การแบ่งแยกประเภทของผู้สูงอายุ

21 พ.ค. 2565 | 06:20 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ค. 2565 | 06:21 น.
2.9 k

คอลัมน์ ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การแบ่งแยกประเภทของผู้สูงอายุ ตามที่ผมเข้าใจ ซึ่งต้องบอกก่อนนะครับว่าเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมจากที่ได้พบเห็นเท่านั้น ไม่ได้อ้างอิงอย่างเป็นวิชาการนะครับ หากอธิบายผิดถูกอย่างไร ถ้าจะมีท่านผู้รู้จะกรุณาให้คำแนะนำมา ผมก็ยินดีรับฟังคำสอนนะครับ 


ในประเทศไทยเรา ผู้สูงอายุที่จะเข้าพักในบ้านพักคนชรา เรามักจะไม่ได้แบ่งแยกประเภทกันละเอียดเหมือนอย่างที่ต่างประเทศเขา เพราะเรามักจะเหมารวมเป็นกลุ่มเดียวกันหมด ถ้าจะแบ่งแยกประเภท อย่างมากที่สุดก็จะแค่ผู้ป่วยติดเตียงกับผู้สูงอายุทั่วไปเท่านั้น 

จากที่ผมได้ไปอ่านเจอในบทความของต่างประเทศฉบับหนึ่ง เขาได้แบ่งแยกประเภทไว้ค่อนข้างจะละเอียดมาก โดยเขาจะเริ่มจากกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรงหรือที่เรียกว่า “Independent Living” 


ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จะเป็นคนที่เริ่มเกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ต้องการจะใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยการเลิกทำงานทุกอย่างแล้ว เรียกว่าเป็น “กลุ่มสุขนิยม”ก็ว่าได้ครับ

กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เขาจะพยายามใช้ชีวิตให้มีความสุขในการพักผ่อนอย่างสงบ ไม่ต้องการความฟุ่มเฟือยมากนัก แต่ต้องมีบรรยากาศของความสงบ โดยไม่มีการรบกวนจากภายนอก 


กลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่เริ่มมีอาการป่วยไข้เข้ามารบกวนร่างกายแล้ว หรือที่เรียกว่ากลุ่ม “Assisted Living” ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ เขาจะเป็นกลุ่มที่ยังคงสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เพียงแต่ต้องการการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักบริบาล 


อีกทั้งยังต้องการนักกายภาพบำบัดเป็นครั้งเป็นคราวด้วย กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเป็นภาระต่อบุตรหลานมากนัก เพราะยังคงสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างยืนยาว หากมีการดูแลที่ดี และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อใช้ชีวิตที่มีความสุข ก็เพียงพอที่จะทำให้มีชีวิตบั้นปลายที่ดีแล้วครับ
  

กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่เริ่มต้องมีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้นแล้ว คือกลุ่มที่เรียกว่า “Long term Care” ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จะเป็นผู้ที่จำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ด้วยการให้ความใส่ใจเป็นพิเศษจากบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากมีอาการเจ็บป่วยที่แตกต่างกันหลายประเภท 


เช่น กลุ่มคนที่เป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ กลุ่มคนที่เป็นโรคประจำตัวร้ายแรง 8 ประเภท หรือกลุ่มที่ต้องหาไม้เท้าค้ำยันเวลาเดินเหิน หรือต้องการให้คนมาช่วยเข็นรถเข็นให้เป็นต้น คนกลุ่มนี้มักจะต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ห่างหูห่างตาไม่ได้เสียแล้ว เพราะอาจจะเกิดเหตุที่คาดไม่ถึงได้ทุกเมื่อชั่วยาม ดังนั้นกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่ดูแลยากพอควรทีเดียว


กลุ่มที่สี่คือกลุ่มที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้ว เขาเรียกว่ากลุ่ม “Bedridden Senior” ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่ถ้าเรียกแบบบ้านๆ ทั่วไป ก็คือกลุ่มที่เป็นไม้ใกล้ฝั่งแล้วละครับ กลุ่มนี้จะต้องมีการให้ความใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เพราะต้องใกล้ชิดมากๆ 


นอกจากการให้อาหารที่บางครั้งเขาอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ หรืออาจจะต้องถึงขั้นให้อาหารทางสายยางแล้ว ยังต้องมีการพลิกตัวให้บ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับอีกด้วย บางครั้งยังต้องทำกายบริหารให้ เพื่อป้องกันการลีบของกล้ามเนื้อ 


ซึ่งถ้าไม่ได้มีการขยับเขยื้อน มักจะเกิดการลีบได้ ดังนั้นกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยไปไหว้พระบนสวรรค์ง่ายๆเสียด้วย ตัวผมเองก็มีคุณแม่ที่เข้าสู่อาการเช่นนี้อย่างยาวนานเช่นกัน ท่านนอนติดเตียงนานถึง 9 ปีเลยทีเดียวครับ  

 

ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุที่เข้าสู่ขั้นนี้ มักจะเป็นผู้ที่มีปัญหาด้านโรคอัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไต เป็นต้น จากนั้นจึงวิวัฒนาการต่อไปจนต้องนอนติดเตียง 
     

อาการของผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงนี้ ถ้าหากลูกหลานที่ฐานะดีหน่อย แต่ทางบ้านไม่มีคนคอยเฝ้าดูแล ก็มักจะนำส่งสถานบ้านพักฟื้น (ที่จริงต้องเรียกว่าสถานพักรอเดินทางไปไหว้พระบนสวรรค์น่าจะถูกต้องกว่า เพราะไม่สามารถที่จะหายขาดกลับมาเหมือนเดิมได้อีกแล้ว) 


หรือที่ปัจุบันนี้ในประเทศไทยเรา จะเรียกว่า “Nursing Home” ซึ่งเราจะพบเห็นมีอยู่ดาษดื่นทั่วไป แต่ถ้าครอบครัวไหนพอมีฐานะดีขึ้นไปอีก ก็จะว่าจ้างผู้ช่วยพยาบาลมาดูแลที่บ้าน หรือบางบ้านไม่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก็จะให้บุตรหลานมาเฝ้าดูแลให้แทนผู้ช่วยพยาบาล 


ซึ่งพอผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงจากไป บุตรหลานที่มาดูแลก็ไม่สามารถที่จะกลับไปประกอบสัมมาอาชีพต่อไปได้ เพราะเวลาที่สูญเสียไปกับการดูแลผู้สูงอายุนั้น ยาวนานแน่นอนครับ
     

ที่ผมได้ไปพบเห็นมาจากหลายๆประเทศ ส่วนใหญ่เขาจะคัดแยกผู้สูงอายุออกเป็นหมวดหมู่ แต่จะแยกหมวดหมู่กันอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะปนกันเกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “Long term Care” เพราะกลุ่มนี้จะค่อนข้างละเอียดอ่อน 

 

เพราะหากนำเอาผู้สูงอายุที่มีอาการต่างกัน มารวมอยู่ด้วยกัน จะทำให้ยากต่อการดูแล หรือหากมีการสูญเสียไปในระหว่างดูแล คนที่อยู่ด้วยในกลุ่มนี้ อาจจะสูญเสียกำลังใจไปก็เป็นได้ อีกทั้งการที่จะดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็แตกต่างกันกับกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นการแยกประเภทของผู้สูงอายุ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งครับ


  

การที่จะทำให้บั้นปลายของชีวิต มีความสุขเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องใส่ใจให้มาก ดังนั้นบุตรหลานจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสภาพแวดล้อม ที่จะให้ผู้สูงอายุได้พักพิงยามชรา อย่าคิดว่ามีอาหารอย่างดีให้ทาน มีคนใช้คอยช่วยเหลือ ไม่ต้องทำงานหนักหรือทำงาน ก็คือการตอบแทนพระคุณผู้ให้กำเนิดที่ดีที่สุดแล้ว 

 

ในความคิดของผม ผมคิดว่าสภาพแวดล้อมที่พักพิงสุดท้ายของชีวิต การได้อยู่กับผู้คนที่เราคิดว่ามีอุดมคติที่ใกล้เคียงกัน การได้ทำงานบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้มีความรู้สึกว่า ไม่ได้ว่างเปล่าจนไม่เกิดประโยชน์ นั่นต่างหากคือความสุขของบั้นปลายชีวิตครับ