EEC การเป็นศูนย์กลางการลงทุนห่วงโซ่การผลิตสำคัญของโลก

26 ม.ค. 2566 | 08:25 น.

คอลัมน์ เศรษฐ - สะกิด โดย ดร.เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการ EEC

1. การจัดตั้งเขตพัฒนาพิเศษ กับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ตั้งแต่การก่อตั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – ไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2565 ภาคธุรกิจของให้ความสนใจในการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อย่างมาก โดยมีมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มูลค่าถึง 1.17 ล้านล้านบาท หรือคิดว่าร้อยละ 51 ของมูลค่าที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของทั้งประเทศ โดยเฉพาะในปี 2565 มีมูลค่าการลงทุนที่ได้รับการออกบัตรฯ มูลค่า 1.85 ล้านบาท และเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่ากว่า 1.49 ล้านบาท แม้ว่า ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระหว่างปี พ.ศ. 2563 มูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ EEC โดยรวมจะลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการบริการ แต่สามารถกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2563

เมื่อพิจารณามูลค่าของเงินลงทุนในพื้นที่ EEC สูงสุด 3 อันดับแรก ในปี พ.ศ. 2561-2564 ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (3.8 แสนล้านบาท) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน (2.4 แสนล้านบาท) และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (1.4 แสนล้านบาท) แต่พบแนวโน้มการลงทุนในด้านเศรษฐกิจสีเขียว เช่น การผลิตพลังงานสะอาด กิจการรีไซเคิล ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ทำให้เห็นทิศทางของการลงทุนที่มีบริบทของสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น 

จากตัวเลขการลงทุนในพื้นที่ EEC ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ EEC ในการเป็นฐานธุรกิจสำคัญของผู้ประกอบการในประเทศไทย 

2. การสร้างแผนกลยุทธ์ ส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่โดดเด่นในพื้นที่ EEC

การดำเนินการผลักดันการลงทุนและความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีอย่างโดดเด่น สรุปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 สาขาหลัก ได้แก่

1) อุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Digital and Smart Electronics) โดยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และหน่วยงานไทยที่สำคัญ เกิดการก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านระบบอัตโนมัติ เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์จากสัญญาณ 5G เช่น (1) EEC Automation Park ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สกพอ. มหาวิทยาลัยบูรพา และ Mitsubishi Electric (2) LUMADA Center ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง AMATA และ Hitachi (3) Sustainable Manufacturing Center หรือ SMC ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เป็นต้น และความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) ในการพัฒนาผู้ประกอบการดิจิทัลในประเทศไทย การสนับสนุนการผลักดัน Thailand Industry 4.0 Index เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 มากขึ้น

ตัวอย่างการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในพื้นที่ เช่น บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอนซูมเมอร์ โปรดักส์(ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง (Advanced Technology) บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่มการลงทุนผลิตชิ้นส่วน Electromagnetic เป็นต้น 

2) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและการแพทย์ (Health and Wellbeing) ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนในศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ เพื่อรวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรมของคนไทย สนับสนุนการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น จากความต้องการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตัวอย่างการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ เช่น บริษัท คิมบอล อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เครื่องรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ บริษัท เอปิค อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ลงทุนผลิต Infusion Pump เป็นต้น

3) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) นอกจากการลงทุนด้านพลังงานสะอาด รีไซเคิล การจัดการทรัพยากรในการผลิตแล้ว ภาคเอกชนในพื้นที่อีอีซีเริ่มขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจไฮโดรเจน (Hydrogen Economy) เพื่อรองรับเทคโนโลยีด้านยานยนต์และด้านพลังงานในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจุบัน โดยมีโครงการตัวอย่างในพื้นที่อีอีซี เช่น โครงการพัฒนาพลังงานในนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ในพื้นที่มาบตาพุด สถานีนำร่อง Hydrogen station ในจังหวัดชลบุรี เป็นต้น

ตัวอย่างการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากพลังงานขยะขนาด 8 เมกะวัตต์ บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ลงทุนโรงงานไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม เป็นต้น

4) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ยานยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและภูมิภาคอย่างแน่นอน ด้วยทิศทางความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยและต่างประเทศ ทั้งเชิงนโยบายและการสนับสนุนสิทธิประโยชน์เพื่อเร่งให้เกิดตลาด ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้ระบุประเด็นหมุดหมายการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ทำให้ความชัดเจนด้านนโยบายมีความต่อเนื่องชัดเจน และด้วยพื้นที่อีอีซี เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของประเทศไทยและภูมิภาค จึงทำให้พื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า

ตัวอย่างการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ - ซีพี จำกัด ต่างมีการประกาศขยายการลงทุนเพิ่มในพื้นที่ เป็นต้น

 

3. การกำหนดเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษในพื้นที่ EEC

เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ และพัฒนาพื้นที่เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เน้นเทคโนโลยี EEC ได้ประกาศเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ จำนวน 7 เขต ได้แก่ เขตส่งเสริมรถไฟ ความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EECh) เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ (EECg) เขตส่งเสริมศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร (EECmd) เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) และศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีชั้นสูงบ้านฉาง (EECtp)

เขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ มีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) สำหรับการลงทุนด้านนวัตกรรมให้เกิดในพื้นที่ EEC และต้องการสร้างกลไกสนับสนุนอื่นๆ ในพื้นที่เฉพาะ เพื่อทดสอบ ทดลองการสนับสนุนการลงทุนด้านนวัตกรรม เช่น การสร้างนวัตกรรมด้านกฎระเบียบ (Regulatory Sandbox) การให้สิทธิประโยชน์เพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ขณะนี้ การพัฒนาเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดธุรกิจเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการลงทุน

3.1เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

โครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนา รองรับการลงทุนด้าน R&D ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และได้เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 
หน่วยงานสำคัญใน EECi สำหรับการส่งเสริมการลงทุนในระยะที่ 1 ประกอบด้วย

1) Biopolis ที่จะเน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการขยายระดับงานวิจัยสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยระยะที่ 1 ภาคเอกชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ใน Plant Factory เพื่อรองรับการผลิตพืชสมัยใหม่ และในปี 2566 จะสามารถให้บริการ Biorefinery หรือ โรงกลั่นชีวภาพ รองรับการสกัดสารสำคัญจากวัตถุดิบทางการเกษตรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร เคมีชีวภาพ และเวชศาสตร์เครื่องสำอาง

2) Aripolis ที่เน้นอุตสาหกรรม Automation และ Robotic รวมทั้ง ยานยนต์สมัยใหม่ โดยภายในปี 2565 ภาคเอกชนสามารถใช้บริการของศูนย์ Sustainable Manufacturing Center (SMC) เป็นสถานที่ต้นแบบในการพัฒนาระบบ Smart factory

3.2 เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa)

ภายในปี 2565 เริ่มสำรวจพื้นที่ก่อสร้างขยายรันเวย์ที่ 1 และพื้นที่กันชนของสนามบินเพิ่มเติม ส่วนการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 อาคารผู้โดยสาร พร้อมศูนย์ธุรกิจ จะสามารถเริ่มการก่อสร้างในปี 2566 ตามแผนการพัฒนา ซึ่งเมื่อการพัฒนาสนามบินแล้วเสร็จ สนามบินอู่ตะเภาจะสามารถรองรับผู้โดยสาร ได้มากกว่า 16 ล้านคนต่อปี

นอกจากการพัฒนาสนามบินแล้ว การพัฒนาพื้นที่โดยรอบเพื่อยกระดับเป็นการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกยังถือเป็นประเด็นสำคัญของโครงการ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ของประเทศ ตอบสนองการกลับมาเติบโตของอุตสาหกรรมการบินอีกครั้ง หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 ตลอดจนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เช่น Sustainable Aviation Fuel (SAF) และ Electric & Hybrid Aerospace เป็นต้น

3.3 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd)

ศูนย์กลางกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล มีธุรกิจเป้าหมายสำคัญ เช่น Cloud Service, Smart Electronic จนถึงพัฒนา Digital Solution ที่เกี่ยวข้องกับ Smart City กำหนดจัดทำ Conceptual Design ในปี 2565 และวางแผนในการก่อสร้างภายในปี 2566 และเริ่มการก่อสร้างได้ภายในปี 2567

สำหรับธุรกิจเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ การลงทุนในด้าน Smart Factory ในพื้นที่ EECd โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และ System Integration เพื่อใช้ 5G สำหรับการยกระดับการผลิตโดยนาระบบ Automation มาใช้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการด้าน Digital ชั้นนำของโลกให้ความสนใจร่วมในการพัฒนาในพื้นที่ EECd รวมถึงแผนการพัฒนารองรับ Low Earth Orbit Satellite เพื่อเป็นเครือข่ายด้าน Digital ในอนาคต

3.4 เขตส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์ (EECg)

ภายใต้แผนบูรณาการการแพทย์จีโนมิกส์ ได้จัดตั้งศูนย์วิเคราะห์จีโนมของมนุษย์ในพื้นที่ EEC ซึ่งได้ประกาศผู้ชนะประมูลโครงการ และเตรียมดำเนินการในปี 2565 นี้

จากข้อมูลจีโนมของคนไทยจำนวน 50,000 ราย จากโครงการดังกล่าว สามารถใช้ประโยชน์ในการลงทุนด้านการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) และการแพทย์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) ตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาการรักษา จนถึง สนับสนุนกระบวนการรักษาแบบใหม่

สำหรับในปี 2565 นี้ คาดว่าจะได้ข้อมูลจีโนม จำนวน 5,000 รายในเบื้องต้น เพื่อพัฒนาระบบจัดการข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ทั้งในด้านบริการ และด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ใหม่

 

4. การสนับสนุนเป้าหมายแนวทางการผลักดันการลงทุนใน EEC

1) การเพิ่มศักยภาพให้พื้นที่ EEC เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตด้านเทคโนโลยีของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม New S-Curve ซึ่งเชื่อมโยงกับเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่

(1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยเสริมสร้างบทบาทให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตด้านอุปกรณ์และชิ้นส่วนในกลุ่มประเทศ CLMV รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0)

(2) อุตสาหกรรมการบิน ซึ่งนอกเหนือจากการบริการระบบ MRO แล้ว ยังรวมถึงการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในประเทศไทย

(3) อุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันเศรษฐกิจ BCG เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการยกระดับการผลิตทางการเกษตร ซึ่งพื้นที่ EEC สามารถสนับสนุนด้านการผลิตปลายน้ำ ตามผลิตภัณฑ์เป้าหมายของเศรษฐกิจ BCG เช่น อาหารเชิงฟังก์ชัน เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

(4) อุตสาหกรรมการแพทย์ ซึ่งต่อยอดจากศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ให้บริการทางการแพทย์ สู่ประเทศต้นทางในการพัฒนาระบบการรักษา และเวชภัณฑ์ใหม่ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (Advanced therapy medicinal products: ATMPs)

2) การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคาร์บอนต่า (Decarbonization) โดยสามารถใช้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่นาร่องการใช้เทคโนโลยีใหม่ในภูมิภาค และ ใช้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่เป้าหมายในการลงทุนด้านดังกล่าว ตามนโยบายตามหลักการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจคาร์บอนต่ำ โดยอุตสาหกรรมและธุรกิจเป้าหมาย 3 สาขา ได้แก่ การจัดการและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency), การจัดการผลิตภัณฑ์ตลอดอายุการใช้งาน (End of Life Management), การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon capture and storage)

แนวโน้มการลงทุน ในกระแส ESG ปัจจุบันทั่วโลกกำลังให้ความสนใจเทรนด์การลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล การเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับการลงทุนของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จะเป็นกระแสหลักของโลกในอนาคต ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว – และเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่สำคัญเพื่อรองรับการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนภายในภูมิภาคและทั่วโลก

การส่งเสริมการผลิตและการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงรถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น รถยนต์เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell Electric Vehicle: FCEV) และรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV conversion) เป็นต้น ควรมุ่งเน้นไปที่การสร้าง Ecosystem สำหรับยานยนต์พลังงานสะอาด และการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต เช่น เทคโนโลยีด้าน connected and autonomous vehicle เทคโนโลยีอัจฉริยะสำหรับยานยนต์ (AI, Internet of Vehicle – IoV, Cloud Computing, Block Chain, Satellite) รวมถึงการพัฒนาบุคลากรและยกระดับผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์รายย่อยในประเทศให้มีโอกาสปรับตัวและพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ไทยสามารถก้าวเป็นผู้นำของประเทศผู้ผลิตยานยนต์สมัยใหม่ได้ในอนาคต

3) การส่งเสริมการลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการลงทุน PPP

จากการลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่ากลไกเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public. Private Partnership หรือ PPP) มีความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างมาก ซึ่งในระยะต่อไปหลังจากโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ การพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่องและต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นโจทย์ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาเมืองใหม่ การพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด

สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา รถไฟฟ้าความเร็วสูง เชื่อมสามสนามบิน โรงพยาบาลปลวกแดง อันจะเป็นต้นแบบในการนำไปเป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบการลงทุน PPP ในทุกๆโอกาสทางการพัฒนาธุรกิจร่วม ระหว่างรัฐและเอกชนขนาดใหญ่ จนถึง เอกชนท้องถิ่นทุกระดับ

 

5. การยกระดับ นโยบายของภาครัฐเพื่อสร้างมิติสัมพันธ์ คือ ความสำคัญต่อทุกห่วงโซ่การผลิตใน เขตพัฒนาพิเศษ

ตัวอย่างที่สำคัญ นโยบายภาครัฐ ผลักดันไทยเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบก้าวกระโดด รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 จะต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ปี 2563 รัฐบาลตั้งคณะทำงานภายใต้ชื่อ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน และได้มีการประกาศเป้าหมาย “30@30” โดยตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ทั้งนี้เพื่อให้การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นการดำเนินการในระยะยาว สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจึงได้บรรจุวาระของการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญจากทั้งหมด 13 หมุดหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)

นโยบาย ที่ชัดเจน จะสร้างมิติสัมพันธ์ ให้กับการลงทุน เมื่อนโยบายภาครัฐ ชัดเจน นักลงทุนก็ยกระดับตามมาเช่นกัน

• BYD แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่มียอดขาย EV เป็นอันดับ 1 ของโลกก็ตบเท้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยได้ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม WHA ระยองกว่า 600 ไร่ เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ในอนาคต

- ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อยู่ในซัพพลายเชนของยานยนต์ไฟฟ้าก็ประกาศแผนลงทุนครั้งใหญ่ในประเทศไทยเช่นกัน อาทิ ผู้ผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งนาโดยบริษัท EA ได้ลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมในพื้นที่ EEC รวมถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ซึ่งเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิตของบริษัทในระดับภูมิภาค การกำหนดนโยบายของภาครัฐ และการผลักดันให้ทันกระแสโลก มีความสำคัญต่อทุกห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง