พรรคการเมือง+กองทัพ = อำนาจรัฐ

29 ก.ย. 2564 | 13:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 23:49 น.
796

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

เหตุการณ์บ้านเมือง ที่มีความเกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คงไม่มีเรื่องอะไรน่าสนใจมากไปกว่าเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. โดยมีศูนย์กลางของปัญหาอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำหลักที่เป็นฐานค้ำยันอำนาจรัฐบาลของพี่น้อง 3 ป. 
 

ภายหลังที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น้องเล็กของ 3 ป. ใช้อำนาจตามความในมาตรา 171 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปลดสองรัฐมนตรีช่วยว่าการ คือ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้มีความสนิทสนมใก้ลชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บางสื่อเปรียบว่าเหมือนกล่องดวงใจของพี่ใหญ่ 3 ป. นับแต่นั้นเป็นต้นมา สื่อทุกสำนัก ประชาชนทุกสายตา ต่างจับจ้องเฝ้ามองและติดตามความเป็นไปของพรรคพลังประชารัฐ และรอยปริร้าว ความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง 3 ป. ว่าจะพัฒนาการไปอย่างไร จะส่งผลให้รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเผชิญชะตากรรมอย่างไร
 

ทุกคนทราบดีว่าทำไมและเพราะเหตุใด สองรัฐมนตรีจึงถูกปลด แต่ที่ผู้คนสนใจมากยิ่งกว่านั้นคือ หลังจากนี้นายกรัฐมนตรี จะจัดการกับพรรคพลังประชารัฐอย่างไร เพราะการก่อหวอดเป็นคลื่นใต้น้ำ กระทั่งรวบรวมมือ ส.ส.มากดดันและต่อรองกับนายกฯ รวมถึงการโหวตคะแนนไว้วางใจจนนายกฯ ได้คะแนนต่ำสุด แบบทำให้เสียเครดิตทางการเมืองนั้น ล้วนมาจากกลุ่มความเคลื่อนไหวจากภายในพรรค ที่มีรัฐมนตรีผู้ถูกปลดมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย
 

บทเรียนนี้สอนว่า การเมืองหลังรัฐประหาร เมื่อใช้รัฐธรรมนูญฯ และเข้าสู่การเลือกตั้ง อำนาจรัฐมิได้ขึ้นอยู่ที่กระบอกปืน หรือ กองทัพ แต่เพียงอย่างเดียว อำนาจรัฐที่จะอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพและมีความชอบธรรม ต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากพรรคการเมือง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นสำคัญ กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว อำนาจรัฐเกิดจากพรรคการเมือง+กองทัพ และต้องมีประชาชนสนับสนุน รัฐบาลจึงจะมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพที่ดี ผู้ใดยึดกุมพรรคการเมือง ผู้ใดยึดกุมกองทัพ ผู้นั้นย่อมมีอำนาจรัฐ
 

สัจจธรรมทางการเมืองดังกล่าว เป็นสัจจธรรมโดยทั่วไปสำหรับใครก็ตามที่คิดจะอยู่ในตำแหน่งอำนาจทางการเมือง เหตุการณ์ความเคลื่อนไหวที่กำลังปรากฎขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐ คงจะให้บทเรียนและทำให้นายกรัฐมนตรี ได้เข้าใจลึกซึ้งด้วยประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง เพราะระบบการเมืองปัจจุบัน นอกจากต้องบริหารประเทศ ดูแลประชาชนแล้ว ท่านยังต้องบริหารพรรคการเมือง กำกับดูแลกองทัพและกลไกราชการ ให้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันด้วยความสามัคคี มีความเป็นเอกภาพ ภายใต้แนวทางนโยบายเดียวกันอีกด้วย ความซับซ้อนของปัญหาในช่วงเวลาที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กับช่วงเวลาของการเมืองในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
 

นับแต่วันแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง สถานภาพของท่านคือ บุคคลที่กระโจนเข้าสู่การเมืองแล้ว เพียงแต่เป็นการเมืองที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยมีกองทัพสนับสนุน และเมื่อมีการเลือกตั้ง เมื่อท่านยอมรับการเสนอชื่อจากพรรคการเมือง ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้รับเสียงโหวตสนับสนุนในสภาฯ ตามรัฐธรรมนูญฯ ท่านก็คือ นายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองแบบเต็มตัวอย่างมิอาจปฎิเสธได้ 

แม้มิได้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐโดยตรง แต่ผู้คนก็ทราบว่าท่านคือ หัวหน้าตัวจริง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ใช้ท่านเป็นผู้นำในการหาเสียงกับประชาชน เลือกพลังประชารัฐได้ “ลุงตู่” เป็นนายกฯ หรือ “เลือกความสงบจบที่ลุงตู่” ส่วน “ลุงป้อม” เป็นหัวพรรคแต่เพียงตัวแทนจากท่าน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ความคิด “ลุงป้อม” จะเหมือนเดิมหรือไม่ จึงมีคำถามที่สื่อและสังคมสนใจติดตาม
 

ความจริงที่มิอาจปฏิเสธได้ในการเมืองปัจจุบัน ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หาก พล.อ.ประยุทธ์ น้องเล็กของพี่น้อง 3 ป. คิดที่จะก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางทางการเมือง ไม่ว่าเพื่อตนเอง หรือ พี่น้อง ที่จะก้าวเข้ามาสืบต่ออำนาจต่อไป การสร้างพรรคการเมืองที่มั่นคง เข้มแข็ง ภายใต้การนำของตน และคณะบุคคลที่มีความคิดและอุดมการณ์เดียวกัน จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
 

แบบอย่างของพรรคการเมืองที่ประสบผลสำเร็จนั้น มีตัวอย่างให้ศึกษามากมาย ที่น่าศึกษาและสอดคล้องกับสภาพการเมืองและสังคมไทย คือแบบอย่างจาก พรรคคอมมิวนิสต์ ที่ก่อตั้งและอยู่มายาวนานจนถึงปัจจุบันครบ 100 ปี เบื้องหลังและปัจจัยแห่งความสำเร็จของพรรคการเมือง มีเหตุปัจจัยอย่างไรบ้าง ล้วนเป็นบทเรียนที่ดี ที่ควรเลือกศึกษา นำมาประยุกต์ใช้ของพรรคการเมืองไทย สำหรับประเทศที่ปกครองลักษณะเผด็จการประชาธิปไตย นั่นคือการสร้างสมดุลย์ระหว่างความเป็นประชาธิปไตย กับความเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกคนมีเสรีภาพ แต่ต้องมีวินัยคือเคารพกฎหมายและต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ 
 

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ แบบอย่างของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และรูปแบบการปกครองจีน สอนให้เข้าใจสัจจธรรมทางการเมืองอย่างลึกซึ้งว่า "พรรคการเมืองกับกองทัพ เท่ากับอำนาจรัฐ" ปราศจากอำนาจในพรรคการเมือง ไร้สิ้นกองทัพคอยค้ำจุน ก็ไร้สิ้นอำนาจรัฐ การศึกษาอย่างจำแนกและเลือกเอาบทเรียนที่ดีมาใช้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
 

ความเคลื่อนไหวในพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน พูดแบบฟันธง คือความเคลื่อนไหวเพื่อชิงอำนาจทางการเมือง อันมีที่มาจากสัจจธรรมว่า ใครกุมอำนาจพรรค ผู้นั้นย่อมกุมอำนาจรัฐ การที่พรรคการเมืองทุกพรรค แย่งชิงกันเป็นหัวหน้าพรรค เป็นเลขาธิการพรรค แย่งชิงกันเป็นผู้บริหารสูงสุดในพรรค จึงเป็นธรรมชาติของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่พรรคการเมืองเป็นกลไกหลักสำคัญตามรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจทางการเมืองในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทบทุกคน น้อยนักที่จะปล่อยให้บุคคลอื่นมาควบคุมพรรคการเมืองที่เป็นฐานอำนาจของตน แม้แต่คนที่ไร้แผ่นดินอยู่ นักการเมืองที่หลบหนีคดี ยังต้องเอาญาติพี่น้องตนเองมาเป็นหัวหน้าพรรค เพราะไม่อาจวางใจคนอื่น เคยเอานอมินีมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนตน สุดท้ายก็ต้องหาทางปลดจากตำแหน่ง 
 

อำนาจทางการเมืองเป็นสมบัติชนิดพิเศษ ที่ฝากให้ใครดูแลไม่ได้จริงๆ ผู้กุมอำนาจรัฐจึงต้องกุมอำนาจพรรคเท่านั้น นี่คือสัจจธรรมทางการเมือง จะกี่ร้อยปีก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง อ่านและฟังข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เช่นนี้แล้ว ก็คิดเองตัดสินใจเองน่ะครับลุง