A5 …พาลงเหว

09 มี.ค. 2565 | 06:00 น.
1.7 k

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** สงครามระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น ขณะเดียวกันราคาถ่านหินก๊าซธรรมชาติ (LNG) ต่างก็ปรับราคาขึ้นสูงตามราคาน้ำมันดิบ จนเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนของสินค้าและบริการแทบทุกอย่างปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยขยับขึ้นไปอยู่ในจุดสูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ หุ้นกลุ่มสายการบิน กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และ กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์  


*** หุ้นรีซูมเทรด หรือ หุ้นที่ถูกพักซื้อขายแล้วกลับมาซื้อขายใหม่วันแรก ไม่มีเพดานขึ้นลงอย่าง แอสเซทไฟว์ กรุ๊ป (A5 ) แรงเชียร์สนั่นจากเพจ กลุ่มนักลงทุน – มาร์เก็ตติ้งแห่งหนึ่ง มาพร้อมกับบทวิเคราห์ค่ายดัง ให้เป้าราคาเว่อวัง 15 บาท ...พานักลงทุนขึ้นสวรรค์ แล้วดิ่งลงนรก ลงเหว ในพริบตา ทำเปิดขึ้นไป 9 บาท วันนี้ยืนไม่ได้ 2 บาท เบื้องหลังการเชียร์มันช่างโหดร้าย จะบอกว่า โหด....สาดดด  ตามนิสัยคนดูแลราคา หรือภาวะตลาดนำพาไป เจ้าค่ะ 
 

*** ส่วนของหุ้นกลุ่มสายการบินซึ่งยกเว้นไว้แค่ THAI ที่เข้าแผนฟื้นฟูไปแล้ว ที่เหลืออยู่ 2 รายคือ AAV และ BA ต่างก็อยู่ในจังหวะเริ่มต้นของการกลับมาเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ ขณะที่จำนวนของผู้โดยสารยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ภาวะก่อนโควิด ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ยังสูงแต่รายรับยังไม่ไปไหน ทำให้มองได้ว่าในระยะเริ่มต้นหุ้นในกลุ่มสายการบินนี้ ยังต้องเป็นกลุ่มหุ้นที่ควรต้องจับตาดูอยู่ห่างๆ


*** ขณะที่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง GULF  BGRIM และ GPSC ซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่มาจากทั้งถ่านหิน และ ก๊าซธรรมชาติ ที่ปรับสูงขึ้นทำให้อัตราส่วนในการทำกำไรปรับลงตามไปด้วย ดูเหมือนว่า BGRIM น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าใคร เนื่องจากมีค่าพีอีที่ค่อนข้างจะสูงและไม่มีปัจจัยอื่นใดเข้ามาช่วยลดแรงเสียดทานนั่นเอง 

รองลงมาคือทาง GPSC ที่อาจจะไม่แตกต่างกันในเรื่องปัญหาที่มาจากต้นทุนในการผลิตแต่ยังดูดีกว่า เนื่องจากนักลงทุนยังให้ความเชื่อมั่นว่ายังมีกลุ่ม PTT ซึ่งเป็นบริษัทแม่จะซับพอร์ตเอาไว้ได้ 

 

ส่วนทางด้านของ GULF อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดเนื่องจากธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามาในอาณาจักร เช่น ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ต่างก็ดึงความเชื่อมั่นมาจากนักลงทุนได้พอสมควร


**** ส่วนหุ้นอิเล็คทรอนิกส์อย่าง DELTA KCE HTECH และ HANA ที่นอกจากจะมีผลกระทบจากต้นทุนการขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็ยังมีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เนื่องจากคู่สงครามทั้ง ยูเครน และ รัสเซีย ต่างก็เป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิต โดยกว่า 90% ของ semiconductor-grade neon gas ที่ใช้ในสหรัฐฯ จะถูกนำเข้าจากยูเครน และ 35% ของแร่ palladium ที่ใช้ในสหรัฐฯ ก็นำเข้าจากรัสเซีย โดยวัตถุดิบทั้ง 2 อย่างเป็นส่วนสำคัญในการใช้ผลิต ซึ่งเมื่อมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบ ก็จะส่ผลกระทบกับรายได้ที่มาจากการขายและกำไร ซึ่งคาดว่าหุ้นที่จะได้รับผลกระทบมากสุด คือ HANA รองลงมาเป็น DELTA, KCE และ HTECH


*** ขณะที่หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อย่าง CK STEC และ ITD ต่างก็จะมีปัญหาต้นทุนค่าพลังงานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนจากค่าขนส่ง ต้นทุนเชื้อเพลิงจากเครื่องจักรกลเพื่องานก่อสร้าง รวมถึงต้นทุนที่มาจากเงินเฟ้อ รวมถึงปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่มาจากทั้งในส่วนของลูกค้าและตัวของบริษัทรับเหมาด้วยนั่นเอง


*** สุดท้ายเป็นหุ้นในกลุ่มธุรกิจยานยนต์อย่าง SAT และ STANLY ก็เป็นอีกกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากสงคราม เนื่องจากยอดการส่งออกที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ต้นทุนที่มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น ก็จะเป็นตัวเร่งให้ตลาดรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในเปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ได้เร็วมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีการใช้ชิ้นส่วนต่างๆ ลดน้อยลง จะกระทบไปถึงรายได้ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในอนาคตอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,764 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2565