สาเหตุอัตราเฉลี่ยอายุของมนุษย์ที่ยืนยาวขึ้น

18 มิ.ย. 2565 | 07:00 น.
2.6 k

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

สังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่ออกที่จะต้องเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในวันเวลาอันใกล้นี้ เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดี แต่ก่อนที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยดังกล่าว เราทุกคนคงจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจกันไว้ให้ดี เพราะหากเราไม่ได้มีการเตรียมใจไว้ก่อน พอถึงเวลาเราอาจจะทำตัวเองไม่ถูกเหมือนกันนะครับ
             

ตัวอย่างของประเทศสังคมผู้สูงวัยในทวีปเอเชียที่เราเห็นได้ชัด น่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้และประเทศสาธารณประชาชนจีน โดยเฉพาะในโลกเราวันนี้ จากสถิติที่เขาทำสำรวจไว้ในปีค.ศ.2020  

อัตราเฉลี่ยอายุของประชาชนชาวฮ่องกง จะมีอายุยืนยาวเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 82.71 ปี ส่วนผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ย 88.14 ปี ส่วนอันดับสองคือประเทศญี่ปุ่น โดยผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย 81.64 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 87.74 ปี 


อันดับสามคือประเทศสเปน โดยผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 80.90 ปี ผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 85.42 ปี ในขณะที่ประเทศไทยเราเอง ผู้สูงอายุก็มีค่าเฉลี่ยอายุที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยมีค่าเฉลี่ยอายุของผู้ชายอยู่ที่ 73.2 ปี ในขณะที่ผู้หญิงจะอยู่ที่ 85.4 ปี เราจะเห็นว่าผู้หญิงจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงกว่าผู้ชายประมาณ 5-8 ปีเกือบจะทุกประเทศ 

ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุ จะต้องมีโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนทุกคน โดยประเทศญี่ปุ่นเขาทำการสำรวจ พบว่าโรคที่พบในผู้สูงวัย ที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ รองลงมาก็คือโรคหลอดเลือดในสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต  


จะเห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะหลีกหนีโรคภัยสองโรคนี้ยากมาก โดยเฉพาะในประเทศที่มีสังคมผู้สูงวัย ดังนั้นเราจึงควรจะมาทำความเข้าใจว่าเหตุใดที่เป็นสาเหตุของโรคทั้งสองประเภทนี้ โดยต้องศึกษาจากประเทศที่เขาเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นครับ
        

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเราเองก็มีวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์ ที่ค่อนข้างจะอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาคอาเชียน เรายังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาให้ความกระจ่างโดยผ่านทางบทความ นิตยสารและสื่ออื่นๆ อีกมากมาย 


ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ที่กำลังเข้าสู่วัยชราทั้งหลายต้องเสาะแสวงหามาอ่าน มาทำความเข้าใจกันทุกคน แต่เชื่อมั้ยครับว่า พวกเราคนไทยมักจะไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือกัน ไม่ต้องว่าเป็นคนแก่หรอกนะครับ แม้กระทั่งคนหนุ่มสาวในวันนี้ อัตราการอ่านหนังสือต่อคนต่อปีของคนไทยเรายังน้อยมาก 


จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่ได้ผลออกมาว่า สถิติคนไทยใช้เวลาในการอ่านหนังสือต่อคนต่อวันจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีการอ่านหนังสือ 80 นาทีต่อคนต่อวัน และถ้าเปรียบเทียบกับในช่วงปี 2554 ซึ่งมีอัตราการอ่านหนังสือ 35 นาทีต่อคนต่อวัน 


ในขณะที่ปี 2558 ก็มีการเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเล็กน้อย โดยมีอัตราการอ่านหนังสือ 66 นาทีต่อคนต่อวัน ซึ่งดูเหมือนว่าจะดีขึ้นเป็นลำดับ แต่สิ่งสำคัญนั้นเราต้องดูว่าหนังสือที่คนไทยชอบอ่านมากที่สุดคือ โซเชียลมีเดีย/อีเมล์/SMS 69.2% หนังสือพิมพ์  60.5% หนังสือ/เอกสาร/บทความที่ให้ความรู้/ความรู้ทั่วไปอีก 48.9% 


ซึ่งหากจะคาดหวังจริงๆว่า คนไทยเราหาอ่านหนังสือหรือเอกสารทางการแพทย์ ที่ต้องเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยนั้น แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัยอย่างมาก แต่น่าเสียดายที่พวกเราคนไทยหลายคน มักจะเข้าไม่ถึงหนังสือหรือเอกสารมากนัก แม้ว่าทางการแพทย์บ้านเราจะมีการทำวิจัยและมีประกาศผลต่างๆ เผยแพร่ออกมามาก แต่ถ้าหากเราไม่ไปแสวงหามาอ่าน ก็ไร้ผลจริงๆ ครับ
       

อันที่จริงสาเหตุหลักของโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดในสมองหรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้สูงอายุที่มีอาการของโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดแข็งตัว โรคอ้วน และภาวะไขมันในเลือดสูงผิดปกติ  


ซึ่งโรคดังกล่าวเหล่านี้ มักจะมีสาเหตุมาจากนิสัยการรับประทานอาหารเกือบจะทั้งหมด แต่ด้วยความที่ปัจุบันนี้ เรามักจะติดอาหารที่มีรสหวาน ซึ่งในปัจุบัน กลายเป็นเรื่องปกติของอาหารไทยไปเสียแล้ว ถ้าเราสังเกตให้ดีเวลาเราไปทานอาหารตามร้านอาหาร ซึ่งเกือบจะทุกเมนู อาหารจะต้องมีรสหวานนำเสมอ 


แม้แต่ก๋วยเตี๋ยว ซึ่งเป็นอาหารที่ในอดีตเขาจะไม่ใช้น้ำตาลใส่ในน้ำก๋วยเตี๋ยว แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เสียแล้ว แม้ร้านค้าจะไม่ใส่น้ำตาลมาให้ แต่บนโต๊ะจะต้องมีน้ำตาล พริก น้ำส้ม และน้ำปลาเสมอ เด็กรุ่นใหม่เกือบจะร้อยทั้งร้อย จะต้องปรุงรสก่อนทานเสมอ ซึ่งที่ขาดไม่ได้ก็ต้องใส่น้ำตาลนั่นเองครับ
        

ส่วนอาหารหลักในบ้านเกือบจะทุกบ้าน ก็มักจะมีการเติมรสหวานหรือน้ำตาลเป็นหลักเกือบจะทุกเมนู โดยส่วนตัวผมเอง ที่บ้านจะไม่ชอบทานอาหารที่ใส่น้ำตาลหรือความหวานในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารคาว ที่ครอบครัวผมเองเวลาไปทานอาหารนอกบ้าน จึงมักจะสั่งให้ทางร้านอย่าใส่น้ำตาล 


เราจึงกลายเป็นชนกลุ่มน้อยไปเลยครับ ทั้งๆ ที่ในอดีตถ้าเรายังจำกันได้ สมัยผมเป็นเด็กๆ ที่บ้านจะไม่ทานอาหารคาวที่มีรสหวานกันเลย แต่ต่อมาในยุคที่มีการประโคมข่าว เรื่องของการทานผงชูรสจะมีผลต่อสุขภาพมนุษย์ คนไทยเราเลยงดใส่ผงชูรสแต่หันมาใส่น้ำตาลแทน จนกระทั่งปัจจุบันนี้เลยทำให้ในทุกครอบครัว ห้องครัวจึงมีน้ำตาลเป็นพระเอกอยู่ในนั้นเสมอครับ
      

หากเราไปดูประเทศที่เขามีอัตราอายุที่ยืนยาวเช่นที่กล่าวมาข้างต้น อาหารญี่ปุ่นหรืออาหารจีนบางมณฑล เขาจะไม่ใส่น้ำตาลเอาเสียเลย เช่น ราเมนหรือหมี่จีน ผมก็ไม่เห็นเขาใส่น้ำตาลกันเลย ผมจึงคิดไปเองว่า นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนของเขามีอายุยืนยาวหรือปล่าวหนา.....