"สินมั่นคง"เปิดไทม์ไลน์"ฟื้นฟูกิจการ"คาดใช้เวลา1 ปี ก่อนลุยตามแผน ก.ค.66

06 มิ.ย. 2565 | 14:09 น.
อัปเดตล่าสุด :06 มิ.ย. 2565 | 21:19 น.
7.3 k

สินมั่นคงประกันภัย( SMK) เร่งเสนอแนวทางชำระหนี้ สรุป 3 แนวทางฟื้นฟูกิจการ ไทม์ไลน์คาดใช้เวลา 1 ปี ก่อนดำเนินตามแผนเริ่ม ก.ค. 66 ย้ำยังคุ้มครองสิทธิประกันภัยประเภทอื่นตามปกติ เผยหุ้น SMK แม้ถูกขึ้นเครื่องหมาย C และ NP ยังซื้อขายได้ด้วยบัญชี Cash Balance

บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า  ตามที่ตลท.ได้ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565  อันเนื่องจากการที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565

 

และกรณีที่ต่อมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพิ่มเหตุการณ์ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เนื่องมาจากการที่บริษัทได้เปิดเผยข้อมูลงบการเงินไตรมาสที่ 1/2565 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ซึ่งปรากฎข้อมูลว่า บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนที่ชำระแล้ว โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทมีมูลค่าประมาณ -27,225 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ -13,612.5 ของทุนที่ชำระแล้ว นั้น

 

ความคืบหน้าในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของบริษัท

 

  • เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง
  • ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565
  • ศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ในวันที่ 15 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น.


 


สรุปการขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์ของบริษัท

 

  • เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C กรณีศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทในวันที่ 18 พฤษภาคม 2565
  • ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย SP 1 วัน เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาสที่ 1/2565
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 หลักทรัพย์ของบริษัทถูกเปลี่ยนจาก SP เป็นเครื่องหมาย NP จนกว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จะมีคำสั่งให้แก้ไขหรือไม่แก้ไขงบการเงินของบริษัท นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เพิ่มเหตุการณ์ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้ว ตามงบการเงินไตรมาสที่ 1/2565
  • ปัจจุบันหลักทรัพย์ของบริษัทถูกขึ้นเครื่องหมาย C และ NP ซึ่งนักลงทุนยังสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทได้ด้วยบัญชี Cash Balance

 

ผู้ทำแผนที่เสนอในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

 

บริษัทได้เสนอให้ บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน โดยอำนาจหน้าที่และสิทธิของผู้ทำแผนตามกฎหมายฟื้นฟูกิจการซึ่งจะตกแก่ผู้ทำแผนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน มีดังนี้

 

  • 1.อำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท
  • 2. บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทสินมั่นคง (ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล)
  • 3. อำนาจในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท

 

\"สินมั่นคง\"เปิดไทม์ไลน์\"ฟื้นฟูกิจการ\"คาดใช้เวลา1 ปี ก่อนลุยตามแผน ก.ค.66

ด้วยความพร้อมทั้งความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการบริหารจัดการธุรกิจ บริษัทจึงเชื่อว่าการที่เสนอตนเองเป็นผู้ทำแผนเหมาะสมต่อสถานการณ์มากที่สุด เพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและเหมาะสม โดยวิเคราะห์จากปัจจัย ข้อมูลและประสบการณ์ที่รอบด้าน เพื่อคงไว้ซึ่งมูลค่าทางธุรกิจ รักษาฐานลูกค้าและคุณภาพการให้บริการอันเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาและการกลับมาดำเนินธุรกิจในอนาคต

 

เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่มีจำนวนสูงเกินความสามารถของบริษัท ที่จะชำระได้ทั้งหมด กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้บริษัท ได้เจรจาหาแนวทางการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับเจ้าหนี้สินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

 

ในขณะที่บริษัท ยังสามารถดำเนินธุรกิจและให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยกรณีกรมธรรม์ปกติอื่นๆ ต่อไปได้ กระบวนการฟื้นฟูกิจการจึงเป็นแนวทางออกที่จะทำให้บริษัท แก้ปัญหาสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ที่สูงเกินความสามารถที่จะชำระหนี้ และบริษัทจะสามารถกลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติต่อไปในอนาคต เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

 

โดยเบื้องต้น ทางบริษัทจะเร่งแผนเสนอแนวทางการชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ ซึ่งจากการศึกษาในเบื้องต้น เป็นไปได้หลายแนวทางดังนี้ โดยแนวทางในการชำระหนี้จะได้มีการหารือร่วมกับเจ้าหนี้ในระหว่างการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

 

  • 1. การหาแหล่งเงินทุนใหม่ และปรับโครงสร้างทุน โดยการเพิ่มทุนจากผู้ร่วมทุนใหม่ เพื่อนำมาใช้ในการชำระหนี้ และ/หรือ เพื่อปรับโครงสร้างทุนให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
  • 2. การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ การชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน
  • 3. ศึกษาและจัดเตรียมแผนและกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจประกันภัยให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ

 

  • 1.ความร่วมมือจากเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับแนวทางการชำระหนี้ร่วมกัน
  • 2.ความสามารถในการจัดหาแหล่งเงินทุน และมูลค่าของกิจการของบริษัท
  • 3. กฎหมาย และระเบียบต่างๆ ตลอดจนคำสั่งหรือความเห็นของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง
  • 4. การสนับสนุนและความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง
  • 5. ความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัย ตัวแทน นายหน้า คู่ค้าต่างๆ ต่อภาพลักษณ์ของบริษัท                            
  • 6. แนวโน้มอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในอนาคต                      
  • 7. สภาพเศรษฐกิจโดยรวม 

 

บริษัทมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล เพื่อให้บริษัทยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่อง และปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสม และเป็นธรรมซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน

 

บริษัทขอยืนยันว่าบริษัท มีเจตนาที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 โดยการฟื้นฟูกิจการจะเปิดโอกาสให้บริษัท และผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้เจรจาร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ที่เหมาะสม และเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จะได้รับการชำระหนี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่บริษัท ต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน 

 

ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา(COVID-19) จะได้รับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้มีการยอมรับร่วมกัน ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVD-19) ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะมีโอกาสได้พิจารณา และลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

 

สำหรับผู้เอาประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล เป็นต้น บริษัทขอให้ความมั่นใจว่าบริษัท จะยังคงให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และรักษาคุณภาพ ความสะดวกรวดเร็ว ในการให้บริการ