กดราคาหุ้นไทยกับปัญหาที่ ตลท.-ก.ล.ต. ยังปิดตาประชาชน

29 พ.ย. 2566 | 04:56 น.
768

กดราคาหุ้นไทยกับปัญหาที่ ตลท.-ก.ล.ต. ยังปิดตาประชาชน คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

***  เน็กเก็ตชอร์ต (Naked Short) หรือ การขายหุ้น โดยไม่มีหุ้นในพอร์ต กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ตลาดหลักทรัพย์ไม่สามารถแก้ไขได้ ปล่อยให้สถาบันต่างชาติ, โบรกเกอร์ต่างชาติ หรือ โบรกเกอร์ที่มีลูกค้าต่างชาติ ซื้อขายผ่านการทำเน็กเก็ตชอร์ต โดยใช้จุดอ่อนของคัสโตเดียน ที่ลูกค้า หรือ โบรกเกอร์ต่างชาติฝากหุ้นไว้ ไม่ได้อยู่ในไทย ไม่สามารถตรวจสอบได้ หรือตรวจสอบได้ช้า ว่ามีหุ้นอยู่ในคัสโตเดียนจริงหรือไม่ หรือตลาดหลักทรัพย์ ไม่กล้าแตะ เพราะความเกรงใจ หรือ เกรงกลัวต่างชาติไม่เทรดหุ้นไทย สร้างความไม่ทัดเทียมระหว่างนักลงทุนไทยกับต่างชาติ 
 
ตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะหน่วยงานกำกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ น่าจะรู้อยู่เต็มอก ว่า มีการทำเน็กเก็ตชอร์ต ของนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในรูปกองทุน สถาบัน หรือ ตัวบุคคล และยิ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไม่มีเน็กเก็ตชอร์ต ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา การปรับ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ยุคภัทธีรา รุ่งดิลกภพ เป็นซีอีโอ และ นายกสมาคม บล., ปรับ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ยุคมนตรี ศรไพศาล เป็นซีอีโอ ล้วนเป็นผลจากการปล่อยให้ลูกค้าทำเน็กเก็ตชอร์ต  
 
ล่าสุด การประชุมร่วมระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และสมาคมโบรกเกอร์ วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา โบรกเกอร์ต่างชาติรายหนึ่ง ว่ากันว่าเป็น CLSA ให้ข้อมูลว่า พบปัญหาจากคัสโตเดียน สรุปข้อมูลขายหุ้นของลูกค้า น้อยกว่าที่ขายจริง โดยไม่รู้ว่า เป็นการทำเน็กเก็ตชอร์ต ...โค..รต ตลก หรือ ตลาดเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ที่บอกว่า ไม่มีเน็ตเก็ตชอร์ต คงไม่ใช่ แต่ถ้าบอกว่า ตลาดหรือ ก.ล.ต. ไม่แก้ไข ไม่ทำอะไรกับปัญหานี้ น่าจะถูกต้องกว่า 

หากตลาด และ ก.ล.ต. ยัง บ..ลา บ..ลาๆ ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน แก้ปัญหาไม่ตรงจุด แถลงข่าวไปวันๆ คงไม่เกิดประโยชน์กับนักลงทุนและตลาดหุ้น ที่เฉาลงๆ ทุกวัน นักลงทุนไทย หลายราย กลับหลังหันให้ตลาดหุ้น หุ้นไม่ใช่แหล่งระดมทุนที่ดีอีกต่อไป เพราะตลาดหุ้น มุ่งตรวจจับ เข้มงวด เฉพาะหุ้นที่วิ่งขาขวิด แต่ละเลยการตรวจจับหุ้นขาลง อย่างน้อย “ภากร” เอ็มดีตลาดหลักทรัพย์ ก็ต้องฟังข้อเสนอโบรกเกอร์ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการทำเน็กเก็ตชอร์ต ก่อนตลาดพัง หรือทำก่อนหมดวาระ เพื่อให้การลงจากเก้าอี้เอ็มดีตลาด สง่างาม ทิ้งผลงานอันน่าประทับใจไว้กับนักลงทุน
 
การปล่อยให้ AI และ โรบอท ซึ่งเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยของการซื้อขาย ต่อท่อตรงด้วยระบบ HFT (High Frequency Trading) กับระบบซื้อขายของตลาด ซึ่งการเทรดปกติ ไม่สามารถส่งคำสั่งซื้อขายทัน AI หรือ โรบอท ซึ่งหลายโบรกเกอร์ หรือนักลงทุนรายใหญ่ นิยมทำกัน สิ่งที่รายย่อยทำได้คือ การไม่นั่งเฝ้ากระดาน ทำนองการเก็งกำไรรายวัน แต่ต้องเปลี่ยนเป็นการลงทุนระยะกลาง-ยาว มากขึ้น แต่เหมือนว่าทุกวันนี้ ตลาดปล่อยให้โรบอท หรือ AI ทุบหุ้น-ไล่หุ้น กินรายย่อย
 

*** หุ้นของ AOT ยังถูกขายออกมาต่อเนื่อง ซึ่งจนถึงสัปดาห์นี้ราคาหุ้นปรับลงไปเกือบ 15% โดยหากคิดเป็นมูลค่าทางการตลาด (Market Cap) ก็จะหายไปราว 1.14 แสนล้านบาท หรือ ถ้าจะนับเอาเฉพาะในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ย. ซึ่งราคาหุ้นปรับลงไป 3.75 บาท พบว่ามูลค่าทางการตลาดของ AOT หายไปในวันเดียวถึง 5.3 หมื่นล้านบาท 

แต่จุดที่น่าสนใจกลับตกไปอยู่ที่ตัวเลขของการใช้โปรแกรมอัตโนมัติในการซื้อขาย (Robot Trade) เพียงวันเดียวของ AOT ซึ่งมีมูลค่าถึง 4.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 40% จากมูลค่าซื้อขายรวม 11,666 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อของตลาดหุ้นไทย ซึ่งวันนั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 40,407 ล้านบาท ก็มีสัดส่วนที่สูงถึง 11% เลยทีเดียว
 
ว่าแต่เกิดอะไรขึ้น...ทำไมหุ้นตัวเก่ง ที่แม้แต่การระบาดของเชื้อโควิดยังทำอะไรไม่ได้ และทำไมหุ้นแกร่งขนาดนี้ ถึงต้องมาถูกขายทิ้งแบบเทสาดเทเสียเช่นนี้
 
อย่างแรกคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อทาง ตลท. พยายามชี้แจง...พูดจนปากเปียกปากแฉะว่าไม่มีการทำ Short Sell หรือ Naked Short ก็ต้องเชื่อตามว่าไม่มี เอาเป็นว่าที่ลือกันไปจึงเป็นเพียงเรื่องที่ “เม่า” จินตนาการไปเองทั้งนั้น “เพราะถ้ายังจับไม่ได้...ก็จะมาบอกว่ามีไม่ได้” เนื่องจากจะเป็น “คำสารภาพ” ที่กลับมาผูกมัดตัวเองว่า ในเมื่อรู้ว่ามีแล้วทำไม ไม่ทำอะไร ดังนั้น เรื่องของการใช้ Robot Trade จึงเป็นการพูดได้แค่ว่าเป็นเรื่องการจับสัญญาณของระบบอัตโนมัติที่ “รู้ล่วงหน้า” มาว่าหุ้น AOT กำลังจะร่วง จึงรีบชิงจังหวะเทขายออกมาได้ก่อน ซึ่งเจ๊เมาธ์แอบได้ยินมีคนพูดว่า ถ้ารายย่อยไม่อยากเสียเปรียบ Robot ก็ไปซื้อโปรแกรมมาเทรดซะก็สิ้นเรื่อง
 
เรื่องที่สองเป็นประเด็นที่ AOT ได้มีการยืดเวลาในการเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าพื้นที่ออกไปอีก 6 เดือน รวมถึงขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบินอีก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของ AOT หลายอย่าง ทั้งที่ได้ผ่านพ้นช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดไปแล้ว ซึ่งกรณีนี้แม้จะไม่มีผลในทางตัวเลข แต่ก็กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากรู้อยู่แล้วว่าผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นใคร ก็ขาใหญ่เดิมๆ นั่นแหล่ะ  นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ AOT มีกำไรดีเกินคาด จนเกิดอาการ Sell on Fact ตามมาด้วยอีกเรื่องหนึ่ง
 
ก็เอาเป็นว่าหากมองในมุมของการทำ Short Sell ก็ต้องบอกว่า นี่คือการจับจังหวะที่หุ้นอย่าง AOT เกิดมีช่องว่างให้ทุบได้อย่างพอดี แต่ถ้าหากมองในมุมของผู้คุมกฎคุมตลาด ก็ต้องบอกว่าไม่มี นี่เป็นเรื่องของกลไกทางการตลาดเท่านั้นเอง เรื่องมันก็เป็นเช่นนี้เองเจ้าค่ะ (ฮา)

*** ราคาหุ้นของ JKN ที่เคยร่วงลงไปเกือบ 5 ฟลอร์ จนแตะจุดต่ำสุดที่ราคา 0.22 บาท ล่าสุดก็ได้กลับมาแรงได้อีกครั้ง เพียงแต่การมาในครั้งนี้เป็นเรื่องของ JKN เป็นการเล่นเก็งกำไร โดยที่ไม่มีเรื่องของปัจจัยพื้นฐานอย่างที่ควรจะเป็น ดังนั้น เจ๊เมาธ์จึงคิดว่าควรที่จะต้องนำเอาข้อสังเกต ซึ่งเป็นความเสี่ยงล่าสุดของหุ้นตัวนี้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง 
 
อย่างแรกเป็นเรื่องของที่ ตลท. ได้แจ้งให้ JNK ชี้แจงข้อมูลงบการเงิน 3/66 เพิ่มเติม เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินของบริษัท เนื่องจากมีความไม่แน่นอนที่มีสาระสำคัญต่อความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่อง และอาจส่งผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ และ หนี้สิน ที่มีสาระสำคัญ ได้แก่ 
 
1. การประเมินการด้อยค่าสินทรัพย์เงินลงทุนในบริษัทย่อย เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์รายการ และค่าความนิยม รวม 10,789 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างดำเนินการประเมิน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งหลายอย่างดูเหมือนจะเกินมูลค่าไปมาก ยกตัวอย่าง เช่น ตราสินค้าของ Miss Universe ซึ่งถูกตีมูลค่าเอาไว้เกือบ 1,400 ล้านบาท ทั้งที่ในตอนซื้อมาก็ใช้เงินเพียงไม่กี่ร้อยล้านบาท และประเมินมูลค่าลิขสิทธิ์รายการต่างๆ เอาไว้สูงถึง 6,278 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 4,813 ล้านบาท 
 
2. การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะชำระหุ้นกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยได้ตามที่ปรากฏ 
 
3. การผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ ส่งผลให้ถือเป็นเหตุผิดนัดหนี้อื่นๆ รวม 4,558 ล้านบาท โดยบริษัทยังไม่ตั้งประมาณการความเสียหายและดอกเบี้ยผิดนัดชำระ นั่นจึงทำให้ไม่รู้เลยว่าบริษัทจะต้องจ่ายหนี้อีกเท่าไหร่กันแน่
 
อีกอย่างก็เป็นเรื่องของการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยมี JKN ขอที่เป็นผู้บริหารแผนด้วยตัวเอง แต่เนื่องจากมีเจ้าหนี้หลายรายได้ยื่นคัดค้าน จึงอาจกลายเป็นเหตุที่ทำให้ศาลล้มละลายกลางไม่อนุมัติตามคำขอของ JKN ซึ่งหากเป็นอย่างที่ว่า...กรณีร้ายแรงที่สุดก็อาจทำให้ถูกทวงหนี้และอาจถูกบังคับขายสินทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ก็เป็นได้
 
ดังนั้น เจ๊เมาธ์ จึงมองว่า การที่ราคาหุ้นของ JKN ปรับขึ้นมาในรอบนี้อาจเป็นเพียงสวรรค์ของนักลงทุนบางกลุ่ม ที่กำลังสนุกอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับใครสักคน กำลังเล่นรอบเพื่อถอนทุนคืน หลังจากที่มูลค่าหุ้นปรับลดลง เพียงแต่ความสนุกนี้กลุ่มเจ้าหนี้ทั้งเงินกู้ และเจ้าหนี้หุ้นกู้กลับไม่สนุกด้วยเพราะ “น้ำตาตกใน” เนื่องจากถึงนาทีนี้ ไม่ว่าจะมองจากมุมใด..งานนี้ JKN หาเงินมาจ่ายหนี้ได้ลำบากแน่นอน  
 
*** ราคาหุ้นกลุ่มลีสซิ่งอย่าง MTC TIDLOR และ SAWAD ยังไม่ไปไหน แม้ข่าวดอกเบี้ยขาขึ้นมีแนวโน้มจะจบลง แต่หากมองลงไปที่ความสามารถในการทำกำไรของหุ้นลีสซิ่งใหญ่ ทั้งสามรายกลับพบว่า มีแนวโน้มที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง  โดยในส่วนของ MTC ปัญหาหลายอย่างจะถูกแก้ไขไปได้บ้างแล้ว นักวิเคราะห์ มองว่าแนวโน้มการทำกำไรในปี 2566-68 จะเพิ่มขึ้น 3-4% 

ขณะที่ในฝั่งของ TIDLOR ซึ่งในไตรมาส 3/66 สามารถทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจประกันภัย ซึ่งนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีแม้จะไม่ดีที่สุด แต่ภาพรวมทั้งปีก็ถือว่าดีมากอยู่ดี ท้ายที่สุดเป็น SAWAD ซึ่งแม้ปีนี้อาจจะยังไม่โดดเด่น แต่สถานการณ์ที่เริ่มดีขึ้นจากเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อและเพิ่มเงินดาวน์สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ก็ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงน้อยลง ดังนั้นเจ๊เมาธ์จึงมองว่าภาพรวมของหุ้นกลุ่มลีสซิ่งยังสามารถไปต่อได้ แม้ว่าอาจจะช้าและต้องรอการพิสูจน์ตัวเองอยู่ก็ตาม 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 43 ฉบับที่ 3,944 วันที่ 30 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2566