เป็ดฝรั่งเกาลัดไทย

20 พ.ย. 2564 | 11:02 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 18:08 น.
790

คอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ โดย Joie de La Cuisine

เกาลัดเมืองไทยโดยทั่วไปที่เห็นตั้งกระทะคั่วขายนั้นมาจากเมืองจีนเสียมาก จะว่าเกาลัดนี้ญี่ปุ่นนะ ก็ไม่ได้ว่าอะไร  ชั่วแต่ว่าโดยทั่วไปเปนพันธุ์ญี่ปุ่นมาปลูกไว้ในเมืองจีนอีกที  
 

ยามจะกินเกาลัดมันยากเพราะต้องหนีบบีบลูกขนหนามของมันออกด้วยคีมเหล็ก ได้เม็ดเคลือบเปลือกเกลี้ยงๆแล้ว ก็ต้องเอามาคั่วให้สุก 

อีการคั่วนี่แหละ_ยาก  
 

บางเจ้าตั้งกระทะเหล็กร้อนจี๋ ใส่กรวดหยาบลงไปผัดกรวดนั้นด้วยกาแฟให้มันไหม้ร้อนระอุและมีกลิ่นหอม บางเจ้าเลี่ยงไปใช้น้ำตาลให้มันเคลือบคลุมกุมเหนียวรัดกรวดทั้งนั้นไว้ไม่ให้แตกด้วยความร้อน มิเช่นนั้นกรวดมันไหม้หนักเข้ามันจักกลายเปนทรายเสียฉิบ
 

วิธีคั่วเขาก็มีหลายสูตร แต่ทุกสูตรคั่วให้สุกคือร่อนเปลือกออกจากเม็ดเท่านั้นเปนพอ มันจะหลวมบีบแล้วยุบ คั่วนานมิได้ดอกนาเกาลัด_มันระเบิด เกาลัดเกรดดีๆลูกมันจักเสมอๆกัน มีรสหวาน กัดตอนดิบๆยังหวาน ถ้าเกรดไม่ดี มันอย่างเดียว_ไม่หวาน

ฤดูเกาลัดดีจะเปนเดือนวัว_พฤษภาคมถึงเดือนปู_กรกฎาคม เพราะมันสด นอกฤดูเขาเก็บใส่ห้องแช่ คลายรสลงไปเยอะ ฝรั่งกินเกาลัดโดยนำไปเชื่อมน้ำตาลทรายหวานจี๊ดและหอมมันเนียนนุ่ม เรียกมันว่า มารงกาเซ่ _เกาลัดฉาบน้ำตาล
  

ผู้มีฝีมือการครัวบางคนเอาเกาลัดเชื่อมนี้ไปทำไอศกรีมอีกที‘ร้านเดลิเกเตซซ่า’ ย้ายจากทองหล่อไปอยู่ ถนนพระอาทิตย์ มีฝีมือฉมังนัก ส่วนร้าน‘ปอล ปาติสซารี’ เอาเกาลัดไม่เชื่อม ไปทำกับอกเป็ดอบกินกับส้ม อร่อยเอร็ดหอมมันรสเนยสด
 

ส่วนเม็ดดำในเปลือกแดงๆที่นำมาลงรูปประกอบท่านว่าเปนลูกเกาลัดไทย ปลูกไว้ที่บ้านเขาใหญ่ครบ 10 ปีก็มีลูก เฝ้าพยายามดักสอยจะมาลองคั่วกินดูบ้างก็ไม่ทันเลยซึ่งเจ้ากระรอกสาว ผู้พาพรรคพวกยามเช้ามาคอยลักกินไปเสียสิ้น


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 17 ฉบับที่ 3,733 วันที่ 21 - 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564