โลกหลังศึกรัสเซีย-ยูเครน ชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม

12 มี.ค. 2565 | 07:00 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 15:10 น.
2.1 k

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

คลื่นความปั่นป่วนจากศึกรัสเซีย-ยูเครน กระแทกถึงครัวเรือนคนไทยอย่างชัดเจนในช่วงนี้ เมื่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนต้องโกลาหลต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นราคาน้ำมันต่อเนื่องโดยบางวันปรับขึ้นถึงลิตรละ 2 บาท และการตรึงดีเซลที่ลิตรละไม่เกิน 30 บาท ทะลุกรอบ จนรัฐต้องอุดหนุนเพิ่มเพื่อดึงกลับ ซึ่งเป็นภาระหนักที่นายกฯรับว่า “จะตรึงไว้จนกว่าจะไม่ไหว” ขณะที่เจ้าของรถพากันเข้าแถวรอเข้าปั๊มเพื่อตุนน้ำมันก่อนปรับราคาขึ้นกันยาวเหยียด 
 

เช่นกันราคาทองคำก็ถีบตัวสูงลิบทำสถิติใหม่ และมีการปรับราคาระหว่างวันไม่หยุด โดยราคาทองรูปพรรณของร้านทองขึ้นสูงสุดที่ 32,550 บาท และรับซื้อที่ 31,381 บาท ต่อบาททองคำ เมื่อวันพุธที่ 9 มี.ค.2565 จนชาวบ้านแห่นำสร้อยแหวนเครื่องประดับทองคำออกขายเป็นแถวยาวล้นไปบนถนน 

ซ้ำเติมด้วยของกินของใช้ในชีวิตประจำวันที่ปรับขึ้นราคากันเป็นแถว ทั้งไข่ไก่ที่ผู้เลี้ยงขอปรับขึ้นราคาหน้าฟาร์มอีกแผงละ 9 บาท จากต้นทุนอาหารสัตว์แพง มะนาวแป้นเข้าหน้าแล้งขึ้นไปที่ลูกละ 7-8 บาท เช่นเดียวกับราคาเนื้อหมูที่สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งปรับขึ้นราคาหมูเป็นอีกกิโลกรัมละ 4 บาท ดันราคาขายปลีกเนื้อหมูขึ้นไปที่กิโลกรัมละ 182 บาท 
 

พายุข้าวยากหมากแพงตั้งเค้า สภาอุตสาสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยตัวเลขความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากระดับ 88.0 เหลือ 86.7 จากการปรับลดของดัชนีชี้วัดทุกตัว ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. ชี้ รัสเซียรบยูเครนกระทบต้นทุนภาคการผลิตให้สูงขึ้น ตามสต๊อกของแต่ละประเภทที่ไม่เท่ากัน ระหว่าง 3-6 เดือน ซึ่งจะกดดันให้ผู้ผลิตต้องขอปรับราคาขึ้นตามต้นทุนใน 3-6 เดือนจากนี้ 
 

ไม่เพียงข้าวของแพงขึ้น ภาวะตลาดยังปั่นป่วนขึ้นลงรวดเร็วอีกด้วย โดยทันทีที่ยูเครนแบะท่าไม่ขอเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มนาโต นับเป็นความคืบหน้าแรกของโต๊ะเจรจาตัวแทนของ 2 ชาติคู่ขัดแย้ง ทำให้บรรยากาศความขัดแย้งผ่อนคลายลง ตลาดหุ้นทั่วโลกดีดขึ้นกันถ้วนหน้า และฝากความหวังโต๊ะเจรจารอบ 3 ที่ยกระดับเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน-รัสเซีย ว่าจะนำไปสู่การยุติการสู้รบในท้ายสุด
 

แม้ศึกจะสงบ แต่จากนี้คือโลกในสถานการณ์สงคราม เมื่อต่างฝ่าย คือระหว่างสหรัฐฯ-ยุโรป ฝ่ายหนึ่ง กับพันธมิตรรัสเซีย-จีน อีกฝ่ายหนึ่ง ต่างได้เรียนรู้ศักยภาพและขีดจำกัด ทั้งของตนเองและคู่ต่อสู้ จากศึกครั้งนี้ ที่จะถูกงัดขึ้นมาใช้สู้กันในรูปแบบต่าง ๆ จากนี้ ที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนผันผวน
 

สหรัฐฯ และยุโรปคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซีย ตัดออกจากระบบโอนเงินโลก รัสเซีย-จีนจับมือสร้างกลไกโอนเงินกันเองขึ้นมา และหันไปใช้ระบบอิงทองคำ สหรัฐฯคว่ำบาตรจีนที่ค้าขายกับรัสเซีย ขู่งดขายชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูง ไม่ต่างจากที่เคยแบนสินค้าไอทีจีน สหรัฐฯ ให้เลิกซื้อน้ำมันรัสเซีย แต่ชาติยุโรปอื่นไม่เอาด้วย เพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย รวมทั้งเป็นเหตุผลที่นาโต้ไม่กล้ายื่นมือมาช่วยยูเครนแบบเต็มตัวที่ผ่านมา 
 

ทรัพยากร เทคโนโลยี และพลังงานจะถูกใช้เพื่อการวัดกำลังและขยายอิทธิพล ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดของความขัดแย้ง เกิดโลกที่แตกร้าว แบ่งฝ่าย สร้างระเบียบกติกาในแบบของตนเอง เป็นโลกที่แม้ไม่มีสงคราม แต่อบอวลด้วยบรรยากาศสงคราม ที่คนในวัยต่ำกว่า 77 ปีลงมา ต่างไม่เคยมีประสบการณ์ตรงนับแต่สิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2  ที่เคยเจอภัยการสู้รบ และความอัตคัตในชีวิตประจำวันอย่างสาหัส
 

เราได้เตรียมตัวสร้างภูมิต้านทานให้พร้อมรับมือ“โลกใหม่” นี้กันแค่ไหน