ดยุคเหล็ก 2

15 ม.ค. 2565 | 08:04 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2565 | 15:08 น.
2.2 k

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

(ต่อจากตอน 1)
 
ใครเลยจะรู้ว่า ฟิลิป อดีตเจ้าชายกรีกสายเลือดเยอรมันสายบัลลังก์เดนมาร์คพระองค์นี้ ในชีวิตระหกระเหินยามเยาว์นั้น ก็เช่นกัน_มีลมใต้ปีก
 

ลมนั้นพัดพยุงมาจากท่านน้าทั้งสอง_น้องชายพระมารดาวิปลาส จอร์จและ หลุยส์ ผู้สละฐานันดรเยอรมันมาลดชั้นใหม่ได้เปนที่ขุนนางข้างพระญาติพระวงศ์อังกฤษ ยื่นมือเข้าประคับประคองเจ้าชายเด็กไร้บัลลังก์พระองค์นี้ ให้ใช้สกุลใหม่ฝ่ายแม่ว่า เมาท์แบตเต็น เข้าเรียนในโรงเรียนหนาวเหน็บหฤโหดเพื่อฝึกฝนให้เปนผู้ใหญ่แกร่งในนาม กอดอนสโตน แห่งสก็อตแลนด์

เพื่อเข้าใจชีวิตหล่อหลอมจนมาเปนดยุคเหล็กที่ผู้คนกล่าวขานขนานนามถึงจึงเปนอันสมควรได้กล่าวถึงเพื่ออนุสรณ์คำนึง ถึงโรงเรียนอังกฤษยุคสงครามโลกโดยเฉพาะโรงเรียนประจำอย่างที่เรียกกันว่า boarding school มันก็ค่อนข้างจะเข้มงวดหฤโหดไหนจะหัดให้นอนหนาวน้ำแข็งไม่ปิดหน้าต่างหัวนอน ไหนจะหัดให้เดินทางไกล อบรมให้เชื่อฟังรุ่นใหญ่โดยไม่ต้องใช้เหตุผล กดดันให้รับใช้รุ่นพี่ และมีบทลงทัณฑ์ทางร่างกายและจิตใจ หวังให้ออกมาเปนคนแกร่ง
 

อันนี้ก็ต้องเล่าว่าทั่วไปแล้วโรงเรียนโบราณมีทัศนคติต่อเด็กต่างไปจากในสมัยนี้ที่อ้างว่าเอาเยาวชนเปนศูนย์กลาง 55

เขาว่าเด็กมันซน และมันต้องได้รับการอบรม บ่มนิสัย 
 

สมัยอดีตก็จึงว่าบทลงโทษนั้นนิยมการเฆี่ยนเด็ก ผู้เฆี่ยนก็ครูน่ะแหละโดยเฉพาะครูใหญ่ (ซึ่งท่าทางจะได้ Ph.D. มาจากคำว่า Punishment Doctrinarism = ยึดการลงโทษเป็นหลักซะล่ะมั้ง) 
 

การเฆี่ยนนี่เขาเรียกกันว่า birching ก็มาจากการใช้กิ่งต้นเบิร์ชมาทำไม้เรียว แต่จริงแล้วจะใช้กิ่งจากต้นไม้อะไรก็ได้แหละ กิ่งเบิร์ชมันคงใกล้มือฉวยเอาเสียมากกว่า ไม้เรียวพรรค์นี้มีการแช่น้ำก่อนตี เพื่อให้อมน้ำเปนการเพิ่มน้ำหนักจะได้หวดผ่านอากาศที่ต้านทานได้ดีขึ้น หรือถ้าแช่น้ำเกลือก็จะมีการยืดเด้ง (flexibility) และแข็งแรงขึ้นไปอีก แต่นั่นมักใช้ กับนักโทษหรืออาชญากรมากกว่าประดาครู Ph.D. ที่ว่านี้ จะมีหลักเกณฑ์วางไว้แน่นอน เช่นว่า ถ้าอายุเกิน ๑๖ ก็จะใช้ไม้เรียวหนัก ๔๕๐ กรัม และยาว ๑.๒ เมตร เรียกว่าไม้เรียวตีรุ่นใหญ่ (senior birch)
 

ส่วนการเฆี่ยนนั้นทำเปนพิธีการ เด็กเล็กก็อาจจะคว่ำบนตักแล้วตีก้น ไม่ก็คว่ำตัวบนเก้าอี้ ไอ้ที่ยืนตรงหรือยืนโก้งโค้งก็มี บางโรงเรียนให้ไอ้คนโดนตียืนเกาะบ่าหรือโอบหลังเพื่อนไว้เรียกว่าขี่ม้า (Horsing) พวกโรงเรียนเมืองหลวง_urban อย่างว่า อีตันซึ่งเป็นโรงเรียนลูกผู้ดีอังกฤษ จะให้เด็กคุกเข่าลงกับบล็อคไม้ที่ทำไว้เป็นพิเศษสำหรับการเฆี่ยนโดยเฉพาะ แต่ไม่ว่าจะอยู่ในลักษณะใดก็ตาม ขาทั้งสองข้างจะต้องหนีบชิดสนิทกัน เพื่อไม่ให้ดีโดนอวัยวะสำคัญที่ห้อยอยู่ทางเบื้องหลังนั่น เขาอยู่กันอย่างนั้นสมัยก่อน 


 

ต่อมาก็สหประชาชาติได้เข็นข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิของเยาวชน (the Convention on the Rights of the Child) ขึ้นมาในยุคปี 1990 มีผู้ร่วมลงนามตกลงด้วยราว 200 ประเทศชาติแต่ว่ากันว่าสหรัฐฯไม่เห็นด้วยในเบื้องแรก อาจเปนเพราะผู้ปกครองของฝ่ายมะกันเห็นว่าการตีเด็กนั้นยังเป็นวิธีปรามเด็กดื้ออย่างได้ผล (the parents understand that it helping to teach their children) ก็เปนได้
 

ยุคหลังมานี้ ท่านว่าการอบรมบ่มนิสัยเด็กให้รู้จักผิดชอบชั่วดี เป็นแนวทางที่น่าจะได้ผลกว่าการตีเจ็บๆ แต่ละปีรัฐจึงได้ออกคำขวัญมาให้เยาวชนทำตาม 55
 

หากจะพูดถึงความสูญเสียของดยุคแล้ว ท่านก็ประสพพบพานกับตัวเอง อย่างน่าสะพรึงไม่แพ้กันกับพระเจ้าหลาน กล่าวคือ ท่านลอร์ดเมาท์แบตเต็น ผู้ลมใต้ปีกซึ่งอุปถัมภกท่านมาอย่างว่าพ่อ วันหนึ่งลาพักร้อนไปปราสาทริมทะเล ตกบ่ายกะว่าจะออกเรือไปเล่นหาปลา ก็ให้เกิดวินาศกรรมว่า ขบวนการก่อการร้ายไอร์แลนด์ วางระเบิดใส่ในเครื่อง วิ่งออกทะเลไม่นานก็ตูม_ทำเอาเกิดเหตุวินาศสันตะโร ตายหมู่กันยกครัว
 

จากภาพรวมทั้งหมดนี้จักแลเห็นได้เลยเชียวว่า องค์ดยุคผู้รัตตัญญูผ่านกาลเวลามามากเกือบร้อยปี มีชนมายุหลายแผ่นดิน คงจะทรงเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอยู่ตามกาลเวลา แต่จากประสพการณ์และกระดูกอันแกร่งของท่าน จนผู้คนขนานนามว่า ดยุคเหล็กThe Iron Duke คงไม่ผิดเลยที่จะทรงผิดหวังกับการตัดสินใจของพระนัดดาที่สังคมส่วนหนึ่งมองว่าอ่อนปวกเปียกเช่นว่านี้
 

เวลานี้ ดยุคจากไปจะครบปีแล้ว ประดาสมาชิกในครอบครัวท่านต่างก็ชื่นชมแลสรรเสริญว่าชีวิตอีกปีจะครบร้อยของท่านนั้นน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก เปนชีวิตที่ครบด้าน ทั้งทางกว้างและลึก ซึ่งมีโอกาสจะหาเล่าทราบแด่ท่านต่อไป


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17  ฉบับที่ 3,749 วันที่ 16 - 19 มกราคม พ.ศ. 2565