“เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนไป”

26 ก.พ. 2566 | 08:56 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มี.ค. 2566 | 06:43 น.
549

“เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนไป” : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย..รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับ 3865 หน้า 6

 ในรอบสองสามปีที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับความไม่แน่นอนที่หลากหลายและรับมือยากขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วเพื่อสกัดเงินเฟ้อแต่ประเทศต่างๆ ก็สามารถก้าวผ่านมาได้ แม้จะลำบากยากเย็นก็ตาม
 

แต่เรื่องที่น่าจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์หรือชุดความคิดของการบริหารไปแบบ 180 องศา คงเป็นเรื่องที่ “ยุคทองของสหรัฐอเมริกา” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว พูดง่ายๆ อีกแบบก็คือ ความเป็นมหาอำนาจเดี่ยวของประเทศสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้าสู่ความเสื่อมถอยเสียแล้ว การชี้นำทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับโดยลุงแซมสำหรับประเทศอธิปไตยต่างๆ สิ้นมนต์ขลัง ไม่เหมือนดั่งที่เคยเป็นมาในอดีต 

ทว่านี่ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะวันนี้ ภูมิศาสตร์ การเมือง หรือ ภูมิรัฐศาสตร์ของโลก กลับถูกแทนที่ด้วยการแข่งขันทางอำนาจของประเทศต่างๆ ที่ก้าวขึ้นมาท้าทายผู้ดำรงตำแหน่งเดิมอย่างอเมริกา ความเป็นชาตินิยมของประเทศต่างๆ และการเปลี่ยนผ่านทางสังคมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 

การเกิดขึ้นของปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นอย่างน้อยที่สุดว่า โลกที่ครอบครองโดยสหรัฐอเมริกา เดินถึงทางตัน หรือ ถนนทุกสายไม่ได้มุ่งสู่วอชิงตันอีกต่อไป

ผลลัพธ์ที่คาดการณ์ได้เห็นจะหนีไม่พ้นการสิ้นสุดของเงื่อนไขอันเป็นเอกลักษณ์ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโต และการพัฒนาทางเศรษฐกิจของโลกตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา แต่จะเห็นการเริ่มต้นเงื่อนไขใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกันที่มีความซับซ้อนและท้าทาย ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่แตกต่าง รวมถึงความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ สำหรับการขับเคลื่อนพัฒนาการทางเศรษฐกิจนับจากนี้เป็นต้นไป

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศทั่วโลกต่างก็ยอมรับบทบาทการนำของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้มีอิทธิพลเพียงคนเดียวบนโลก และยินดี (แต่อาจจะไม่เต็มใจ) ที่ปรับเงื่อนไขภายในประเทศตนเองให้สอด คล้องกับรสนิยมของสหรัฐอเมริกา มากบ้างน้อยบ้างตามแต่อำนาจต่อรองของแต่ละประเทศ 

รสนิยมดังกล่าว ได้แก่ เศรษฐกิจแบบตลาด การค้าเสรี การเมืองแบบประชาธิปไตย และรูปแบบเทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม และรสนิยมเหล่านี้ บีบบังคับให้ประเทศน้อยใหญ่ต่างต้องสละผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองของชาติ เพื่อปรับให้เข้ากับแกนหลักของโลกอย่างเสียไม่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับโดยไร้เสียงปฏิเสธว่า ช่วงแห่งการปฏิรูปตลาดเสรี โลกาภิวัตน์ และการปรับเปลี่ยนทางเทคโนโลยีได้ทำให้การบริหารจัดการเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่วัดโดยอัตราเงินเฟ้อมีประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม
 

เมื่อระบบเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ การบริหารจัดการเชิงนโยบายการเงินก็ง่ายตามไปด้วย ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ง่าย ก็การบริหารจัดการก็กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมการเงินประเภท Private Equity ที่มุ่งแสวงหาโครงการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ ผ่านกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย จนนำไปสู่การเติบโตของนวัตกรรมต่าง ๆ และมูลค่าบริษัทที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของบริษัทในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี 

แต่ดังที่กล่าวข้างต้น งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การครอบงำทางเศรษฐกิจของลุงแซมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป หลักฐานเชิงประจักษ์ คือ การถือกำเนิดอย่างแกร่งกล้าของประเทศจีน  รวมถึงการเกิดขึ้นของประเทศเศรษฐกิจที่มีความซับซ้อนพัวพันจนยากที่จะแตกแถว อย่าง สหภาพยุโรป อินเดีย หรือ บราซิล 

แต่ในทางตรงกันข้าม ผลกระทบเชิงลบของวิกฤตการณ์ระดับโลกหลายเหตุการณ์ก็ได้สร้างความแตกแยกต่อระบบความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นต่างๆ เช่น การเกิดขึ้นของปรากฏการณ์ Brexit เป็นต้น

                               “เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนไป”

ปรากฏการณ์อันเป็นผลจากวิกฤตการณ์ระดับโลก ได้ส่งผลสืบเนื่องไปยังการปรับเปลี่ยนนโยบายของประเทศต่างๆ อาทิ การหันสู่นโยบายการเมืองภายในประเทศก่อนนโยบายระหว่างประเทศ หรือ การมุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก เป็นต้น

ด้วยนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ทำให้เห็นภาพของสถานการณ์ที่ไม่เคยเห็นในทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการเข้า ออก การควํ่าบาตรประเทศที่เป็นเป้าหมาย หรือการเปลี่ยนนโยบายห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ
 

นโยบายของประเทศส่วนใหญ่เริ่มที่จะใช้หลักการที่เรียกว่า “การลดความเป็นโลกาภิวัตน์ (De-globalization)” หลายประเทศเริ่มปลดล็อกความสัมพันธ์แบบพึ่งพิงกันทางเศรษฐกิจ ที่เคยเป็นมากว่า 30 ปี ด้วยการเร่งสร้างระบบของชาติตนเอง

เช่น ความสัมพันธ์ทางเทคโนโลยีโทรคมนาคมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในสหภาพยุโรป กีดกันการนำเข้าเทคโนโลยีจากจีน และหันมาพึ่งพิงเทคโนโลยีของตนเองแทน เป็นต้น 

แต่ความจริงที่ลำบากที่จะยอมรับ คือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ กลับมีความเกี่ยวพันกับประเทศอื่นอย่างยากที่จะแยกออกจากกัน ดังเช่น ที่เห็นจากอัตราการค้าระหว่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศเยอรมนี ที่สูงถึงร้อยละ 80 ขณะที่ตัวเลขเดียวกันของประเทศสหรัฐอเมริกาเท่ากับร้อยละ 25 เท่านั้น 

เพราะฉะนั้น การจะถอดรื้อประเทศของตนจากความเป็นโลกาภิวัตน์ คงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หลายๆ ประเทศจึงใช้วิธีการปรับความเป็นโลกาภิวัตน์ (Re-Globalization) เสียใหม่ โดยการกำหนดชุดนโยบายที่สร้างสมดุล ระหว่างการได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ กับ การสร้างความเป็นอิสระและคล่องตัวจากอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เช่น การแพทย์ การป้องกันประเทศ พลังงาน หรือ แม้แต่บริการทางการเงิน เป็นต้น

เมื่อโลกเริ่มกลับมาคำนวณจุดสมดุลของโลกาภิวัตน์ใหม่แล้ว “ภาคธุรกิจจะต้องวางกลยุทธ์ตอบสนองอย่างไร?” เป็นคำถามที่สำคัญอย่างยิ่งยวด สิ่งที่เราเริ่มเห็นมากขึ้น คือ เทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองต่อความซับซ้อนของปัญหาทางธุรกิจ และไม่ถูกจำกัดโดยขอบเขตของตลาด เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่าง ที่ทุกคนสามารถนึกภาพออก คือ ChatGPT ที่สามารถนำมาทดแทนผลิตภัณฑ์เดิม ๆ ได้หลายต่อหลายผลิตภัณฑ์ และมีศักยภาพที่จะปฏิวัติการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้สูญหายไปจากตลาด 

 แม้วันนี้ทุกคนจะตระหนักว่า การเมืองโลกได้ย้ายที่เล่นแล้ว แต่คนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ทราบคำตอบว่า แล้วเราจะไปต่ออย่างไรกันดี และแม้ทุกคนจะตระหนักว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะช่วยให้ไปต่อได้

แต่คนส่วนใหญ่ก็อาจจะยังมีคำถามว่า แล้วเราจะสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมอะไรเพื่อช่วยให้ไปต่อ ประเด็นนี้ท้าทายผู้บริหารจริงๆ