“เขากระโดง” บุรีรัมย์ “พื้นที่รัฐอิสระ” เหนือใคร!

28 เม.ย. 2565 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2565 | 08:33 น.
2.1 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

     ยังคงเกาะติดข้อพิพาทในเรื่องที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับคนการเมือง และถึงแม้ว่าศาลฎีกาจะพิพากษาตัดสินว่าเป็นการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่จนบัดป่านนี้ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ แถมหน่วยงานรัฐ คือ การรถไฟฯ กลับมาฟัดกรมที่ดิน ด้วยการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง และเรียกค่าเสียหายด้วย

 

     ที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์และโฉนดบริเวณเขากระโดง 5,083 ไร่ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ แต่ทำอะไรไม่ได้มายาวนาน เสมือนเป็นรัฐอิสระ เหมือน “สำนักวาติกัน” มีความเป็นมาอย่างไร ผมจะพามาถอดความจากเอกสารราชการ 2 ชุดเท่าที่จะหาได้ดังนี้

 

     14 กันยายน 2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหนังสือถึง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขอให้ดําเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ โดยได้แนบรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารประกอบ 252 แผ่น ให้พิจารณา ความว่า... 

     ด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน นายบัญชา คงนคร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กับพวก ว่ากระทําความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่ หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ โดยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดําเนินการกับผู้บุกรุก ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กรณี นายชัย ชิดชอบ ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ นางกรุณา ชิดชอบ ถือกรรมสิทธิ์โฉนดที่ดินเลขที่ 8564 ตําบลอิสาณ อําเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับไว้พิจารณาโดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและรวบรวม พยานหลักฐาน พร้อมทั้งจัดทําสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา

 

     คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาสํานวน การไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติ ดังนี้

 

     1. การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดิน ดําเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 94

 

     2.กรณีกล่าวหา นายบัญชา คงนคร และพนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า บุคคลดังกล่าวได้ละเว้นไม่ดําเนินการกับผู้บุกรุกที่ดิน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามที่ถูกกล่าวหา

 

ข้อกล่าวหาไม่มีมูล : ให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

“เขากระโดง” บุรีรัมย์ “พื้นที่รัฐอิสระ” เหนือใคร!

     3. กรณีปรากฏพยานหลักฐานว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย

 

     • นายสมัย โฮมภิรมย์ และ นายวินัย สดแสงจันทร์ (นายประหยัด เทอดไทย และ นายพยิน ขยันสํารวจ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด . . . ได้ถึงแก่ความตายแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับเรื่อง สิทธินําคดีอาญามาฟ้อง ได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จําหน่ายเรื่องออกจากสารบบเรื่องกล่าวหา

 

     • นายกริช เกตุแก้ว และ นายวรจันทร์ อินทรกฤษณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ลงนามออกโฉนด ได้เกษียณอายุราชการเมื่อปี 2530 และเมื่อก่อนปี 2520 ตามลําดับ ก่อนมีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเป็นเวลาร่วม 20 ปี และ 30 ปี ตามลําดับ

 

     ในทางวินัยไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดําเนินการทางวินัยได้ และในทางอาญา คดีขาดอายุความแล้วก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับเรื่อง

 

     ดังนั้น สิทธินําคดีอาญามาฟ้อง ได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ให้จําหน่ายเรื่องออกจากสารบบเรื่องกล่าวหา

 

     • นายชัย ชิดชอบ และ นายประพันธ์ สมานประธาน ผู้ขอออกโฉนด มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน  ดําเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 โดยมิชอบ ซึ่งนับแต่วันกระทําความผิดถึงวันที่พนักงานสอบสวน ได้รับคําร้องทุกข์ กล่าวโทษ เป็นเวลากว่า 30 ปี คดีขาดอายุความแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับเรื่อง

 

     ดังนั้น สิทธินําคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ให้จําหน่ายเรื่องออกจากสารบบเรื่องกล่าวหา

 

     สําหรับ นางกรุณา ชิดชอบ ซึ่งซื้อที่ดินตามโฉนดเลขที่ 8564 เมื่อปี 2540 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบแต่อย่างใด ให้ข้อกล่าวหาตกไป

 

“เขากระโดง” บุรีรัมย์ “พื้นที่รัฐอิสระ” เหนือใคร!

 

     ทั้งนี้ ให้แจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทยพิจารณาดําเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

 

     จึงขอส่งเรื่องมาเพื่อโปรดดําเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยดังกล่าว เมื่อดําเนินการได้ผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณมากหนังสือดังกล่าว ลงนามโดยนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.

 

     ฉบับที่สอง เป็นหนังสือหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการร้องขอให้ศาลมีคําสั่งเพิกถอนโฉนด ตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นหนังสือตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึง อธิบดีกรมที่ดิน โดยอ้างถึง  หนังสือกรมที่ดิน ด่วนมาก ที่ มท 0505.2/8982 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ความว่า...

 

     ตามหนังสือที่อ้างถึง แจ้งว่า กรมที่ดินได้หารือกรณีที่สํานักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้ กรมที่ดินดําเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดิน เลขที่ 3466 และ 8565 ตําบลอิสาณ อําเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 99  แห่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งกรณีดังกล่าว อธิบดีกรมที่ดินได้ดําเนินการตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติให้เฉพาะอธิบดี หรือ รองอธิบดีผู้ที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีมีอํานาจดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการให้ครบถ้วนโดยเร็ว เพื่อมีคําสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทําประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่จําต้องใช้สิทธิทางศาลไว้แล้ว

 

     แต่อธิบดีกรมที่ดินมีความเห็นว่าที่ดิน ทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ไม่อาจรับฟังได้ว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ความเห็นของกรมที่ดินจึงขัดแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงทําให้มีปัญหา ในทางปฏิบัติ

 

     กรมที่ดิน จึงขอหารือว่า 1. การที่กรมที่ดินพิจารณาดําเนินการเกี่ยวกับเรื่องเพิกถอนโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เป็นไปตามนัยมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วพิจารณาเห็นควรไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีจะเป็นการโต้แย้งหรือขัดต่อหลักการตราจสอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ ประการใด

 

     2. เมื่อกรมที่ดินพิจารณาเห็นควรไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องดําเนินการส่งเรื่องเพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง ดังกล่าวตามนัยมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต หรือไม่ ประการใด และหากจะต้องดำเนินการตามนัยมาตรา 99 ดังกล่าวกระบวนการขั้นตอนเป็นอย่างไร จะสามารถดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้หรือไม่ ประการใด

 

     3. เนื่องจากการฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย ตามนัยมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้นหากจะต้องมีการดําเนินการส่งเรื่องให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวซึ่ง สำหรับกรณีนี้ผู้เสียหายควรเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีกรณีออกโฉนดที่ดิน ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช่หรือไม่ ประการใด ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

 

     สํานักงานอัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 นั้น กฎหมายประสงค์จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนํารายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติหรืออนุญาตให้สิทธิประโยชน์หรือออกเอกสารสิทธิแก่ บุคคลใดไป โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการ ฟ้องหรือร้องต่อศาลเพื่อมีคําสั่งหรือมีคําพิพากษาให้ยกเลิกเพิกถอนสิทธิหรือเอกสารสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติหรืออนุญาต

 

     จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือผู้ได้รับความเดือดร้อนจะต้องนํารายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องต่อศาลที่มีอํานาจเพื่อมีคําสั่งหรือ คําพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่พิพาทสองแปลงดังกล่าวต่อไป

 

     “หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ก็คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเป็นผู้มีอํานาจ ฟ้อง โดยไม่จําเป็นต้องนํารายงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวเสนอต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้มีอํานาจหน้าที่ดําเนินการเพิกถอนพิจารณา ดําเนินการก่อน”

 

     ดังนั้น การที่อธิบดีกรมที่ดินเห็นควรไม่เพิกถอนโฉนด ย่อมไม่มีผลทางกระทบต่อการที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ การรถไฟแห่งประเทศไทยที่จะฟ้องหรือร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอน โฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 99 และไม่เป็นการโต้แย้งหรือขัดต่อหลักการตรวจสอบของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542

 

     เนื่องจากเหตุในการฟ้องร้องต่อศาล เป็นไปตามรายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่วนการพิจารณาของอธิบดีกรมที่ดินเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนด ซึ่งเป็นคนละเหตุไม่เกี่ยวข้องกัน

 

     อย่างไรก็ตาม กรมที่ดินมีหน้าที่ต้องแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อทราบผลการ พิจารณาของอธิบดีกรมที่ดินที่ไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท และแจ้งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดําเนินการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542มาตรา 99 ต่อไป

 

     จึงเรียนมาเพื่อทราบ ลงนามโดย นายภราดร ศรีศุภรางค์กุล รองอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการแทน อัยการสูงสุด และนายประภัสสร สืบเหล่ารบ ผู้อํานวยการสํานักกฎหมาย

 

     ทัศนาในรายละเอียดแล้ว ช่วยกันตอบหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติละเว้นให้ผู้บุกรุกมีอภิสิทธิ์พิเศษเหนือใครทั้งๆ ที่เป็นที่ดินของรัฐ  ....Please