาชนตั้งความหวังไว้สูงที่จะมาช่วยกอบกู้และกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชน โดยจะมี นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง ที่ถือเป็นมืออาชีพจากภาคเอกชนมาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พ่วง 3 รัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ทั้ง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล และ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ที่ถือว่ามีความฟูลทีมมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์ ได้ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีต รมว.แรงงาน มาเสริมทัพในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ 

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเจ้ากระทรวง ได้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร จากพรรคเดียวกัน (พลังประชารัฐ) มาช่วยกำกับดูแลการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ หลังนายปานปรีย์ พหิทรานุกร ลาออก ปรากฏชื่อ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ อดีตที่ปรึกษา รมว.การต่างประเทศ (ปานปรีย์ พหิทธานุกร) และอดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ จะมาสานงานต่อ ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจอื่น ๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ยังเป็นรัฐมนตรีคนเดิม
 
จากรายชื่อทีมเศรษฐกิจข้างต้น ถือว่าสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน ทั้งไทย และเทศ รวมถึงคู่ค้าได้ ไม่ขี้เหร่ ท่ามกลางหลายงานเร่งด่วนที่รอรัฐบาลเศรษฐา 2 มาเร่งแก้ไขปัญหา และผลักดัน ทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ให้กระจายลงสู่ทุกภาคส่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในอีก 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ
 
การขับเคลื่อนการส่งออกที่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ตัวเลขยังติดลบ 0.2%, การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่มีสวนทุเรียน มังคุด และพืชอื่น ๆ ยืนต้นตาย ท่ามกลางความหวังการส่งออกผลไม้ไทย จะช่วยพลิกสถานการณ์ตัวเลขส่งออกให้กลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสที่ 2

การแก้ไขปัญหาสินค้าราคาแพง เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด พืชผักต่าง ๆ ที่มีราคาสูงขึ้นมากในช่วงหน้าร้อน, การกำกับดูแลราคานํ้ามัน ค่าไฟฟ้าไม่ให้สูงขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน 

และที่เป็นความหวังของประชาชนคนหาเช้ากินคํ่า คือ การขับเคลื่อนดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท สู่มือประชาชนให้ได้ตามที่ได้รับปากไว้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

ตัวอย่างเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนและภาคธุรกิจข้างต้น หากครม.ใหม่สามารถผลักดันแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ความเชื่อมั่น คะแนนเสียง และเสถียรภาพรัฐบาลจะเป็นผลพลอยได้ตามมาอย่างแน่นอน