ประกันสุขภาพในอุดมคติของผม

02 ก.ค. 2565 | 06:30 น.
613

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลายวันก่อนลูกศิษย์ผมคนหนึ่ง ได้เข้ามาหาผมและบอกผมว่าตอนนี้เขาได้ทำงานแล้วนะ ซึ่งผมก็บอกว่าดีใจด้วย ทำงานอะไร? มีอะไรจะให้ผมช่วยมั้ย? เขาจึงบอกว่า “ผมทำงานขายประกันครับอาจารย์ อยากจะขอให้อาจารย์ช่วยซื้อประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพก็ได้ครับ” 


ผมก็ตอบปฏิเสธไปเพราะว่าผมมีซื้อไว้แล้ว จึงไม่อยากจะซื้อซ้ำซ้อน ผมก็ถามต่อไปอีกว่าแล้วขายได้บ้างหรือยัง? เขาตอบว่าก็พอขายได้บ้างแล้ว ส่วนใหญ่จะขายให้ญาติๆ และบุคคลที่ใกล้ชิด เขาก็ถามความเห็นผมว่า ผมคิดอย่างไรกับอาชีพนี้? 

ผมก็ตอบไปว่า ทุกๆ อาชีพมีทั้งจุดดีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ในเมื่อหนูเลือกทางเดินของหนูแล้ว ก็ขอให้ทำไปด้วยความขยันหมั่นเพียรไปเถอะ สักวันก็จะประสบความสำเร็จได้ อาจารย์ก็ขออวยพรให้หนูจงประสบความสำเร็จในชีวิตการงานก็แล้วกันนะ เขาจึงขอตัวลากลับไปครับ
          

พอกลับไปแล้ว คนใกล้ชิดกับผมคนหนึ่งก็ถามผมว่า ทำไมผมไม่ช่วยเขาซื้อสักหน่อยละ น้องเขาอุตส่าห์มาหา ผมก็บอกว่า ผมซื้อกับเอเย่นต์เก่าคนเดิมด้วยเหตุผลส่วนตัวที่คล้ายๆ กันไปแล้ว ก็ไม่อยากจะมีภาระเพิ่ม อีกอย่างที่ซื้อไปเพราะทุกคนล้วนมีความคาดหวังที่แตกต่างกันออกไป หากเราเลือกซื้อเพราะอยากช่วยเหลือผู้ขาย เราก็คงต้องซื้อต่อๆ ไปไม่รู้จบแน่ๆ ครับ 

ส่วนคำตอบของความคิดเรื่องอาชีพนี้ที่เขาถามว่าคิดอย่างไร? ผมก็คิดว่า ทุกๆ อาชีพล้วนมีความน่าเคารพอยู่ในตัวทั้งนั้น ขอเพียงเป็นอาชีพที่สุจริตก็มีเกียรติด้วยกันทั้งหมดแหละ ไม่ว่าจะเป็นคนกวาดถนน คนขนขยะ หรือเป็นแพทย์ พยาบาล หรือตำรวจ ทหาร ทุกอาชีพก็ล้วนมีเกียรติและศักดิ์ศรีเท่าๆกันทั้งนั้นครับ
        

คำถามต่อมาจากคนใกล้ชิดว่า อยากรู้ว่าความคิดเรื่องประกันสุขภาพในประเทศไทยเราเป็นอย่างไร? ผมจึงตอบไปว่า ประกันชีวิตผมไม่ขอวิจารณ์นะ เพราะเป็นสิทธิของปัจเฉกบุคคล แต่ประกันสุขภาพในอุดมคติของผม อาจจะแตกต่างกับประกันสุขภาพที่มีอยู่ในบ้านเราในปัจุบันนี้ 


ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าผมได้เห็นประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงวัยในประเทศที่อื่นๆ เช่นประเทศญี่ปุ่น ที่เขาแบ่งขั้นตอนและประเภทของประกันสุขภาพไว้ได้ดีมากๆ อยากจะเล่าให้ฟังเล่นๆ นะครับ แต่ประเทศไทยเราคงไม่สามารถทำได้เหมือนเขา เพราะในปัจจุบันนี้ แม้แต่เบี้ยคนชราที่ทางภาครัฐจะจัดสรรให้ กว่าจะผ่านสภาฯได้ก็เล่นเอาเหนื่อยแล้ว คงยากที่จะได้มีโอกาสได้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้ครับ
        

อันที่จริงประเทศไทยเราในปัจจุบันนี้ มีคู่สมรสที่หย่าร้างและคนโสดค่อนข้างจะไม่น้อยทีเดียว หากเรามีนโยบายในการดูแลเขา เมื่อยามที่เขาได้แก่ตัวลงเหมือนอย่างของประเทศญี่ปุ่นเขา ซึ่งเขากำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างดีและทั่วถึง จึงทำให้ประชากรในประเทศญี่ปุ่นมีอายุที่ยืนยาวกว่า และมีความสุขในชีวิตบั้นปลายได้มากกว่าประเทศอื่นๆ 

 

โดยเขาจัดแบ่งกลุ่มคนที่สูงอายุที่จะมีสิทธิได้รับการดูแลไว้อย่างชัดเจนมาก แล้วให้เก็บเงินเป็นค่าภาษีประกันสุขภาพรวมกับประกันสังคม เมื่อยามที่ประชาชนของเขาแก่ตัวลง รัฐบาลเขาก็เจียดเอางบประมาณมาให้การช่วยเหลือประชาชนเขา ทำให้ได้มีโอกาสเข้าไปพำนักในสถานบ้านพักคนวัยเกษียณได้ไม่ยาก 


โดยเขาจะให้ประชาชนหรือผู้ประกันตนจ่ายค่าใช้จ่ายเองในจำนวน 10% รัฐบาลก็เอางบประมาณแผ่นดินเข้ามาดูแลอีก 45%  ส่วนอีก 45%  เป็นเงินประกันสุขภาพที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบไป ดังนั้นประชาชนก็จะไม่ต้องกังวลว่าเมื่อแก่เฒ่าแล้วจะอยู่อย่างไรต่อไปครับ
        

ในเรื่องการแบ่งเกรดของผู้สูงอายุ เขาก็เริ่มแบ่งเกรดที่ชัดเจนมาก แบ่งเป็นทั้งหมด 7 เกรดด้วยกัน คือ 1,ตั้งแต่เมื่ออายุ 40 ปีที่อาจจะมีอาการเจ็บป่วยแล้ว ไม่สามารถทำงานได้ 2,ผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันขั้นพื้นฐานได้ แต่ต้องการการดูแลบ้างเล็กน้อย 


3,ผู้สูงอายุที่มีอาการเบื้องต้นที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่ต้องได้รับการดูแลบ้างเล็กน้อย 4,ผู้สูงอายุที่มีความต้องการความช่วยเหลือจากพยาบาลหรือผู้บริบาลบางส่วน ในการให้ความช่วยเหลือในด้านการเดินเหิน การขับถ่าย การอาบน้ำ การสวมใส่เสื้อผ้าบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับรุนแรง 


5,ผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือในกิจกรรมประจำวันที่กล่าวมาแล้วอย่างใกล้ชิด 6,ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถยืนขึ้นหรือเดินเหินด้วยตนเองได้แล้ว รวมทั้งกิจวัตรประจำวันทั้งหมด ต้องให้พยาบาลหรือผู้บริบาลช่วยเหลือทั้งหมด แต่ยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกลับมาได้บ้าง 


7,กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ที่จะต้องดูแลอย่างไม่คลาดสายตานั่นเองครับ นอกจากนี้ เขายังได้มีการแบ่งการใช้บริการออกมาอีกหลายขั้น เช่น บริการผู้สูงอายุในระยะยาว บริการผู้สูงอายุในระยะสั้น บริการดูแลเป็นประจำที่บ้านตนเอง และบริการผู้ป่วยนอกเป็นต้น
          

จะเห็นว่าเขาแบ่งเกรดของผู้สูงอายุไว้ค่อนข้างจะชัดเจนและละเอียดมาก ในขณะที่เมืองไทยเรา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ถูกส่งเข้าไปอยู่ที่เนอสซิ่งโฮมหรือบ้านพักคนชรา คือผู้ป่วยติดเตียงแล้ว หรือกลุ่มที่เป็นภาระลูกหลานแล้วเท่านั้น 


เงินทองที่จะนำมาใช้ในยามแก่เฒ่าโดยส่วนใหญ่ จะต้องเป็นเงินของตนเอง หรือไม่ก็เป็นเงินของลูกหลานเท่านั้น ดังนั้นหากรัฐบาลกำหนดให้ผู้คนที่ยังมีกำลังวังชา หรืออยู่ในวัยทำงานทุกคน ต้องทำประกันสุขภาพไว้ใช้ในยามแก่เฒ่า แล้วนำบางส่วนของงบประมาณออกมาช่วยดูแล 


ซึ่งก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าทำได้ยากมาก ด้วยเหตุผลทางด้านงบประมาณแผ่นดิน และเหตุผลทางด้านการเมือง แต่ถ้าทำได้ดังนั้น ผมก็เชื่อว่าประชาชนจะเกิดความสุขในชีวิตบั้นปลายอย่างแน่นอนครับ