ข้อสังเกตบางประการ ต่อการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ล่าสุด

25 พ.ค. 2565 | 06:22 น.
3.5 k

เศรษฐกิจข้างถนนหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. : คอลัมน์ เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย...ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ คณะบริหารธุรกิจ ม.เกษตรศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3786 หน้า 6

ผมว่ามันเป็นเรื่องจริงที่คนเขากล่าวกันว่า "ประวัติศาสตร์มีไว้ให้เราเรียนรู้ เพื่อที่จะไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง" และผมก็เชื่อว่า ประวัติศาสตร์สามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งล่าสุด ในปีพระพุทธศักราช 2565 นี้
 

ผมขอตั้งข้อสังเกตกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพราะเห็นว่า การเมืองที่ท่านเห็นกับการเมืองที่เป็นไปอาจจะแตกต่างกันอย่างฟ้ากับดินเสียเลยทีเดียว 
 

ประการแรก หากท่านที่พอมีอายุอานาม 30 กว่าปีขึ้นไป ท่านก็คงผ่านกงล้อความเป็นแบบแผนของการเลือกผู้ว่าฯ กทม มาแล้วหลายครั้ง แต่ถ้าท่านหลงลืม ผมก็จะเตือนความจำให้ ราว พ.ศ. 2533 กรุงเทพฯ เกิดปรากฏการณ์ “จำลองฟีเวอร์” ทุกคนชื่นชอบ “พลตรีจำลอง” ในฐานะมหาห้าขันก็ดี จำลองผู้มัธยัถส์ก็ดี คุณจำลองเลยเข้าวินในฐานะผู้ว่าฯ สมัยที่สองไปแบบสบายๆ และจำลองฟีเวอร์ก็ทำเอาพรรคพลังธรรมกวาดที่นั่ง ส.ส. ในกทม.ไปแบบแลนด์สไลด์เช่นเดียวกัน
 

แต่เดี๋ยวก่อน 10 ปีต่อมา หรือ พ.ศ.2543 กรุงเทพฯ ก็เกิดปรากฏการณ์ “สมัครฟีเวอร์” อีกครั้ง ใครๆ ก็รู้ว่า คุณสมัครไม่เคยพ่ายแพ้ในสนามกรุงเทพฯ ดังฉายา "ขุนพลพระนคร" ผู้ว่าฯ ล้านเสียงก็เดินเข้าเสาชิงช้าไปแบบไร้พ่าย

 

ช้าก่อน อีก 13 ปีถัดมา หรือ พ.ศ. 2556 กรุงเทพฯ ก็เกิดปรากฏการณ์ไม่เอารัฐบาลฟีเวอร์อีกหน คนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ตั้งท่าเลือกคนที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่ง หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ลงแข่งขันป้องกันแชมป์ และด้วยกลยุทธ์ "ไม่เอาเรา เขามาแน่" ก็พาคุณชายกลับเข้าเป็นพ่อเมืองอีกสมัยไปแบบไม่ต้องลุ้น

 

และปีนี้ พ.ศ. 2565 ปรากฏการณ์ “ชัชชาติฟีเวอร์” ที่กวาดคะแนนเสียงเสียราบคาบ แม้ว่าจะเอาคะแนนคู่แข่งรวมกันทั้งหมดก็ยังเอาชนะชัชชาติไม่ได้ ความนิยมสูงสุดก็นำพาคุณชัชชาติเดินอย่างสง่างามจากระบอบประชาธิปไตยรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างสมศักดิ์ศรี

 

กงล้อประวัติศาสตร์มันแสดงนัยสำคัญบางอย่างให้เห็นว่า ชัยชนะของคุณชัชชาติ มิใช่เรื่องแปลกประหลาดทางการเมืองของกรุงเทพมหานครแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องรสนิยมทางการเมือง (Political Appetite) ของคนกรุงเทพฯ ที่ร้องเรียกหาผู้ว่าฯ ซุปเปอร์ฮีโร่ที่เติมเต็มความรู้สึกสลดที่ตนต้องมีนายกรัฐมนตรีที่อ่อนด้อยฝีมือต่างหาก
 

ประการถัดมา ฐานเสียงพรรคการเมืองยังคงมีความหมายต่อคนกรุงเทพฯ หรือไม่ เพราะประชาธิปัตย์ซึ่งเคยมีอิทธิพลกับคนกรุงเทพฯ หรือคุณหญิงสุดารัตน์ เจ้าแม่กทม. ก็คงตกใจจนตกเก้าอี้แน่ๆ เพราะคะแนนจัดตั้งมันไม่เห็นผลเหมือนดังที่เคยเป็น ผมว่าตอนนี้แกนนำพรรคต่างๆ คงต้องกลับมาสรุปแล้วว่า การเมืองแบบยี่ปั๊วหรือ Wholesale Politics มันเริ่มจะใช้ไม่ได้กับเมืองหลวงของประเทศไทยเสียแล้ว ก็สินค้าการเมืองหรือ Political Products เป็นสินค้าที่วางขายแบบค้าปลีกหรือ Retail Politics ไปเสียแล้ว นับแต่วันนี้ กลยุทธ์การเรียกคะแนนเสียงจากคนกรุงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอนและเป็นรูปธรรม

 

ประการที่สาม นโยบายที่ประกาศไว้เป็นตัวชักชวนให้คนเลือกผู้สมัครหรือไม่ ดังที่ท่านทั้งหลายเห็น นโยบายของผู้สมัครแต่ละคนมีความแตกต่างกันน้อยมาก และส่วนใหญ่ก็เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ครั้งนี้คนกรุงเทพฯ จึงไม่ได้โหวตกันด้วยนโยบายที่ออกมาแข่งขันกันแม้แต่น้อย หากแต่ความน่าสนใจกลับเป็นเรื่องของ "Brand" ที่ผู้สมัครแต่ละคนวาง Positioning ในตลาดการเมือง ไม่ว่าจะเป็นชัชชาติผู้แข็งแกร่ง พี่เอ้ของคนกรุงเทพฯ หรือ วิโรจน์ผู้ท้าชนทุกสถาบัน 
 

เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ กลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเสนอ Product ที่มิใช่นโยบาย แต่กลับเป็นผู้สมัครเองที่ถูกนำเสนอและวางขายในตลาดเลือกตั้งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ประการที่สี่ การเติบโตทางการรับรู้และจิตสำนึกแห่งประชาธิปไตยของชาวกทม.เริ่มมีความชัดเจนขึ้น จากหลักฐานที่เห็นว่า นโยบายอาจจะไม่สำคัญเท่าใดนัก หรือเสียงจัดตั้งเริ่มไม่เห็นผล จึงทำให้เราเห็นว่า คนกรุงเทพฯ เริ่มมีพัฒนาการโดยการเลือกจากอุดมการณ์ทางการเมือง (Ideology) แล้ว พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะตัวแทนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบทุนนิยมชนชั้นนำเสื่อมมนต์ขลังในเมืองกรุง ในขณะเดียวกัน อุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยที่ลดบทบาทสถาบันเริ่มสูงขึ้น จากจำนวนเยาวชนที่มีสิทธิเลือกตั้งเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ ความต้องการลดความขัดแย้งทางการเมือง ก็เป็นอุดมการณ์ หรือ แนวคิดหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ เห็นจากคุณชัชชาติ เพราะฉะนั้น การโจมตีหรือสร้างความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสีต่างๆ หรือสลิ่มกับสามกีบจะค่อยๆ ลดบทบาทลงไปไม่ช้าก็เร็ว
 

และประการสุดท้าย ดังเช่นผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนๆ ทั้ง พลตรีจำลอง คุณสมัคร คุณชายสุขุมพันธุ์ คุณชัชชาติ จะต้องแบกรับความคาดหวังของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจนหลังแอ่นเลยทีเดียว ช่วงฮันนีมูนของคุณชัชชาติอาจจะมีสักช่วงหนึ่ง แต่หลังจากนั้น หากคุณชัชชาติไม่สร้างผลงานที่ประทับใจตามความคาดหวังของคนกรุงแล้วละก็ จุดจบทางการเมืองก็คงเป็นเหมือนทั้งสามท่านอย่างแน่นอน
 

สุดท้ายนี้ ผมขอให้คุณชัชชาติทำงานลุล่วงตามที่ได้รับปากไว้ตอนหาเสียง และขอให้รักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อรอเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยให้ได้นะครับ