มุมมองของคนญี่ปุ่นในการดูแลผู้สูงอายุ

09 เม.ย. 2565 | 06:30 น.
1.8 k

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสประชุมออนไลน์กับผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณ ซึ่งมีร่วมประชุมอยู่ท่านหนึ่ง ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่เป็นบุคคลที่มาจากกลุ่ม NGO ที่ดูแลด้านสวัสดิการผู้สูงอายุโดยเฉพาะ 


เสียดายที่เป็นช่วงท้ายๆ ของการสนทนา จึงเหลือเวลาไม่มากนัก ที่ให้ท่านได้เล่าเรื่องของบ้านพักคนวัยเกษียณ แนวคิดหรือมุมมองของคนญี่ปุ่นที่มองเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ว่าเขามีมุมมองอย่างไร? แต่ก็ได้อะไรมาบ้าง? ก็จะขออนุญาตนำมาเล่า เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทย เผื่อว่าท่านอยากจะดำเนินธุรกิจนี้บ้าง 

ต้องขอเรียนว่าข้อมูลทั้งหมดที่นำมาเล่านี้ มีบางส่วนที่ผมได้ค้นคว้าจากเว็บไซต์ของญี่ปุ่นมา แล้วมาผสมกับความรู้ที่ได้จากท่านผู้เชี่ยวชาญที่เกริ่นนำข้างต้นนี้ด้วยครับ
      

ที่ญี่ปุ่นเขาจำแนกผู้สูงอายุออกเป็นหลายหมวดหมู่ (Category) มาก จึงมีการจัดการที่พักอาศัย อาหารการกิน การบริบาล และสันทนาการต่างๆ ก็จะแตกต่างกันออกไป คนที่มีอาการที่หนักที่สุด และดูแลยากที่สุดคือกลุ่มอัลไซเมอร์ หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหลายนั่นแหละครับ 
 

เพราะกลุ่มนี้จะไม่สามารถควบคุมความทรงจำของตนเอง อีกทั้งมักจะไม่มีสติสัมปชัญญะที่ดี นึกอยากจะทำอะไรก็ทำ บ้างครั้งทำแล้วก็บอกว่าไม่ได้ทำ ขี้หลงขี้ลืมในชั่วเวลาสั้นๆ เวลาพูดจาก็ดูเหมือนปกติ แต่ก็ไม่ปกติอยู่ดีครับ 


ดังนั้นจะดูแลยากที่สุด จึงต้องมีการวางตัวผู้บริบาลในการดูแลไว้อย่างเข้มงวด ไม่ให้ละสายตาได้เลย ในส่วนของผู้บริบาลก็ต้องเข้าใจว่า เขาไม่ใช่พยาบาล เพราะพยาบาลคือทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วย และเป็นผู้ช่วยแพทย์ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย 


ในขณะที่ผู้บริบาลคือผู้ที่จะอยู่ดูผู้ที่ยังไม่ได้ป่วย แต่กำลังจะเข้าสู่วัยที่จะต้องเจ็บป่วยในอนาคต อีกทั้งยังต้องทำหน้าที่พยายามไม่ให้ผู้สูงอายุ มีอาการป่วยเข้ามาแทรกแซงร่างกาย 


ดังนั้นการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงต้องใช้ความมานะอดทนต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้ถูกดูแลให้ดี และจะต้องพยายามให้ผู้ถูกดูแลทำการป้องกันอาการไม่พึงปรารถนาที่จะมาเบียดเบียน ด้วยการทำกายภาพบำบัด การทำกายบริหารเป็นต้น 


นอกจากนี้ยังต้องดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่ถูกดูแล ให้มีความสุขในการใช้ชีวิตบั้นปลายให้มีความสุขที่สุดนั่นเอง เห็นมั้ยละครับว่า พยาบาลกับผู้บริบาลนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงครับ  
     

ด้านผู้สูงอายุหรือผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ เขาจะแบ่งช่วงเวลาของชีวิตออกเป็น 4 ระดับด้วยกัน คือระดับที่ 1 กลุ่ม Independent Living นั่นคือกลุ่มที่มีอายุหลังเกษียณแล้ว แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ 


ส่วนระดับที่ 2 คือกลุ่ม Assisted Living กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่เริ่มมีอาการป่วยบ้าง ตามวัยของตน แต่ก็ยังสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องคนดูแลมากจนเกินไป ระดับที่ 3 คือกลุ่ม Long term Care กลุ่มนี้คือกลุ่มที่จะต้องถูกดูแลเป็นพิเศษ เพราะเริ่มมีอาการถือไม้เท้ายอดทองแล้วละครับ 


บางท่านก็อาจจะเริ่มมีโรคประจำตัวอันไม่พึงประสงค์ หรือบางท่านอาจจะมีอาการอัลไซเมอร์เข้ามาแทรกซ้อนอยู่ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษนั่นเอง ระดับสุดท้ายคือกลุ่ม Bedridden Senior กลุ่มนี้พูดง่ายๆ คือคนป่วยติดเตียงนั่นแหละครับ 


ซึ่งถ้ามองจากบุคคลที่ไม่มีความเข้าใจ ก็จะบอกว่าดูแลง่าย เพราะเขาจะไม่สามารถฟ้องลูกหลานได้ว่า ถูกผู้บริบาลดูแลอย่างไร เพราะไม่สามารถพูดได้แล้ว นอนติดเตียงอย่างเดียว ในสังคมไทยเราจะเห็นว่ามีการว่าจ้างเด็กดูแลพิเศษมาคอยดูแล 


แต่ที่ญี่ปุ่นเขาจะให้ความสำคัญต่อผู้สูงอายุกลุ่มนี้มาก เพราะเขาเห็นว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ อีกทั้งหากให้การดูแลอย่างถูกวิธี จะทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีความสุขในยามที่จะต้องจากโลกนี้ไป ดังนั้นทางด้านจิตใจและทางด้านร่างกาย จะต้องใช้ผู้บริบาลที่มีใจเมตตา มีความสามารถพิเศษ มีความเข้าใจในการดูแลจริงๆเข้ามาดูแล ดังนั้นจึงแตกต่างจากที่คนทั่วไปเข้าใจเลยครับ
        


อย่างไรก็ตามที่ประเทศญี่ปุ่น หากจะเข้าไปพำนักยังบ้านพักคนวัยเกษียณ เขายังต้องมีการสัมภาษณ์ก่อน อีกทั้งไม่ได้ให้ความสำคัญของการที่ใครจะเข้ามาสมัครก่อนหรือหลัง แต่เขาจะดูถึงลำดับของความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาพำนักเป็นอันดับแรก  


อีกทั้งยังคำนึงถึงสถานการณ์ของครอบครัวว่าจำเป็นที่จะต้องมีคนดูแลระยะยาวได้หรือไม่? นอกจากนี้ยังต้องดูสภาพร่างกายว่า มีความจำเป็นที่จะต้องรีบเร่งในการดูแลรักษาหรือไม่อีกด้วย 


นอกจากนี้สถานบ้านพักคนวัยเกษียณ ยังมีแบ่งแยกออกเป็นหลายประเภท เช่นบ้านที่เป็นคล้ายสถานพยาบาล บ้านคนสูงอายุเป็นกลุ่ม บ้านที่เป็นบ้านพักเดี่ยว เป็นต้น
      

จะเห็นว่าเขาให้ความสำคัญในการดูแลผุ้สูงอายุมาก ซึ่งในประเทศไทยเรายังมีวิวัฒนาการที่ห่างไกลกับเขาอย่างมาก ในขณะเดียวกันบ้านเรายังคงให้ความสำคัญที่จะให้ผู้สูงอายุ อยู่ในความดูแลของบุตรหลานในครอบครัวเท่านั้น ยังไม่อยากให้ไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักคนวัยเกษียณ 


เพราะยังมีความเชื่อว่า จะเป็นการทอดทิ้งบุพการี ซึ่งจะทำให้ถูกมองว่าไม่กตัญญูหรือเนรคุณต่อบิดา-มารดา ซึ่งหากมองดูไปไกลๆ สังคมก็กำลังมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะเศษรฐกิจในอนาคต ต่อไปในภายภาคหน้าอันใกล้นี้ เราคงจะไม่สามารถปฏิเสธบ้านพักคนวัยเกษียณนี้ได้แน่นอนครับ