หัวหน้าพรรค กับ หัวหน้าครอบครัว

30 มี.ค. 2565 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2565 | 22:03 น.
1.2 k

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในการจัดกิจกรรมทางการเมือง ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้มีการบัญญัติศัพท์ทางการเมืองขึ้นมาใหม่ และประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่า บุตรสาวของอดีตหัวหน้าพรรค ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย คือ "หัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย" ที่จะมานำครอบครัวของพรรคๆ นี้ไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือชนะแบบท่วมท้นว่างั้นเถอะ หลายท่านคงนึกแปลกใจกับสิ่งที่พรรคนี้อ้างว่าเป็น "นวัตกรรมใหม่ทางการเมือง" จากกุนซือพรรคนั้น ซึ่งในที่สุดแล้วการเลือกตั้งจะชนะแบบแลนด์ไสลด์ หรือจะแล่นไถลตกเหวไม่นานคงได้รู้กันว่า ลูกสาวจะมีค่าทางการเมืองขายได้กับคนไทยหรือไม่ หรือจะจบลงด้วยพ่อแม่รังแกฉัน


อันที่จริงแล้ว คำว่า "หัวหน้าครอบครัวของพรรค" นั้น ในทางการเมืองเขาไม่ค่อยใช้กัน เพราะน่าจะเข้ากันไม่ได้เลยกับระบบของพรรคการเมือง เพราะ "พรรคการเมือง" หมายความถึง กลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่สอดคล้องกัน มารวมกันเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติ ซึ่งมิใช่กิจกรรมในครอบครัว

ด้วยเหตุนี้ จึงจะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีบทบาทและความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญของไทย เนื่องจากพรรคการเมืองคือสถาบันหลักที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่าง "ภาครัฐ" กับ "ภาคประชาชน" โดยที่พรรคการเมืองจะเป็นผู้นำปัญหาหรือความต้องการของประชาชน มาแปลงเป็นนโยบายของพรรค เพื่อนำนโยบายเหล่านั้นไปปฎิบัติเมื่อได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร


โครงสร้างการจัดตั้งและการบริหารจัดการของพรรคการเมือง จึงมีลักษณะเป็นองค์กรของมหาชน และโดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกฉบับ ล้วนมุ่งเน้นและต้องการให้พรรคการเมือง เป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักของระบอบประชาธิปไตย แบบประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในทุกๆ ขั้นตอนของการบริหารจัดการพรรค และการคัดสรรบุคคลให้เป็นผู้สมัครของพรรคในการเลือกตั้งในทุกระดับ 

สรุปก็คือ พรรคการเมืองต้องเป็นองค์ประชาธิปไตย มิใช่องค์กรแบบครอบครัว ที่มีพ่อบ้านหรือหัวหน้าครอบครัวเป็นผู้บงการและมีอำนาจเด็ดขาดแต่ผู้เดียว รัฐจึงมีกองทุนส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง ทั้งยังส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชน สามารถบริจาคเงินจากการที่ต้องเสียภาษีส่วนหนึ่ง สนับสนุนพรรคการเมืองได้อีกด้วย โดยแจ้งระบุชื่อพรรคการเมืองที่ตนต้องการสนับสนุนในการยื่นเสียภาษีเงินได้ประจำปี


นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 พรรคการเมืองต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบาย และข้อบังคับของพรรคการเมือง มติของที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รวมตลอดถึงระเบียบ ประกาศ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยต้องให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมและรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการคัดเลือกสมาชิกหรือบุคคล ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมและจริยธรรม เข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือตำแหน่งอื่น หรือเพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กิจกรรมดังกล่าว จึงมิใช่การมุ่งดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งแต่อย่างใด


บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการทั้งหลายอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก และหัวหน้าพรรคยังถือเป็นผู้นำสูงสุดของพรรค เป็นประธานของคณะกรรมการบริหารพรรคในการประชุม ซึ่งต้องมีฐานะสูงกว่าประธานที่ปรึกษา หรือสูงกว่าลูกสาวอดีตหัวหน้าพรรค หรือสูงกว่าหัวหน้าครอบครัวอย่างแน่นอน หัวหน้าพรรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพรรค ในการสร้างความนิยมศรัทธาที่ประชาชนจะมีต่อพรรคการเมืองนั้นๆ


แต่ปรากฏว่า ในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ของพรรค ถ้าหัวหน้าพรรคต้องพินอบพิเทา ที่ปรึกษาที่เป็นลูกสาวอดีตหัวหน้าพรรค ต้องเดินกุมเป้า คลุกเข่าเข้าหาหัวหน้าครอบครัว หัวหน้าพรรคท่านนั้นๆ ก็หมดบารมี ขาดความมีสง่าราศีในพรรคและในสายตาประชาชนโดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังสะท้อนภาพทางการเมืองให้เห็นว่า อำนาจการนำที่แท้จริงของพรรคการเมืองนี้อยู่ที่ใคร ระหว่างหัวหน้าพรรคกับหัวหน้าครอบครัว เป็นการนำที่ทับซ้อนการนำกันเองหรือไม่ ระหว่างหัวหน้าพรรคกับหัวหน้าครอบครัว จนไม่รู้ว่าใครใหญ่กว่าใครกันแน่ 


และสะท้อนให้เห็นลึกลงไปอีกว่า พรรคๆ นี้เป็นพรรคในระบอบประชาธิปไตย หรือพรรคระบอบเผด็จการในครอบครัว เมื่อบรรยากาศภายในพรรคก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว พรรคการเมืองก็เป็นเพียงพรรคของเถ้าแก่เจ้าของพรรค เป็นพรรคการเมืองแบบครอบครัว ของตระกูลใดตระกูลหนึ่งเท่านั้น 


เช่นนี้แล้ว สมาชิกพรรคทั้งหลาย หัวหน้าพรรค จะไปแหกปากร้องตะโกน อภิปรายปราศรัย ชี้หน้าคนอื่นว่าเป็นพรรคเผด็จการ พรรคของตนเป็นฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างไร เพราะความเป็นจริง ประชาธิปไตยภายในพรรคการเมืองของตนยังไม่มีเสียแล้ว หัวหน้าพรรคก็เป็นได้แต่เพียงหุ่นเชิด จะไปสร้างประชาธิปไตยให้กับประเทศชาติและประชาชนได้อย่างไร


ที่พูดที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มิได้ต้องการชม เชียร์ หรือ แช่งใครในทางการเมือง เพราะก็ยังไม่เห็นว่าจะมีพรรคการเมืองใด ดีเลิศประเสริฐศรีดีกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ดูๆ แล้วก็พอๆ กัน มิได้แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่เมื่อเห็นว่า การที่สื่อสำนักต่างๆ พยายามช่วยกันสร้างกระแสให้กับสิ่งที่ไม่ควรให้ราคามากนัก จึงจำเป็นต้องกระตุกเตือนกันบ้าง ไม่อยากให้ประชาชนตกเป็นเครื่องมือหรือเคลิ้มตามกระแส สร้างราคาให้กับคนที่ยังไม่เคยสร้างคุณงามความดีอะไรให้กับบ้านเมือง แต่กำลังถูกปลุกปั้นขึ้นมาเพียงชั่วข้ามคืน หวังกระโดด ข้ามหัวหงอกหัวดำทั้งหลายเพื่อขี้นมาเป็นผู้นำประเทศ 


เห็นแล้วก็ได้แต่สมเพชเวทนาประเทศไทยครับ ว่าบ้านนี้เมืองนี้ จะสิ้นไร้จนหาคนที่ดีมีคุณค่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้เชียวหรือ ถึงจะเอาใครก็ได้ขอมีเงินจ้างผีโม่แป้ง หรือมีเงินทุ่มไปกับการเลือกตั้ง เลี้ยง ส.ส.ไว้ในคอกให้มากพอ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศนี้ได้ 


ถ้าบ้านเมืองจะตกต่ำถึงขนาดนั้น ก็อย่าเรียกตนเองว่าคนไทยเลยครับ เพราะคนไทยต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นอิสระ รู้สำนึกผิดขอบชั่วดี แยกแยะถูกและผิดกันได้ และคนไทยควรอยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติครับ อย่าทำให้ประเทศไทยต้องไร้ค่าต่อไปอีกเลย