วิธีการสร้างค่านิยมครอบครัวให้ทายาทรุ่นใหม่

01 ม.ค. 2566 | 06:05 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

ปัจจุบันครอบครัวจำนวนมากประสบปัญหาในการส่งต่อค่านิยมไปยังทายาทรุ่นต่อไป สภาพการใช้ชีวิต รวมถึงความกดดันมากมายในการทำงาน ทำให้เวลาที่ใช้ร่วมกันของคนรุ่นต่างๆ ลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว มีรายงานการสำรวจครอบครัวในอินเดียที่ทำในปีค.ศ. 2018 พบว่า

 

คนรุ่นมิลเลนเนียล (เกิดระหว่างค.ศ.1981-1996) ครึ่งนึงใช้เวลากับปู่ย่าตายายน้อยกว่า 10 วันต่อปี และคนหนุ่มสาว Gen Z (เกิดระหว่างค.ศ.1997-2012) ประมาณ 1 ใน 3 ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ใช้เวลากับพี่น้องประมาณ 10 วันต่อปีหรือน้อยกว่านั้น อีกทั้งครอบครัวสมัยใหม่ยังมักถูกแยกจากกันปัญหาการหย่าร้างด้วย

วิธีการสร้างค่านิยมครอบครัวให้ทายาทรุ่นใหม่               

ในอดีตการถ่ายโอนค่านิยมโดยไม่รู้ตัวผ่านการพูดคุยนั่งล้อมวงกันนั้นเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวเคยชิน รวมถึงความทรงจำดีๆจากการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่แน่นแฟ้น รับประทานอาหารร่วมกัน และดูโทรทัศน์ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ห่างไกลจากชีวิตของคนเจเนอเรชัน Z และเจเนอเรชั่น Alpha (เกิดหลังปี 2012) มาก

 

พ่อแม่ทั่วโลกจึงประสบปัญหาในการหาเวลาสื่อสารกับลูกๆของตน โดยเฉพาะเจ้าของบริษัทมักรู้สึกกดดันเป็นพิเศษเพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการจัดการธุรกิจ ผู้ประกอบการในหลายประเทศเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกันนี้ ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถสืบทอดธุรกิจได้หากไม่มีค่านิยมร่วมของครอบครัว

              

โดยทั่วไปแล้วเมื่อทายาทเข้าร่วมในธุรกิจมักจะมีความตึงเครียดขึ้น เนื่องจากพวกเขาเป็นสมาชิกในครอบครัวก็จริงแต่มักรู้วิธีการทำงานในธุรกิจของครอบครัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ควรทำลำดับแรกคือ เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องเริ่มส่งต่อค่านิยมครอบครัวเสียแต่เนิ่นๆตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็ก

 

หรือหากไม่ได้ทำเช่นนั้นแต่แรกเจ้าของธุรกิจก็ยังสามารถเร่งดำเนินการได้ในภายหลัง ด้วยการหาโอกาสในการแบ่งปันค่านิยม ประวัติศาสตร์ และประสบการณ์ร่วมกัน โดยบางครอบครัวอาจจัดให้มีการรับประทานอาหารเช้าวันอาทิตย์ร่วมกันทุกสัปดาห์

              

ขณะที่บางครอบครัวจัดทริปพักผ่อนของครอบครัวร่วมกัน และกำหนดให้สมาชิกทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆของครอบครัว เช่น ฉลองเทศกาลต่างๆ วันเกิด และการแต่งงาน เป็นต้น ลำดับต่อไปคือ บางครอบครัวจะได้รับคำแนะนำที่ดีให้จัดตั้งกลไกที่เป็นทางการ เช่น สภาครอบครัวเพื่อหรือที่ประชุมครอบครัว ซึ่งเมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นก็จะได้รับการแนะนำให้รู้จักและเข้าร่วมในสภาฯ ครอบครัวส่วนใหญ่อาจจัดประชุมสภาครอบครัวทุกไตรมาสหรืออย่างน้อยปีละครั้ง

              

บางครั้งครอบครัวอาจจำเป็นต้องมีปรึกษาคนนอก ซึ่งควรมองหาคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่มีอคติ และเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้ให้คำปรึกษาที่ดีจะเปิดรับวิธีแก้ปัญหาจากทุกทิศทางแทนที่จะกำหนดขึ้นมาเองและสามารถผ่อนคลายบรรยากาศที่ร้อนระอุได้ นอกจากนี้ที่ปรึกษาจะสามารถสร้างโอกาสให้คนรุ่นอาวุโสได้แบ่งปันภูมิปัญญาและให้คนรุ่นใหม่ได้แบ่งปันแรงบันดาลใจ

 

พวกเขาสามารถเป็นคนกลางในการดำเนินการและแนะแนวทางให้กับสมาชิกในครอบครัวได้ ทำให้แม้หลายครอบครัวอาจไม่ได้รับประทานอาหาร สวดมนต์ หรืออยู่ด้วยกัน แต่สมาชิกในครอบครัวยังสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยอาศัยค่านิยม ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ที่มีร่วมกันเพื่อสานต่อธุรกิจครอบครัวและมรดกที่สืบทอดมาได้เช่นกัน

              

ที่มา: Nupur Pavan Bang and Simran Senani. October, 28 2022. Engaging the young in family business culture. The Financial Times Limited 2022. Available: https://www.ft.com/content/127d88cd-9bbb-4921-b517-e237423291b3

              

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,846 วันที่ 22 - 24 ธันวาคม พ.ศ. 2565