10 มาตรการลดค่าครองชีพ บอกเลิก“ตรึงดีเซลลิตรละ 30”

23 มี.ค. 2565 | 14:27 น.
อัปเดตล่าสุด :23 มี.ค. 2565 | 21:37 น.
782

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

หลังจากเฝ้ารอมานาน ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 22 มีนาคม 2565 มีมติเห็นชอบ 10 มาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันแพง และสถานการณ์วิกฤติยูเครนและรัสเซีย เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.2565
 

โดยเป็นมาตรการเกี่ยวกับก๊าซหุงต้ม มี 2 มาตรการ คือ 1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน 2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน
 

มาตรการเกี่ยวกับน้ำมัน-ก๊าซขนส่ง อีก 3 มาตรการ คือ มาตรการที่ 3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบก กำกับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ให้ตรึงราคาค่าบริการ เพื่อให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม 4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม
 

ด้านมาตรการดูแลค่าไฟฟ้า 1 มาตรการ คือ มาตรการที่ 6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม
 

มาตรการดูแลโครงสร้างราคาน้ำมัน-ก๊าซ 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง  8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้ม ในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป
 

ขณะที่มาตรการระบบประกันสังคม 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 9.ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้าง ที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างมีกำลังในการใช้จ่าย และนายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจช่วงถัดไป 10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
 

มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนข้างต้น พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หาบเร่แผงลอยที่ต้องใช้ก๊าซประกอบอาหาร มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนขับแท็กซี่  ผู้ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเพื่อการเดินทางขนส่ง คนใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าเดือนละ 300 หน่วย เป็นต้น ในอัตราใกล้เคียงกับราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม หรือค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้น ช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในสังคม
 

ขณะเดียวกันมาตรการที่ 7 การดูแลโครงสร้างราคาน้ำมัน-ก๊าซ ที่ขีดเส้นกำหนดการตรึงน้ำมันดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท จากเดิมไม่กำหนดสิ้นสุด มาเป็นถึงเพียงสิ้นเดือนเม.ย. 2565 จากนั้นรัฐจะช่วยดูแลราคาส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง ส่งสัญญาณว่าเตรียมเลิกเพดานราคาดีเซลอย่างตายตัว หันมาเพิ่มความยืดหยุ่น โดยยอมปล่อยให้ดีเซลมีสิทธิทะลุเกินลิตรละ 30 บาทได้ในอนาคต เปลี่ยนเป็นช่วยดูแลราคาส่วนเกินครึ่งหนึ่งแทน
 

เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับหลักการของกองทุนน้ำมัน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความผันผวนของราคาให้ผู้เกี่ยวข้องปรับตัวทัน หาใช่เพื่อตรึงราคาไว้ที่จุดใดจุดหนึ่งอย่างไม่มีสิ้นสุด ที่อาจกลายเป็นภาระก้อนใหญ่ และหากสุดอั้นท้ายสุดกลายเป็น “เขื่อนแตก” ที่สร้างความเสียหายแบบควบคุมไม่ได้ในที่สุด