โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำ เพราะเชื่อว่าคนที่ลงทุนในตลาดหุ้นเป็นพวกมีเงิน
ดังนั้น การเก็บภาษีแบบนี้จึงไม่น่าจะส่งผลต่อการออมเพื่อเกษียณอายุของประชาชนทั่วไปเหมือนภาษีด้านอื่น ๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ ให้แก่กลุ่มกองทุนเพื่อการเกษียณ อาทิ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนการออมแห่งชาติ เป็นต้น นั้น
ในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการ การเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาและหารือกับภาครัฐ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดทุนแล้ว ซึ่งเห็นปัญหาและข้อกังวลของทุกฝ่ายที่พอสรุปได้ว่า
- ตลาดทุนไทยยังอยู่ในช่วงที่ต้องการการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากปัจจุบันยังมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนที่น้อย และตราสารการลงทุนยังมีปริมาณน้อยไม่สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการพัฒนาส่งเสริมต่อไป นอกจากนี้ ตลาดทุนไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาสภาพคล่องของตลาดเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการผลักดันให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือ SMEs สามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนได้ ตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ดังนั้น การจัดเก็บภาษีขายหลักทรัพย์จึงเป็นการเพิ่มปัจจัยซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย
- การจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์ รัฐบาลควรคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นสำคัญลำดับแรก เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งของไทยและต่างประเทศยังอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างผันผวนและอ่อนแอ หากภาครัฐจัดเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์ช่วงนี้ ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลควรทบทวนและชั่งน้ำหนักว่าการจัดเก็บภาษีขายหลักทรัพย์ทำให้รายได้รัฐบาลเพิ่มขึ้นก็จริง (ที่ประมาณการณ์ไว้หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี) กับผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายที่อาจลดลง ส่งผลต่อสภาพคล่อง แรงจูงใจในการเข้ามาระดมทุนของบริษัทต่าง ๆ รวมทั้งความเชื่อมั่นในภาพรวมต่อตลาดทุนไทยในระยะยาว ดังนั้น คณะกรรมการธิการฯ (กมธ.) จึงเห็นว่ารัฐควรพิจารณาศึกษาศักยภาพและความสามารถของตลาดทุนไทยให้พัฒนาต่อไปได้ถึงระดับตลาดทุนที่พัฒนาแล้วอย่างเต็มที่ มีสภาพคล่องสูงก่อน จนสามารถเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการดึงดูดบริษัททั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความต้องการอยากเข้ามาลงทุน/ระดมทุน โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการส่งเสริมมากนักในช่วงเวลานั้น รัฐบาลจึงอาจพิจารณานำเรื่องนี้กลับมาทบทวนใหม่ให้รอบคอบ เพราะหากเกิดผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แล้ว รัฐอาจใช้เวลานานกว่าจะแก้ไขความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับคืนได้ดั่งเดิม
สำหรับข้อเสนอแนะทางนโยบายนั้น ทางคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา มีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้น ดังนี้
- ตลาดทุนเป็นช่องทางระดมทุนที่สำคัญของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเป็นทางเลือกในการระดมทุนทั้งในยามวิกฤตและเศรษฐกิจเติบโต รวมถึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของบริษัทไทยให้มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลเข้าสู่มาตรฐานสากล ตลาดทุนจะเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่มั่นคงที่สนับสนุนให้ธุรกิจไทย รวมทั้งธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่มุ่งเน้นนวัตกรรมสามารถระดมทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างมั่นคงในระยะยาว
- ตลาดทุนยังเป็นแหล่งระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศโดยผ่าน Infrastructure Fund ตลาดทุนไทยในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่ต้องการการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานการลงทุนโดยสนับสนุนให้บริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในจำนวนมากขึ้น และมีตราสารการลงทุนในปริมาณที่มากเพียงพอที่จะสามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนทั่วโลกได้ ดังนั้น การเก็บภาษีขายหลักทรัพย์ในขณะนี้จึงยังมิใช่ช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม
- ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2566 มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมา ที่ได้รับผลกระทบของโรคระบาดโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย และภาวะเงินเฟ้อสูง เนื่องจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกและโรคอุบัติใหม่ นอกจากนี้ ประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ยังคงมีความผันผวนสูง ประเทศไทยจึงควรเตรียมแผนรองรับผลกระทบโดยคำนึงถึง “การรักษาสภาพคล่อง” ในตลาดทุนให้มีความเข้มแข็งเพียงพอต่อการจูงใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง การเก็บภาษีการขายหลักทรัพย์ในขณะนี้จึงบั่นทอนความน่าสนใจในการลงทุนและเป็นอุปสรรคต่อการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางตลาดการเงินในภูมิภาคในระยะยาว
- รัฐบาลควรพิจารณาเร่งรัด ติดตาม ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บภาษี เพื่อเร่งรัดนำเงินรายได้เข้าสู่รัฐประเภทอื่น ๆ ที่เหมาะสม อาทิ การเร่งรัดการจัดเก็บภาษีคงค้างของกรมสรรพากร (ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ภาษีอากรการนำเข้าผิดกฎหมาย การขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐสามารถทำได้ทันที และไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อระบบเศรษฐกิจ
ดังนั้น มติ ครม. ในเรื่องนี้จะมีผลใช้บังคับในเร็ววันนี้หลังจากมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้ในเดือนมีนาคม 2566 นี้ โดยในปีแรกจะจัดเก็บในอัตรา 0.055% และปรับขึ้นเป็น 0.11% ใน 2567 เรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันมาก และจากการหารือก็เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง และฟากเอกชนผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่างมีความเห็นคนละขั้ว การวิเคราะห์ประมาณการณ์ผลกระทบต่างกันลิบลับ
แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องความเชื่อมั่นในตลาดทุน และเป็นความอ่อนไหวที่มีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจภาพรวม และยิ่งสำคัญมากขึ้นในปีนี้ เพราะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากโควิด แต่อยู่บนถนนที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยแพง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ หนี้สารพัด ฯลฯ ทำให้เราต้องคิดโดยความละเอียดอ่อนและรอบคอบในทุกเรื่องจริง ๆ และเรื่องนี้ตั้งหลักดี ๆ และให้พร้อมกว่านี้ก็ไม่เสียหลาย