จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (22)

06 ธ.ค. 2564 | 07:00 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนแฟนคลับส่งคำถามมา อยากให้ผมพูดถึงอัญมณีมรกตว่าต่างกับหยกอย่างไร? ผมต้องเรียนว่าความรู้ของผมเกี่ยวกับอัญมณีมีเพียงน้อยนิด แต่จะพยายามตอบให้นะครับ หากผมตอบผิดอย่างไรก็ต้องขออภัยด้วย หากมีผู้รู้จริงที่เป็นแฟนคลับ จะกรุณาแก้ไขหรือสอนสั่งมาทางผม ผมก็จะกราบขอบพระคุณอย่างสูงเลยนะครับ
 

มรกต (Emerral) เป็นหนึ่งในประเภทอัญมณีหรือพลอยเบริลที่มีสีเขียว ที่มีความคล้ายคลึงกับหยกเนื้อแก้วมากที่สุด ยังเป็นที่นิยมมากกว่าพลอยเบริลชนิดอื่นๆ แต่เนื่องด้วยมีสีเขียวสดที่สวยงามและหาเม็ดที่มีคุณภาพดียากมาก จึงทำให้มรกตมีราคาสูงกว่าหยกทั่วๆไป แต่ถ้าเปรียบเทียบกับหยกเนื้อแก้วแล้ว อาจจะถูกว่าหยกเนื้อแก้วนิดหน่อย นอกเสียจากว่าเป็นมรกตที่มีเนื้อที่คุณภาพดีสุดๆ ราคาจึงจะแพงกว่าหยกเนื้อแก้ว บางเม็ดที่มีคุณภาพดีมากๆราคาอาจใกล้เคียงกับเพชรเลยทีเดียว  เพราะคนทั่วไปเชื่อว่ามรกตเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย ร่มเย็น เป็นอัญมณีประจำเดือนพฤษภาคมและครบรอบแต่งงานปีที่ 20 และปีที่ 35
 

มรกตเป็นส่วนหนึ่งในแก้วนพรัตน์ ที่คนนิยมนำมาใส่ในแหวนนพรัตน์ด้วย ซึ่งมีความหมายถึงดาวพุธ จึงเป็นพลอยมงคลสำหรับผู้ที่เกิดในวันพุธ แหล่งกำเนิดของมรกต ซึ่งมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมาก หลายคนคิดว่ามรกตต้องมาจาก โคลัมเบีย แซมเบีย หรือ บราซิลเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วมรกตมีอยู่ทั่วทุกทวีป แต่ที่ใดจะเป็นแหล่งสำคัญนั้น ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ขนาด และปริมาณ ลักษณะการเกิดของมรกต ซึ่งจะขึ้นอยู่กับภูมิประเทศต่างๆ แต่ละแหล่งการก่อกำเนิดของมรกต จะขึ้นอยู่กับการตกผลึกทางวิทยาศาศตร์ที่แตกต่างกัน ทำให้สีสันความสวยงามที่แตกต่างกันออกไป
 

อย่างไรก็ตาม ในตลาดของอัญมณีกลุ่มผู้ค้าและผู้ซื้อก็ยังคงนิยมชมชอบมรกตที่มามีแหล่งกำเนิดที่มาจากโคลัมเบียเป็นหลักอยู่นั่นเองครับ สำหรับความแตกต่างระหว่างหยกกับมรกต มีความแตกต่างที่เห็นชัดเจนคือเนื้อของหยกจะไม่ใสเท่ามรกต และสีสันของมรกตจะมีความแตกต่างกับหยกมาก ที่มีความใกล้เคียงก็จะมีเพียงหยกเนื้อแก้วเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถจำแนกกันได้ไม่ยากนักครับ
 

มาคุยกันถึงเนื้อหาของคุณสุวรรณีดีกว่าครับ บนเหมืองหยกบนภูเขาปะกันนั้น ช่วงแรกๆ ที่คุณสุวรรณีเข้าไปดำเนินการสัมปทานใหม่ๆ ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ใช้เครื่องมือหนัก เช่นรถขุดแบ็คโฮเข้าไปขุด ดังนั้นเหมืองยังคงเป็นเหมืองในแนวราบมากกว่าปัจจุบันนี้ แต่อันตรายที่เกิดขึ้นในเหมือง นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่มีอยู่มากแล้ว แต่ทุกๆ ปียังมีภัยพิบัติอื่นๆอีก เช่นเรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม มากมาย ซึ่งเรื่องดินถล่มนี้มีอยู่ทุกปี และมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากทุกๆ ปี แต่ไม่ค่อยมีข่าวออกมาภายนอกประเทศ จะมีแต่ข่าวลือที่เล่าต่อๆกันออกมาสู่สาธารณชนในประเทศเมียนมาเท่านั้น
 

ในช่วงที่ดินถล่มในเหมืองทุกปี จะมีผู้เสียชีวิตเป็นหลักสิบรายถึงหลักร้อยราย แม้จะเป็นเหมืองแนวราบก็ตาม เพราะแรงงานที่อยู่ในเหมืองมีจำนวนมาก ทุกคนต่างแย่งกันขุด เมื่อเกิดน้ำป่าถล่มไหลบ่าเข้ามา ทุกคนจะหนีไม่ทัน ก็เหมือนมดที่ถูกสาดน้ำลงไปใส่รังมด พอน้ำลดก็จะพบศพที่บ้างก็อยู่บนดิน บ้างก็ถูกฝั่งอยู่ใต้พื้นดิน หรือที่แย่มากกว่านั้นอาจจะถูกฝังอยู่ใต้ก้อนหินที่ไม่มีปัญญาหาพบ หรือที่หาพบก็จะมาจากกลิ่นศพที่เน่าเหม็นแล้วเท่านั้น
 

ต่อมาเมื่อประมาณสิบกว่าปีมานี้ รัฐบาลได้เริ่มมีการปล่อยให้ชาวต่างชาติมีสิทธิในการยื่นขอสัมปทานได้ ก็จะมีชาวจีน ชาวสิงค์โปร์เข้าไปขอสัมปทานขุดเหมืองหยก ทุกอย่างก็ได้เปลี่ยนแปลงไป จากเหมืองที่เป็นแนวราบ ก็กลายเป็นการขุดในแนวลึก บางจุดใช้รถขุดแบ็คโฮลงไปขุด ทำให้เหมืองมีความลึกเท่ากับตึกเจ็ด-แปดชั้น อันตรายก็ยิ่งมากเป็นเงาตามตัว
 

คุณสุวรรณีเล่าต่อว่า เมื่อปี 2020 มีอยู่ช่วงหนึ่งของเดือนสิงหาคม Visa ของเธอกำลังจะหมดอายุ เธอจึงถือโอกาสกลับมากรุงเทพฯ เพื่อต่ออายุ Visa และเยี่ยมคุณแม่ ปรากฎว่าในวันที่ 2 กรกฎาคม  ในตอนเช้าตรู่ ได้เกิดดินถล่มบนภูเขาที่เหมืองปะกัน เนื่องจากมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เหมืองหยกที่เป็นหลุมลึกใหญ่ได้พังทลายลงมา คนงานที่กำลังเริ่มเดินทางลงไปในหลุมใหญ่ของเหมือง หนีออกมาไม่ทัน จึงทำให้บาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หนึ่งในนั้นมีลูกน้องของเธออยู่ด้วยหลายคน ตายหมดไม่เหลือ คนที่หนีได้แต่ก็บาดเจ็บมากถึง 31 คน ในส่วนของผู้เสียชีวิต มีมากถึง126 ศพ และคนที่หายสาบสูญไปอีก 300 กว่าคน โชคดีที่เดินทางกลับมากรุงเทพฯก่อนไม่กี่วัน เธอบอกว่าโดยปกติเธอจะต้องลงไปในหลุมใหญ่นั้นเป็นประจำทุกวัน หากวันนั้นเธอยังอยู่ที่นั่น เธอคงต้องไปเฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ไปแล้ว คงไม่มีโอกาสมานั่งเล่าเรื่องราวให้พวกเราได้อ่านเล่นแน่นอน
 

ผมเองที่อยู่ที่เมียนมามานาน ในช่วงฤดูฝนก็มักจะได้ทราบข่าวเรื่องเหมืองถล่มเกือบทุกปี เช่นก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2015 เดือนพฤศจิกายน ก็ได้รับทราบข่าวมาว่าเหมืองถล่มมีคนเสียชีวิต100 กว่าคน ในปี2019 เดือนเมษายน ก็มีเหตุการณ์เหมืองถล่ม มีผู้เสียชีวิต 59 ศพ ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ก็เสียชีวิตอีก 17 ศพ สรุปในปี 2019 ปีเดียวถล่มสองครั้ง เสียชีวิตไปเกือบสองร้อยศพ นี่ถ้าหากเอาสถิติมาสักสิบปี ผมคิดว่าคงมีผู้เสียชีวิตเป็นพันแน่นอน 
 

เหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ในเหมืองหยก มีเหตุเกิดขึ้นมากมาย ยังมีเหตุที่เราคาดไม่ถึงอีกมาก แต่ก็ยังคงมีคนที่อยากจะเสี่ยงภัย เพื่อเข้าไปแสวงหาโอกาสในชีวิต ที่ตายก็ตายกันไป ที่ยังไม่ตายก็สู้กันไป ไม่มีเข็ดหลาบหรอกครับ เพราะเงินทองเป็นสิ่งเย้ายวนใจ ให้คนเดินทางไปแสวงหาจริงๆ
 

ในอาทิตย์หน้าผมจะเอาเรื่องที่เราคาดไม่ถึงมาเล่าสู่กันอ่านเพิ่มเติมนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ