ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (8) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน

10 ก.ค. 2564 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ก.ค. 2564 | 06:16 น.
737

ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (8) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย...รศ.(พิเศษ) ดร.กฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,695 หน้า 5 วันที่ 11 -14 ก.ค.2564 

บทความตอนนี้จะสรุปเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องต่างๆ รวมทั้งภาคธุรกิจที่จะได้เห็นทิศทางการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเหล่านี้ของไทยและอาจใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อไป
    

1.ข้อมูลพื้นฐาน
 

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกสรุปไว้ในตารางที่ 1 ดังต่อไปนี้

                               ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (8) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน

จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยตลอด ในช่วงปี 2559-2561 ทั้งในส่วนการสร้างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน โดยแหล่งของพลังงานจากแสงอาทิตย์ ลม และชีวมวลมีบทบาทมากที่สุด อย่างไรก็ดียังมีโอกาสที่จะเพิ่มกำลังสร้างพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกได้มากขึ้นอีกในอนาตคเนื่องจากข้อมูลสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายณ ปี 2561 มีอัตราส่วนเพียง 15.48% เท่านั้น
 

2. นโยบายที่เกี่ยวข้อง 
  

ในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก มี นโยบายที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

 

2.1 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการจัดหาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก


    •    ยุทธศาสตร์มันสำปะหลัง พ.ศ. 2558-2569


    •    ยุทธศาสตร์อ้อยและนํ้าตาลทรายพ.ศ. 2558-2569

 

    •    ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มนํ้ามันและนํ้ามันปาล์มทั้งระบบ พ.ศ. 2560-2579

 

    •    ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศไทย พ.ศ. 2560

 

    •    กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขอและพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

2.2 นโยบายและแผนงานที่มีผลกระทบต่อการส่งเสริมการผลิตการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

 

    •    นโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก

 

    •    แผนแม่บทการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579

 

    •    พระราชบัญญัติกองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562

    •    ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

 

    •    นโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

 

3.สาระสำคัญของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580

 

   3.1 เป้าหมายและตัวชี้วัด

แผนพัฒนาฯ นี้กำหนดเป้าหมายไว้ดังนี้


    “เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในรูปของพลังงานไฟฟ้าความร้อนและเชื้อเพลิงชีวภาพ ต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ร้อยละ 30 ในปี 2580”


ตัวชี้วัดตามเป้าหมาย
    

“การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกต่อการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายร้อยละ 30 ในปี 2580”

 

ทั้งนี้มีการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย ณ ปี 2580 อยู่ที่ระดับ 126,867 พันตันเทียบเท่านํ้ามันดิบ (ktoe) ซึ่งจะเป็นฐานเพื่อคำนวณเป้าหมาย (30%) สำหรับให้เป็นการจัดหาและใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก
  

3.2 การประเมินศักยภาพและแนวทางการจัดหาเชื้อเพลิง
  

 • พลังงานแสงอาทิตย์

 

ในการวัดปริมาณแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนพื้นที่หนึ่งๆ ในเวลาหนึ่งวันจะวัดเป็นหน่วยที่เรียกว่า “เมกะจูลต่อตารางเมตร-วัน (MJ/m2-day)” ซึ่งจะสะท้อนค่าความเข้ารังสีอาทิตย์เฉลี่ยตลอดทั้งปี จากข้อมูลปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีค่าความเข้มรังสีอาทิตย์เฉลี่ยเท่ากับ 17.6 MJ/m2-day ซึ่งถือว่ามีค่าสูง สามารถนำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานได้ทุกพื้นที่ของประเทศทั้งในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน
    

• พลังงานลม
    

ข้อมูลสรุปได้ว่า ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจึงมีความเร็วลมค่อนข้างตํ่า ดังนั้นการใช้พลังงานลมจะต้องคัดเลือกหรือพัฒนาเทคโนโลยีกังหันลมที่เหมาะสมกับสภาพของลมในประเทศไทย เช่นบริเวณพื้นที่แคบๆ ที่เกิดจากภูมิประเทศเฉพาะที่ เช่น เนินเขา ช่องเขา หรือยอดเขา ซึ่งจะช่วยเร่งให้ความเร็วลมสูงขึ้น ในพื้นที่ภาคใต้มีความเร็วลมค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่น โดยเฉพาะภาคใต้ตอนล่างและด้านตะวันตกของภาคใต้ตอนบน เนื่องจากได้รับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากทะเลอันดามันและลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากอ่าวไทยและมีสิ่งกีดขวางทางลมน้อย

 

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและด้านตะวันออกของภาคที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นช่องเขาจะมีความเร็วลมเฉลี่ยที่ดี ส่วนภาคเหนือพื้นที่จะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมค่อนข้างน้อยและภาคกลางเนื่องจากเป็นที่ราบลุ่ม ลมค่อนข้างสงบตลอดทั้งปี ดังนั้นการพัฒนาพลังงานลมจึงต้องดูพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานลมด้วย

• พลังงานนํ้า

 

จนถึงปี 2561  ไทยมีโรงงานไฟฟ้าพลังงานนํ้าขนาดใหญ่ทั้งสิ้น 2,920 เมกะวัตต์ แม้ว่าปัจจุบันจะไม่สามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาได้อีก ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ แต่ยังคงมีการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดเล็กอยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าเดิมด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยนํ้าและพัฒนาโรงงานไฟฟ้าพลังนํ้าขนาดเล็กระหว่างปี 2561-2580 ดังนี้

                           ธุรกิจกับการลดโลกร้อน (8) แผนพัฒนาพลังงานทดแทน


• พลังงานความร้อนใต้ภิภพ

 

แหล่งนํ้าพุร้อนจากความร้อนใต้ภิภพของประเทศไทยมีจำนวน 120 แหล่งมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 43,000 กิโลวัตต์ กว่าร้อยละ 90 ของศักยภาพทั้งประเทศกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ การใช้ประโยชน์จากแหล่งนํ้าพุร้อนจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของอุณหภูมิ อัตราการไหล และคุณสมบัติทางเคมีของนํ้าพุร้อนในแต่ละแหล่ง

 

จากการประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานทดแทนที่มาจากแหล่งธรรมชาติต่างๆรวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและลักษณะของภูมิประเทศ ภาคธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบเพื่อวางแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเหล่านี้นำมาผลิตเป็นพลังงานทางเลือกใว้ใช้เองได้ ซึ่งก็จะถือว่าเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกที่สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานอีกด้วย