ลูกอิสานแห่งลุ่มน้ำอิยะวดี ตอนสุดท้าย

02 พ.ค. 2565 | 05:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในช่วงที่กำลังสนุกสนานกับการสร้างธุรกิจใหม่ แม้จะเป็นช่วงที่มีชีวิตชีวาที่สุด การแสวงหาช่องทางการจัดจำหน่าย ด้วยกลยุทธต่างๆ ได้ถูกนำออกมาใช้อย่างถูกวีธี ลูกค้าเริ่มหลั่งไหลเข้ามาหา แต่ก็มีไม่น้อยที่สร้างความปวดเศีษรเวียนเกล้าให้แก่คุณศักดิ์อยู่เป็นประจำเช่นกัน เนื่องจากสินค้าการเกษตร มีปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตและการจำหน่ายไม่น้อย เช่น ฤดูกาลเพาะปลูก ฤดูการเก็บเกี่ยว โรคพืชต่างๆ แมลงที่ไม่เคยได้พบเห็นในประเทศไทย และราคาที่ได้รับจากการขาย ทำให้เกษตรกรเอง แม้ไม่อยากจะเป็นหนี้เป็นสิน แต่ก็มักจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เสมอ
 

คุณศักดิ์เล่าว่า เกษตรกรที่นี่ส่วนใหญ่จะน่ารักมาก แต่ก็มีไม่น้อยที่ชอบเบี้ยวหนี้ บางคนเมื่อนำเอาเมล็ดพันธุ์พืชกับปุ๋ยเคมีไปใช้ในการเพาะปลูก เมื่อครบเวลาเก็บเกี่ยวเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ ถึงกับต้องขนเอาข้าวโพดมาให้ถึงบ้าน เพื่อเป็นการใช้หนี้ทดแทนเงิน คุณศักดิ์เห็นแล้วถึงกับอึ้งไปเลย เพราะไม่รู้จะเอาข้าวโพดเหล่านั้นมาใช้ทำอะไรหมด เพราะมันมากมายเกินกว่าจะรับประทานในครอบครัวเดียวหมด แม้จะเอาไปฝากเพื่อนๆ  ก็ยังไม่สามารถทานได้หมดสิ้น จึงเป็นภาระอย่างยิ่ง จนต้องบอกเกษตรกรไปว่า ไม่ต้องเอามาให้ก็ได้ ไว้ปีหน้าฟ้าใหม่ เมื่อผลผลิตดี ค่อยมาใช้หนี้คืนก็แล้วกัน
 

ส่วนการทำงานด้านมวลชน ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป ด้วยการลงพื้นที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก โดยคุณศักดิ์จะเลือกเอาหมู่บ้านที่มีพนักงานมีถิ่นลำเนาในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งก็จะทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อปีที่ผลผลิตราคาที่สูง ก็จะมีการเกทับบั๊บแหลกกัน เป็นที่สนุกสนานและอิจฉาตาร้อนกัน ผลที่ตามมาคือเกษตรกรในหมู่บ้าน ก็มักจะบอกให้ลูกหลานมาของตนเอง มาสมัครงานที่บริษัทใหม่ของคุณศักดิ์ เพื่อที่จะได้รับการส่งเสริมในด้านเพาะปลูกพืชผลนั่นเอง
 

คุณศักดิ์เล่าว่า เมื่อเสียงลือเสียงเล่าต่อๆ กันออกไป พนักงานบริษัทก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถรับคนใหม่เพิ่ม ทำให้ค่าจ้างแรงงาน ไม่ใช่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พนักงานต้องมาเกี่ยงงอนกับบริษัทอีกต่อไป เพราะถ้าหากแรงงานคนนั้นลาออก ก็จะมีแรงงานคนใหม่ที่รอเข้าคิวเข้ามาทำงานอีกไม่ขาดสายนั่นเอง นี่คือผลพลอยได้ของการลงพื้นที่ไปส่งเสริมการทำการเกษตรของประเทศนี้ ซึ่งไม่มีทางที่จะได้เห็นในประเทศไทยแน่นอน
 

เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ความสุขและความสนุกสนานยังคงมีต่อไปอย่างไม่ขาดหาย คุณศักดิ์เองก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดยั้งการเดินหน้าทางธุรกิจ จึงได้ชักชวนให้ศรีภรรยาเดินทางไปเมียนมา เพื่อจะได้อยู่ร่วมกัน ไม่ต้องแยกกันอยู่อีกต่อไป เมื่อภรรยาเดินทางไปอยู่ด้วย สิ่งต่างๆ ที่ดีงามก็เกิดขึ้นในครอบครัวมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของลูก และสถานะทางการเงินที่มั่นคงมากขึ้น คุณศักดิ์ยังได้ให้ศรีภรรยาหางานที่ตนเองถนัด เช่นการทำขนมและอาหารบางประเภททำเพื่อจำหน่ายในตลาดเมียนมา เพื่อจะได้ไม่รู้สึกเหงา จึงเริ่มมีการซื้อเครื่องจักรทุนแรงในการทำขนมขาย โดยส่งเครื่องจักรจากประเทศไทย เข้าไปที่บ้านคุณศักดิ์ที่เมืองย่างกุ้ง และได้เริ่มผลิตขนมออกสู่ตลาดขาย 

 

ชีวิตเริ่มมีความสุขและมีชีวิตชีวาได้ไม่นาน เมื่อวันหนึ่งก็มาถึง คุณศักดิ์และครอบครัวเดินทางกลับมายังประเทศไทย เพื่อพักผ่อนเยี่ยมญาติและบุตรสาว ปรากฎว่ากลับมาได้เพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯและเมืองย่างกุ้ง ในขณะที่บ้านพักที่เมืองย่างกุ้ง คุณศักดิ์ก็มีแม่บ้านและคนงานอาศัยอยู่อีกหลายชีวิต แต่ตนเองก็ไม่สามารถเดินทางกลับไปได้ ทำให้ต้องใช้การสั่งการโดยโทรศัพท์
 

วันเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเข้าสู่ประเทศเมียนมา สถานการณ์ของโรคระบาดยังไม่ทันจางหาย การเมืองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกระหน่ำเข้ามาอีก ยิ่งทำให้เกิดการระส่ำระสายอย่างไม่หยุดยั้ง แต่คุณศักดิ์ก็ไม่สามารถที่จะเดินทางเข้าไปได้ ก็มีเพียงฝากให้ลูกน้องคนสนิท ดูแลกิจการต่อไปให้ เพื่อรอวันที่ฟ้าเปิดอีกครั้ง
 

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่วันที่จะล่มสลายเสียเลยทีเดียว เพราะสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมไม่มีใครอยากให้เกิด ก็คงเหมือนฟ้าลิขิต หากวันที่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด หรือวันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองนั้น คุณศักดิ์ยังคงอาศัยอยู่ที่เมียนมา ทุกอย่างก็คงจะไม่สามารถคาดเดาได้ นี่คงเป็นเพราะฟ้ากำหนดให้ต้องเดินทางกลับมาเมืองไทยบ้านเกิด ก่อนที่จะประสบกับปัญหาร้ายแรงยิ่งกว่านี้ก็เป็นได้ครับ 
 

เรื่องราวของหนุ่มนักสู้ชีวิตจากอิสาน ที่เข้ามาสู่ประเทศเมียนมาในลุ่มน้ำอิยะวดี แม้จะต้องจบการเล่าลงเพียงตอนนี้ แต่ชีวิตก็จะต้องยังคงดำเนินต่อไปครับ