วาระสุดท้ายของ “สินมั่นคงประกันภัย” และความไม่เที่ยงของโลก

20 ธ.ค. 2566 | 05:10 น.
7.9 k

วาระสุดท้ายของ “สินมั่นคงประกันภัย” และความไม่เที่ยงของโลก คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** หลังจากที่ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK กลับเข้ามาซื้อขายชั่วคราวจากวันที่ 10 เมษายน ถึง วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 หลังถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เนื่องจากเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน กรณีส่วนผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ เนื่องจากบริษัทมีผลขาดทุน ในปี 2565 จำนวน 31,996.93 ล้านบาท เพราะไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนประกันโควิดแบบ “เจอ จ่าย จบ” 
 
ล่าสุดศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากกลุ่มเจ้าหนี้ไม่โหวตให้ผ่านแผนฟื้นฟูฯ ทำให้ SMK จึงจะต้องเดินแผนงานที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นผู้กำหนดด้วยการหาเงินเข้ามาเติม ...ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มทุนจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม หรือ การหานักลงทุนรายใหม่เติมเงินเข้ามาเพื่อซื้อหุ้นหรือซื้อกิจการ 
 
ปัญหา คือ จะมีนักลงทุนรายไหนกล้าเติมเงิน...เพราะมูลหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท อาจมากจนน่าจะดูแล้วไม่คุ้ม 

ท้ายที่สุด...หากไม่มีใครเพิ่มทุน สิ่งที่ทาง คปภ. จะต้องทำก็คือ ต้องทำการ “เพิกถอนใบอนุญาต” (ปิดกิจการ) ของ SMK แบบที่เคยทำกับ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 บมจ.เดอะวันประกันภัย บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ซึ่งหาก SMK ถูกสั่งปิด ค่าสินไหมที่คงค้างก็จะถูกโอนไปยังกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ทั้งที่ขณะนี้ กปว. มีเงินกองทุนเหลืออยู่เพียงพันกว่าล้านบาทเท่านั้นเอง ในขณะที่ กปว. ก็ต้องดูแลค่าสินไหมค้างจ่ายอยู่แล้วราว 5 หมื่นล้านบาท  
 
คำถามก็คือ ...หากเพิ่มหนี้ในส่วนของ SMK เข้าไปจะทำให้ กปว. มีค่าสินไหมค้างจ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นล้านบาท แล้ว กปว.จะไปหาเงินจากที่ไหนมาจ่ายให้ผู้เอาประกัน หรือ ถ้าหากในอนาคตหาเงินมาได้ จะใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะจ่ายได้ครบ
 
ขณะเดียวกัน เรื่องบริษัทประกันเจ๊งที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่นนี้ ก็ควรจะถูกถอดเป็นบทเรียนให้ทั้ง คปภ. และ กปว. ในเรื่องของการบริหารจัดการสมาชิกของตน รวมไปถึงเป็นบทเรียนกลุ่มนักลงทุนที่ยังติดหุ้นของ SMK เพราะเข้าไปเก็งกำไรในช่วงที่ได้กลับเข้ามาซื้อขายชั่วคราว แล้วไม่ยอมบอกว่าไม่ควรที่จะทำอะไรเกินตัว เพราะเรื่อง SMK เจ๊เมาธ์เตือนมานานแล้วนะคะ...เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้เจ้าค่ะ

*** ราคาหุ้นของ TRUE ปรับลงมาอย่างต่อเนื่อง และหากเทียบกับจุดสูงสุดที่ราคาหุ้น 9.00 บาท ที่เคยทำเอาไว้นับตั้งแต่ควบรวมกับ DTAC ก็จะเห็นได้ว่าปรับลงมาแล้วมากกว่า 40% 
ขณะเดียวกัน ก็ยังเป็นการปรับลงในขณะที่มีเสียงร้องเรียนที่ดังขึ้น ...ดังขึ้น ว่านับตั้งแต่ที่ TRUE ควบรวมเข้ากับ DTAC ดูเหมือนบริการที่เคยบอกว่าจะดีขึ้นกลับแย่ลงไป โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ องค์กรที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภค หลังการควบรวมธุรกิจ พบว่ามี 5 ปัญหาใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก 

โดยประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือปรับแพกเก็จตามอำเภอใจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า จนถึงขั้นมีข้อเสนอแนะจากผู้บริโภค ฝากไปถึง คณะกรรมการ กสทช. เพื่อขอให้พิจารณามติควบรวม TRUE-DTAC เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริง ถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรม
 
เจ๊เมาธ์เข้าใจและรับรู้ว่า สิ่งที่ได้ผ่านไปแล้ว เช่น การควบรวม TRUE-DTAC อาจเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้วและแก้ไขได้ยาก แต่เจ๊เมาธ์ก็เชื่อว่า หากไม่มีการรับฟัง และไม่แก้ไข ผลเสียที่มีก็จะเกิดกับทั้งรัฐบาล กสทช. บริษัท TRUE วนไปถึงผู้ถือหุ้นของ TRUE ผ่านทางราคาหุ้นในท้ายที่สุด ซึ่งหากถึงวันที่ผู้บริโภคไปกดดันภาครัฐ และภาครัฐก็ส่งแรงกดดันกลับไปที่บริษัท TRUE ให้ลดนั่นปรับนี่ เพื่อเอาใจมวลชน เรื่องที่ควรจะจบ ก็คงจะจบไม่ได้ง่ายๆ 

เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำได้ หรือ แก้ได้ก็รีบทำ...อย่าปล่อยให้เกิดปัญหา อย่าลืมว่าตอนนี้บริษัทคู่แข่งใหญ่และมีกำลังภายในมากกว่าที่คิดแล้วเจ้าค่ะ
 
*** ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วว่า หุ้นนางงามอย่าง MGI จะสามารถดันราคาหุ้นขึ้นมาต่อเนื่องได้ถึงขนาดนี้ ส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะรายชื่อของผู้ถือหุ้นใหญ่ ล้วนแล้วแต่เป็นบิ๊กเนมที่รู้กันอยู่แล้วว่าไม่ธรรมดา 

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่เป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่กับโลกบันเทิง ก็ไม่ยากนัก ในการจุดกระแสจนทำให้ราคาหุ้นของ MGI วิ่งแรงต่อเนื่อง ไปจนติดลมบน ซึ่งหากจะมองว่า เป็นเรื่องดีที่ MGI สามารถทำให้กระแสหุ้นไอพีโอ ที่เคยซบเซากลับมาน่าสนใจได้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาหุ้นวิ่งแรงเกินพื้นฐาน ก็อาจกลายเป็นดาบสองคมที่จะกลับมาทำร้ายทั้ง MGI และตลาดหุ้นไอพีโอได้ในอนาคตเช่นกัน นาทีนี้บอกเลยว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้ามีกำไรก็เก็บเป็นเงินสดเอาไว้บ้างน่าจะอุ่นใจที่สุดเจ้าค่ะ

***  อ้อ....มีข่าวว่า “เติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์” อดีตนักลงทุนในตลาดหุ้นใหญ่สุดของประเทศ ในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งเคยซื้อหุ้นจนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ ...ธนาคารดังในอดีต ถูกศาลฎีกาพิพากษา จำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญาจากความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นปัจจุบันและอนาคต ก็หวลให้คิดถึงอดีต ที่เคยทำๆ ไว้ก็จะกลับมาไล่ล่าเอา เจ๊ฝากเตือนไปยังหลายคน กระบวนการยุติธรรมใม่เลือกฐานะ ตำแหน่ง นะเจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,950 วันที่ 21 - 23 ธันวาคม พ.ศ. 2566