ทวงความศักดิ์สิทธิ์-ยุติธรรม ให้ประเทศไทยของเรา!

16 มี.ค. 2565 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มี.ค. 2565 | 07:38 น.
1.8 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ประเด็นที่ร้อนฉ่าและโต้เถียงกันอยู่ในระบบยุติธรรมของประเทศไทย ขณะนี้คือ “วาระการดำรงตำแหน่งของประธานศาลรัฐธรรมนูญ” นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2565 (เกิด 1 มีนาคม 2495) นั้น ครบวาระการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วหรือยัง?


การพิจารณาอายุการดำรงตำแหน่ง “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ควรจะยึดตามรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือรัฐธรรมนูญปี 2560 กันแน่!

การตัดสินในเรื่องนี้มีผลผูกพันกับประเทศไทย และมาตรฐานความยุติธรรมในประเทศไทย...ทำไม?


สาเหตุเพราะ หนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องใดมาถึงก่อนหรือเข้ามาหลัง....

ดังนั้น นายวรวิทย์ ซึ่งมีอายุครบ 70 ปีก่อนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 เท่ากับว่า อายุ 70 ปีมาถึงก่อนครบวาระ 9 ปี เพราะนายวรวิทย์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ก.ย.2557 อยู่ในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว 7 ปี 6 เดือน


สาเหตุเพราะ สอง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 7 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี แต่สามารถขยายอายุไม่ให้เกิน 75 ปี ….


อายุการดำรงตำแหน่งของ “ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” นี่แหละที่เป็นปัญหา


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้มีการหารือกัน “นอกรอบ” เพื่อเคลียร์ปัญหามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2565 หลังจากเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญเสนอวาระนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมของศาลรัฐธรรมนูญ


แต่ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เป็นเอกฉันท์ เพราะช่องว่างของรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่เขียนไว้ในกฎหมายแล้วขัดกันอยู่…


ผมทราบมาจากอธิบดีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3-4 คนว่า ในช่วงวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 นี่แหละตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด  


3.ศ.พิเศษ ดร.จิรนิติ หะวานนท์ ผู้ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 4.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ผู้ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 5.นายวิรุฬห์ แสงเทียน ผู้ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 


6. ศ.ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 7.ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 8.นายปัญญา อุดชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 9.นายนภดล เทพพิทักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางราชการ 


จะประชุมพิจารณาในเรื่องนี้อันเป็นรอบที่ 3...


อย่างไรก็ตาม การประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในรอบนี้ มีเงื่อนไขว่า นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ที่มีอายุครบ 70 ปี ไปตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จะต้องไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม!...เด็ดขาด


ขนาดมีเสียงเล็ดรอดออกมาจากย่านศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะว่า ถ้า นายวรวิทย์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เข้าร่วมประชุม จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 3 คน จะไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว..


ซึ่งถ้าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 3 คน ไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว จะทำให้องค์ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญไม่ครบองค์ประชุมตามกฎหมายกำหนด


กฎหมายกำหนดไว้ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องมีองค์คณะ 9 คน และในการประชุมแต่ละคราวไปต้องมีองค์ประชุมอย่างน้อย 7 คน จึงจะครบองค์ประชุมในการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าตุลาการ 3 คน ไม่เข้าร่วมประชุมเพราะยังมีปัญหาว่าด้วยเรื่องการนับอายุของประธานศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้องค์คณะเหลือ 6 คน ประชุมไม่ได้ทันที


เรื่องใหญ่มั้ยละครับพี่น้อง


บ้านเมืองของเรามีการบริหารที่ยึดหลักกับกฎหมาย และการตีความมาตลอด เราไม่เคยมีการบริหารจัดการประเทศที่ยึดเอาจารีตประเพณี สปิริต หรือสร้างมาตรฐานการปฏิบัติมาเป็นตัวตั้งแม้แต่น้อย ทุกอย่างของกฎหมายจึงล้นแต่ต้องยึดเอา “การตีความทางกฎหมาย”มาเป็นสรณะ 


ขัดแย้งกันเมื่อไหร่ก็ต้อง ”ตีความ ตีความ และตีความ” 


ตีความอย่างไรก็มักจะมีข้อถกเถียง ข้อสังเกต ข้อกังขา มาตลอด


เหมือนเช่นกรณีของประธานศาลรัฐธรรมนูญที่ปัจจุบันมีอายุเกิน 70 ปี มา 16 วัน กรณีนี้ความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แบ่งออกเป็น 2 ขั้ว


ขั้วแรก เห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาผสมกับรัฐธรรมนูญปี 2560  ซึ่งนั้นหมายความว่า นายวรวิทย์ สามารถดำรงตำแหน่งในวาระต่อไปครบ 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 และควรขยายอายุการดำรงตำแหน่งจากไม่เกิน 70 ปี เป็นไม่เกิน 75 ปี ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ระบุไว้ในกฎหมาย! 


ขั้วที่สอง เห็นว่า นายวรวิทย์ ได้ประโยชน์จากการสรรหาเป็นตุลาการตามรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงต้องยึดถือตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีวาระในตำแหน่งไม่เกิน 9 ปี หรือต้องอายุไม่เกิน 70 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเรื่องใดมาถึงก่อนหรือเข้ามาหลัง....ปัจจุบันมีอายุเกิน 70 ปีแล้ว


ปัญหาของข้อถกเถียงนี้ควรยุติอย่างไร! ผมไม่รู้ 


ผมรู้แต่เพียงว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญควรสร้างบรรทัดฐานของการตัดสินคดี


เพราะศาลรัฐธรรมนูญ (Constitution Court) ถือว่าเป็นศาลสูงสุด เป็นองค์กรอิสระ มีอำนาจวินิจฉัยข้อกฎหมายในกฎหมายรัฐธรรมนูญว่ามีกฎหมายใดขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น วินิจฉัยว่ากฎหมายที่จะตราขึ้นใหม่ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยหรือไม่ 


อำนาจหน้าที่ที่สำคัญของศาลรัฐธรรมนูญคือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ 


อำนาจประการสำคัญที่สุดของศาลรัฐธรรมนูญคือ “คำวินิจฉัยชี้ขาดนั้นถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ”


เมื่อเป็นศาลสูงสุดที่เหนือกว่าใคร จะต้องทำตัวและมีบรรทัดฐานที่เหนือกว่าผู้อื่น เพื่อให้เป็นแบบอย่างของประเทศ มิใช่จะมาพิจารณาเรื่องที่เป็นข้อขัดแย้งเพื่อประโยชน์แห่งตนโดดเด็ดขาด


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน จึงไม่มีสิทธิจะวินิจฉัยเรื่องเฉพาะของตัวเองได้ 


ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่มีองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ใครคนใดคนหนึ่ง จะมาวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน


สปิริต มาตรฐานความถูกต้อง มาตรฐานการพิจารณาอะไรถูก อะไรผิดของตุลาการแต่ละคนจึงสำคัญ ในการเป็นที่พึ่งของความยุติธรรมที่ถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันกับทุกองค์กร


คุณละครับคิดอย่างไร..ประเทศไทยก็ของเรานะครับ