SAV ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรียนรู้

27 ก.ย. 2566 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2566 | 06:40 น.
1.1 k

SAV ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรียนรู้ คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

*** การเข้ามาของ บมจ.สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ หรือ SAV ส่งผลให้ตลาดหุ้นไอพีโอ ซึ่งเริ่มจะกลับมาดีในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีอันที่จะต้องกลับมาเสียทรง จนส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาระแวงหุ้นไอพีโอกันอีกครั้ง เพียงแต่ถ้าจะบอกว่าเป็นความผิดของ SAV ทั้งหมดเลย ก็คงจะไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นตัวไหนก็คงจะเอาตัวรอดได้ลำบากไม่ต่างกัน เพียงจะหนักหน่อยก็ตรงที่ปัญหาของ SAV ก็คือการที่หุ้นตัวนี้เปิดตลาดที่ราคาต่ำจอง (ราคาจอง 19.00 บาท/หุ้น) ก่อนที่ราคาหุ้นจะวิ่งวนอยู่ต่ำกว่าราคาจองซื้อไปทั้งวันนั่นเอง
 
ที่นี้เรามาว่ากันถึงสาเหตุที่ทำให้ การทำราคาหุ้นตัวนี้ไม่ประสบความสำเร็จตั้งแต่นาทีแรกที่เข้าตลาดกันบ้าง

อย่างแรก น่าจะเป็นเรื่องของกลยุทธ์การตั้งราคาขายซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของ SAV และที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งเริ่มต้นมาจากหุ้นไอพีโอที่เสนอขายจำนวน 166 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 0.50 บาท ที่ค่าพีอี 46.66 เท่า ซึ่งหากไม่คิดอะไรมากก็อาจจะมองได้ว่า ราคาที่ว่านี้ไม่แพง...แต่หากเอาราคาและค่าพีอีนี้ไปเทียบกับหุ้นไอพีโอ ที่ประสบความสำเร็จหลายตัวก่อนหน้า ก็จะพบว่ากลยุทธ์ในการตั้งราคาจองซื้อครั้งนี้ นี่อาจสูงไปหน่อยจริงๆ
 
อย่างที่สอง คือ ตัวธุรกิจของบริษัทฯ ที่ในปัจจุบันครอบคลุมในสนามบิน และเส้นทางการบินทั้งหมดของประเทศกัมพูชา ประกอบด้วยสนามบินนานาชาติ 3 แห่ง และ สนามบินในกัมพูชาอีก 3 แห่ง ซึ่งอาจทำให้มองได้ว่า ธุรกิจวิทยุการบินของ SAV ได้ก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงที่สุด จนอาจดีกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว 

ขณะเดียวกันวัตถุประสงค์หลักในการระดมทุนในครั้งนี้ ก็เป็นไปเพื่อการใช้หนี้สถาบันการเงิน โดยที่แทบจะมองไม่เห็นความต้องการในการขยายธุรกิจแต่อย่างใดเลย ทำให้เป็นไปได้ว่า ภายหลังการระดมทุน SAV ก็อาจจะยังไม่มีแผนขยายธุรกิจไปอีกพักใหญ่ด้วยเช่นกัน
 
เรื่องที่สาม เป็นประเด็นของการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ เนื่องจากเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่เข้าตลาดมาก่อนหน้า ก็น่าจะปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลของ SAV ดูเหมือนจะอ่อนและน้อยเกินไป ซึ่งคำว่า น้อยที่ว่านี้ ครอบคลุมไปทั้งในเรื่องของธุรกิจ เรื่องของรายละเอียดการระดมทุนน้อย จนถึงขนาดที่ชื่อของผู้บริหารบริษัทเองยังแทบจะไม่มีใครเห็นหน้า หรือ อาจจะถึงขั้นที่ไม่มีใครรู้จักเลยด้วยซ้ำ 
 
อย่างที่สี่ เป็นเรื่องกระแสซุบซิบในโลกออนไลน์ ที่พูดถึงเรื่องการเข้าตลาดเพื่อ “ออกของ” หรือ เพื่อการแปลงสภาพสินทรัพย์เป็นเงิน ซึ่งหากมองไปที่เรื่องของการตั้งราคาขาย ที่อาจมองได้ว่าสูงอยู่ไม่น้อย และมองไปถึงวัตถุประสงค์ในการระดมทุนประกอบกัน ก็อาจปฏิเสธได้ยากว่าทั้งสองอย่างมีส่วนที่ทำให้กระแสซุบซิบในโลกออนไลน์ที่ว่านี้ ดูสมจริงมากขึ้นตามไปด้วย 

เพียงแต่หากมองในอีกมุมก็เป็นได้ว่า นี่อาจจะเป็นกลยุทธ์ในการทำราคาหุ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องถูกตั้งคำถามมากเกินไป หรือ อาจเลยไปจนถึงขั้นที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ หรือ เพื่อเปิดช่องให้มีใครสักคนเข้ามาในราคาที่ถูกกว่าราคาจองเป็นได้ 
 
เรื่องแบบนี้จะจริงหรือไม่คงไม่มีใครรู้ได้ เพราะเป็นแค่กระแสซุบซิบบนโลกออนไลน์เท่านั้น 
 
อย่างไรก็ตาม ที่เจ๊เมาธ์ว่ามาก็เป็นเพียงการแยกแยะสาเหตุ ซึ่งทำให้ราคาหุ้นไม่สามารถก้าวข้ามราคาจองซื้อ ในลักษณะของงานทางวิชาการ ส่วนในอนาคตราคาของ SAV จะสามารถดีดกลับไปอยู่ใจฝั่งที่เป็นบวกได้เมื่อไหร่นั่น ก็คงจะเป็นอีกเรื่องที่จะต้องรอดูกันต่อไป 

เอาเป็นว่า ถ้าหุ้นไอพีโอตัวไหนไม่อยากก้าวไปในทิศทางเดียวกัน ก็เพียงแค่อย่าเดินซ้ำรอยก็เท่านั้นเอง เพราะประวัติศาสตร์มีไว้ให้เรียนรู้ไม่อยากเป็นเหมือนกัน...ก็อย่าทำเหมือนกัน เรื่องมันก็มีเท่านี้เอง เอวัง...ก็มีด้วยประการฉะนี้ 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,926 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2566