เงินดิจิทัล: ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่

02 พ.ย. 2566 | 09:09 น.

กว่าสองเดือนของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ หัวข้อการแจกเงิน 10,000 บาทดูเหมือนเป็นศูนย์กลางการถกเถียงในทุกเวทีสนทนา และทางวุฒิสภา โดย กมธ. เศรษฐกิจฯ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ และกรรมการวิชาการ จัดวงเสวนาเรื่องนานาทัศนะของการใช้มาตรการแจกเงินดิจิทัล

โดยเชิญผู้ที่เห็นด้วยและเห็นต่างมานั่งคุยกัน เพื่อหาหนทางทั้งในแง่มุมมองของเศรษฐศาสตร์และทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งก็ได้มือหนัก ๆ มาถกกัน อาทิ

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ และ พิชัย ชุณหวชิร รวมทั้ง ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กูรูทางด้านดิจิทัล ซึ่งผลก็เป็นดังคาดครับ ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ยังคงเห็นด้วย และรัฐต้องเดินต่อไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา

ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ยังเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของนโยบาย รวมถึงความเสี่ยงทางด้านการคลังในอนาคต ซึ่งหลังจากที่ประชุม ประเด็นต่างๆ ได้ถูกนำไปขยายต่อในสื่อสาขาต่างๆ ซึ่งก็ทำให้ดูน่าตื่นเต้น หรือบางรายก็มองว่า “ไม่น่ารอด” จนคนเชียร์มาตรการนี้รู้สึกว้าวุ่น 

ในฐานะที่เป็นโต้โผการจัดงานครั้งนี้ ผมขอสรุปสาระสำคัญเป็นข้อๆ เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้เป็นข้อมูล
ในการถกเถียงกันต่อในเวทีอื่น

  • ทั้งสองฝ่าย เห็นถึงความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพียงแต่ว่าฝ่ายหนึ่งมองว่ากระตุ้นทางด้านการบริโภคนั้น มีประสิทธิภาพน้อยกว่าการกระตุ้นทางด้านการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านปัจจัยการผลิต เช่น การสร้างแหล่งน้ำ การพัฒนาศักยภาพด้านทุนมนุษย์ หรือเรื่องสาธารณูปโภคต่าง ๆ แต่อีกฝ่ายก็มองว่า การกระตุ้นทางด้านการลงทุนทำได้ยากและใช้เวลานานกว่าการกระตุ้นทางด้านการบริโภค เพราะวัตถุประสงค์ ของการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ก็คือการกระตุ้นระยะสั้น 
  • ทั้งสองฝ่ายเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า App ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ก็สามารถที่จะใช้ในการดำเนินการนโยบายนี้ได้โดยไม่ต้องออก App ใหม่ให้ยุ่งยาก หากต้องการฟังก์ชั่นอื่นเพิ่มเติม อาทิ จำกัดการใช้เงินในพื้นที่เฉพาะ หรือระยะเวลาในการใช้ ก็สามารถเพิ่มเติมได้ไม่ยุ่งยาก และที่สำคัญคนในสังคมเคยชินต่อ App ที่มีอยู่และใช้กันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีในการนำ App หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ โดยเฉพาะ Blockchain นั้นยังมีความเสี่ยงในการนำมาใช้ในระดับคนจำนวนมาก
  • การใช้เงินดิจิทัลนั้น อาจจะมีประโยชน์ตรงที่สามารถติดตามได้ว่าเงินแต่ละเหรียญนั้น มีการหมุนไปกี่รอบและตอนนี้ไปอยู่ที่ใคร ซึ่งช่วยให้สามารถคำนวณการหมุนของรอบของเงินได้ แต่จะมีข้อจำกัดอยู่ค่อนข้างมากในทางปฏิบัติ ทั้งในประเด็นทางกฎหมายเรื่องการนิยามของคำว่าเงินดิจิทัล ความยุ่งยากในการใช้ดูเหมือนทุกฝ่ายจะมองว่าการแจกเงินแบบธรรมดาที่ทำอยู่ ผ่าน Application เดิมคือ “เป๋าตังค์” น่าจะมีประสิทธิภาพต่อการใช้ที่สะดวกซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ของรัฐบาลได้ดีกว่าและไม่ยุ่งยากในทางปฏิบัติ
  • ในแง่กฎหมาย เรื่องแหล่งที่มาของเงินยังคงเป็นปัญหาและคิดไม่ตกของรัฐบาล เพราะพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น ได้ส่งรายละเอียดของการดำเนินมาตรการนี้ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงหาเสียงนั้น ว่าเงินที่จะใช้ในมาตรการนี้จะมาจากระบบงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดที่รัฐบาลหนักใจ เพราะถ้าจะแจกทีเดียว 5.6 แสนล้าน หลีกไม่ได้ที่จะต้องกู้เพิ่ม ซึ่งตอนนี้ร่างงบประมาณปี 2567 ก็กู้ไปกว่า 7 แสนล้านแล้ว ถ้าจะเอาก้อนนี้มาเพิ่ม อาจทำเงินกู้เลยไปถึงล้านล้านบาท หนี้สาธารณะคงบวมขึ้น และเศรษฐกิจปีหน้าดูไม่ค่อยสดใส ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ไม่สูงมากและอาจต่ำกว่าอัตราการเพิ่มของหนี้รัฐทำให้สัดส่วนหนี้รัฐเกินเพดานที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ใน พรบ. วินัยการเงินการคลังได้ แต่ดูเหมือนว่าที่รัฐบาลหนักใจสุด ๆ ก็คือเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ก็เพราะตนเองได้แจ้งให้ กกต. ไปก่อนหน้าแล้วว่าจะเอามาจากไหน ซึ่งเป็นไปตาม พรบ. พรรคการเมือง  
  • การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการก่อสร้างของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นล่าช้า โดยเห็นได้จากในช่วงของโควิดนั้น งบประมาณของเงินกู้ที่ต่อสู้กับโควิดนั้น ถูกโยกจากโครงการลงทุน ไปสู่โครงการแบบแจกเงิน เพื่อกระตุ้นการบริโภคของประชาชน แสดงว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุทำได้ยาก ซึ่งก็มีผู้ชี้แจงว่าที่ผ่านมา โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินกู้ ตาม พรก. เงินกู้โควิดนั้น โครงการที่เป็นโครงการก่อสร้างที่ถูกปฏิเสธหรือถูกคืนงบประมาณก็เพราะว่าหน่วยงานต่าง ๆ ที่ยื่นเสนอโครงการ กว่าร้อยละ 80 เป็นโครงการเก่าๆ ซึ่งถูกสำนักงบประมาณตีตกมาแล้วในงบประมาณปกติ และที่สำคัญเงื่อนไขของการใช้เงินตามพระราชกำหนดเงินกู้โควิดนั้นค่อนข้างเข้มงวดทำให้หน่วยราชการไม่ค่อยอยากจะทำโครงการมากนัก เลยทำให้งบเหลือและถูกโยกเข้ามาสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคแทน 
  • เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ในการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ในมาตรการนี้ รัฐบาลอาจจะเลื่อนการแจกเงินออกไปก่อนก็ได้ เพื่อให้มีความพร้อม ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของกฎหมาย และแหล่งที่มาของเงิน ที่ตอนนี้ตามเงื่อนไขกฎหมายนั้นต้องมาจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งรัฐอาจต้องรอเวลาให้เหมาะสมกับกรอบเวลาของงบประมาณที่อาจต้องใช้งบประมาณสองปีหรือมากกว่านี้ก็ได้ เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่มาก อาจทำให้มาตรการนี้ล่าช้าออกไป จนอาจจะถึงงบประมาณในปีหน้าก็ได้ ซึ่งก็หมายถึงประมาณต้นเดือนตุลาคมปีหน้า

การเสวนาครั้งนี้ เป็นการแสดงความคิดเห็น ของผู้เข้าร่วมเสวนา ไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นขององค์กรหรือสถาบันของผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้ ก็อย่าไปโยงอะไรกันมากมาย ซึ่งสำหรับตัวผมเองแล้ว รัฐบาลดูเหมือนมีทางออกน้อย เพราะได้แจ้งกับ กกต. ไว้แล้วว่าตัวเงินที่จะใช้นั้นจะมาจาก 4 แหล่ง

แต่ทั้งหมดนั้นจะผ่านระบบงบประมาณรายจ่ายอยู่ดี และนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงเรื่องนี้ในรัฐสภาแล้วเช่นกัน ผมว่าช่วงนี้หยุดให้ข่าวและโต้กลับฝ่ายไม่เห็นด้วย ใช้เวลาไปหาทางแคะประเด็นในทางกฎหมายเรื่องแหล่งเงินให้ดี ๆ ครับ เพราะแม้ว่าหาแหล่งเงินได้แล้ว แต่ถ้าที่มาไม่ตรงกับที่แจ้งกับ กกต. ก็โดนหาเรื่องอยู่ดีครับ ตอนนี้เข้าใจว่ากำลังหาทางออกอยู่ แต่ผมเชื่อว่าอย่างไรก็แจกอยู่ดี แจกแน่ ๆ แต่จะแบบไหนก็ต้องรอดูว่าลำไม้ไผ่ พอเหลาแล้วจะเป็นอะไร