เศรษฐศาสตร์กับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

10 พ.ค. 2566 | 12:01 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2566 | 12:02 น.
701

เศรษฐศาสตร์กับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.ธันยพร จันทร์กระจ่าง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,886 หน้า 5 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม 2566

เมื่อถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ก็มีนโยบายมากมายจากพรรคการเมืองว่าจะทำอะไรบ้างให้เราพิจารณากัน แต่ในความเป็นจริง เรามักประสบปัญหาข้อมูล ที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า asymmetric information จากการที่

(1) ก่อนที่เขาจะทำหน้าที่ เราไม่รู้จริงว่าคนคนนั้นเป็นอย่างไร มีความสามารถที่แท้จริงแค่ไหน (adverse selection) เขาจึงอาจใช้คำโฆษณาว่าวิเศษเกินจริงมาหลอกได้ และ

 

(2) เมื่อเขาได้เข้าไปทำหน้าที่แล้ว เราก็กลับไม่มีกลไกที่สมบูรณ์ที่จะบังคับควบคุมให้เขาทำหน้าที่ให้เราอย่างเต็มกำลังหรือตามที่ได้หาเสียงไว้ (moral hazard) ดังเช่นตัวอย่างจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด ซึ่งเราพบว่า นโยบายที่หาเสียงกับความสามารถและการทำจริงหลังเลือกตั้งนั้น สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ถึงแม้ว่าปัญหา asymmetric information เป็นปัญหาที่อยู่คู่โลกใบนี้ แต่เราทุกคนก็สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาได้ ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านมองไปข้างหน้า ด้วยการวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่มีอยู่จริง โดยย้อนดูการกระทำที่ผ่านมาแล้วในทางเศรษฐกิจ เพื่อประกอบการตัดสินใจกันค่ะ 

 

1. การแก้ปัญหาเมื่อประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจในระยะสั้น

แม้วิกฤตเศรษฐกิจเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น แต่ก็ส่งผลต่อความเดือดร้อนของคนโดยตรง ยิ่งในยามที่ประเทศมีงบประมาณจำกัด เราต้องการผู้ฉลาดในการดำเนินนโยบาย โปร่งใสในการใช้ทุกเม็ดเงิน และไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่ออนาคตข้างหน้า

รัฐบาล: รัฐมนตรีคลังได้รับรางวัล รัฐมนตรีคลังโลกแห่งปี 2023 จากนิตยสารในเครือ Financial Times ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของการให้รางวัล ก็คือ จากการที่ประเทศไทยประสบความสำเร็จ ในการใช้นโยบายการคลังในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด โดยก่อนอื่นต้องเยียวยา

- มีการเยียวยาอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปที่ กลุ่มมีรายได้น้อยและเปราะบางในการสูญเสียงาน เรียกว่าไม่แก้ไขแบบหว่านแห ซึ่งง่ายแต่สิ้นเปลืองงบ หากรัฐบาลมีความละเอียดในการออกแบบและดำเนินงาน โดยเฉพาะการเยียวยาผ่านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและระบบการชำระเงินออนไลน์ ทำให้เข้าถึงได้ง่ายและถึงเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น ในช่วงที่ค่าครองชีพขึ้นสูงหลังจากโควิดคลี่ คลาย ก็มีการเยียวยาแบบเจาะกลุ่ม เช่น สนับสนุนค่านํ้ามันแก่ผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

 

 

เศรษฐศาสตร์กับช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

 

ต่อมาต้องกระตุ้น - มีนวัตกรรม นโยบายกระตุ้นการบริโภค ที่ฉลาดในการใช้งบประมาณรัฐและสร้างแรงจูงใจให้กับครัวเรือน ซึ่งปกติในภาวะวิกฤตอาจมีการใช้จ่ายน้อย เช่น นโยบายคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งรัฐออกให้ส่วนหนึ่งและผู้บริโภคสมทบอีกส่วนหนึ่ง

ทำให้ทุกบาทของการใช้จ่ายจากรัฐก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการบริโภคครัวเรือนทันทีโดยตรง อย่างน้อยเท่าตัว ก่อนจะทวีเพิ่มไป เป็นรายได้และการบริโภคของผู้ประกอบการต่อไปอีกเป็นทอดๆ นโยบายประสบความสำเร็จมาก จนประเทศอังกฤษ มีการนำไปใช้ และปัจจุบันประเทศ ไทยมีการเจริญเติบโตที่เป็นบวก สวนทางกับประเทศอีก 1 ใน 3 ที่ IMF คาดว่าจะมีเศรษฐกิจติดลบ

พรรคหนึ่ง: เคยใช้นโยบายรถคันแรกซึ่งขอเงินภาษีคืนจากภาครัฐได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับพบว่า นโยบายนี้ส่งผลลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ร่วมโครงการ ทั้งต่อการซื้อรถและสินเชื่ออื่น (Muthitacharoen et al., 2019)

เมื่อครัวเรือนขาดสภาพคล่อง ส่งผลให้การบริโภคครัวเรือนและอุปสงค์โดยรวมลดลง มีส่วนทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (technical recession) ในปีต่อมา

บางพรรค: แม้ไม่เคยมีโอกาสเป็นผู้ดำเนินนโยบาย แต่มีโครงการรับบริจาคเงินเพื่อช่วยผู้ประสบความเดือดร้อน จากโควิดผ่านคณะกลุ่มการเมืองคู่ขนาน แต่กลับพบการดำเนินการที่ส่อว่าไม่โปร่งใส ในการบริหารจัดการงบบริจาคหลายอย่าง เช่น พบชื่อผู้ได้รับความช่วยเหลือที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์ บางรายไม่มีเลขบัญชีแต่ก็ได้รับเงิน ฯลฯ 

2. การเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 

จากทฤษฎีและหลักฐานเชิงประจักษ์ พบว่า เศรษฐกิจจะเติบโตได้ก็เนื่องจากการเพิ่มผลิตภาพ (productivity) เช่น แรงงานหนึ่งคนในหนึ่งวันสามารถผลิตสินค้ามากขึ้นหรือที่มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยกระบวนการต่างๆ

เช่น เพิ่มทุนทางกายภาพ ทุนมนุษย์ และสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุนทางกายภาพนั้น ยังรวมไปถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่ภาครัฐสามารถมีบทบาทได้โดยตรง

รัฐบาล: เช่น มีการสร้างถนนเพิ่มกว่า 3 เท่าในเวลา 8 ปี สร้างมอเตอร์เวย์ 3 ทางหลัก สร้างรถไฟทางคู่ ซึ่งย่นเวลาการเดินทาง และก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทย-จีน ที่ประเทศไทยลงทุนเองทำให้ไม่เสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินรอบๆ ทางรถไฟให้แก่ประเทศอื่น ที่สำคัญมีการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัล

โดยในปี 2564 ความเร็วเฉลี่ยอินเตอร์เน็ตบ้านของไทย ที่ 308 ล้านบิทต่อวินาที ถือว่าแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก นอกจากโครงข่ายดิจิทัลจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมซื้อขายสินค้าในภาคเอกชนแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังโครงการต่างๆ ข้างต้น

งานวิจัยมากมายบ่งชี้ว่า เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง ทำให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่ม และการลงทุนทางกายภาพของผู้ผลิต นอกจากจะเพิ่มผลิตภาพแล้ว ยังเพิ่มการจ้างงาน และทั้งคู่ยังนำไปสู่ค่าแรงที่สูงขึ้นตามกลไกธรรมชาติของตลาดอีกด้วย

รัฐบาล: ดึงการลงทุนจากต่างชาติ เช่น เพื่อสร้างฐานผลิตรถยนต์ EV (360,000 ล้านบาท) จากซาอุดิอาระเบีย (600,000 ล้านบาท) ในปี 2565 มีการลงทุนจากต่างชาติสูงถึง 128,744 ล้านบาท อีกทั้งในปี 2563 ประเทศไทยยังได้ถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ของประเทศที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นธุรกิจ การลงทุนจากต่างชาติ ยังจะช่วยให้เกิดถ่ายทอดกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับแรงงานและทุนในประเทศ

พรรคหนึ่ง: เคยเสนอโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งน่าจะสร้างประโยชน์ได้มาก แต่กลับมีแผนงบประมาณที่สูงลิ่วจนน่าสงสัย และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมฯ 2 ล้านล้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และยังมีคดีที่ ป.ป.ช.ส่งฟ้องว่ามีการทุจริตจัดอีเวนต์รถไฟความเร็วสูง สูญเงิน 240 ล้านอีกด้วย 

3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

รัฐบาล: มีการนำเศรษฐกิจแบบ BCG ที่ใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น

(1) การสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ประกอบการด้าน BCG รายใหม่ เช่น ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพ

(2) ให้แรงจูงใจทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีแก่ผู้เชี่ยวชาญทำงานด้าน BCG (3) สร้างตลาด เช่น ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ขยายตลาดไปสู่กลุ่มอาเซียน เช่น ตลาดยาชีววัตถุ

บางพรรค: ผู้ที่ใกล้ชิดและมีอิทธิพลต่อพรรคมีคดีบุกรุกที่ป่าสงวน ทำลายโอกาสและประโยชน์ของป่าต่อสิ่งแวดล้อมส่วนรวม และนำมาเป็นสมบัติตน

4. การลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาสและรายได้

นอกจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนโดยเฉลี่ยแล้ว นโยบายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ยังช่วยสร้างโอกาสและรายได้ให้แก่กลุ่มที่อาจเข้าถึงประโยชน์จากการเติบโตในภาพรวมได้น้อยกว่าอีกด้วย

รัฐบาล: มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอุดหนุนเงินรายเดือนแก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งใช้ซื้อของได้แค่จากร้านสะดวกซื้อเล็กๆ ที่ไม่ใช้ทุนใหญ่ ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย มีสวัสดิการรายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุและแม่เด็ก มีการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยใหม่ที่ถูกสุขลักษณะและคิดค่าเช่าราคาถูก 

 

5. สุดท้าย เรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ เราย่อมต้องการคนที่ทำงานให้กับประเทศและประชาชนที่ซื่อตรง สุจริตไว้ใจได้ 

ในทางเศรษฐศาสตร์ การทุจริตนอกจากจะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรชาติ โดยนำทรัพยากรส่วนรวมเข้าสู่กระเป๋าส่วนตัวแล้ว ยังทำให้การจัดสรรทรัพยากรไม่มีประสิทธิภาพอีกด้วย นึกง่ายๆ ว่าเงินที่ประเทศเสียไปกับโครงการจำนำข้าวที่ทุจริต จนทำให้เราต้องใช้หนี้หลายแสนล้านบาทนั้น สามารถเอาไปทำอะไรอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ซึ่งเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้อีกมากมาย

บางพรรค: มีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในสังกัดพรรคนี้และพรรคก่อนหน้าที่ถูกยุบไป ถูกศาลตัดสินว่าต้องคดีทุจริตจากการปฏิบัติหน้าที่ถึงอย่างน้อย 10 คน เช่น จากคดีทุจริตซื้อปุ๋ยอินทรีย์, คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ บริษัทชินคอร์ปฯ, คดีโครงการรับจำนำข้าว ฯลฯ  

อีกพรรค: หัวหน้าพรรคในอดีตได้ใช้เส้นสายเพื่อใช้ทรัพย์สินของรัฐในการเดินทาง และแอบอ้างว่าเป็นข้าราชการการเมืองโดยไม่มีหลักฐานการแต่งตั้ง

พรรคหนึ่ง: หัวหน้าพรรคคือมือปราบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว 

รัฐบาล: มีการใช้ระบบดิจิทัลในการโอนเงินสวัสดิการต่างๆ เข้าสู่ประชาชนแต่ละคนโดยตรง ทำให้โปร่งใส ปราศจากการทุจริตจากการสูญหายของเม็ดเงินไประหว่างทาง และภายใต้รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดแปดปีที่ผ่านมา ไม่มีรัฐมนตรีต้องข้อหาคดีทุจริตจากการปฎิบัติหน้าที่แม้แต่คนเดียว