ความยุติธรรม ในธุรกิจครอบครัวสร้างได้

18 ธ.ค. 2565 | 05:20 น.
627

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์ และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

สถานการณ์ช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด- 19 เจ้าของธุรกิจรุ่นเบบี้บูมเมอร์จำนวนมากกำลังพิจารณาว่าจะอยู่ทำงานในธุรกิจของตนต่อไปหรือไม่ และพบว่าเจ้าของธุรกิจรุ่นปัจจุบันจำนวนมากกำลังเร่งทำแผนการเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของไปยังรุ่นต่อไปหรือขายให้กับผู้ซื้อจากภายนอกมากขึ้น

 

การสืบทอดทุกครอบครัวจะต้องมีความกดดันในการจัดการปัญหาเรื่องความยุติธรรมกับทายาทรุ่นต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าทายาทที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับลูกที่ทำงานธุรกิจหรือไม่ ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านหรือการขายกิจการ

              

มักมีคำถามตามมาว่าทายาทรุ่นต่อไป “ได้รับความยุติธรรมเท่าเทียมกันหรือไม่” มีข้อสังเกตว่าเจ้าของธุรกิจครอบครัวส่วนมากตั้งใจที่จะแบ่งกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้ลูกเท่าๆ กัน ไม่ว่าลูกคนนั้นจะทำงานในธุรกิจหรือไม่ก็ตาม แต่นั่นคือแนวทางที่ดีที่สุดในการถ่ายโอนความมั่งคั่งของครอบครัวหรือไม่ เนื่องจากปัญหาเรื่องความยุติธรรมอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง สร้างความขุ่นเคืองใจ

 

และส่งผลกระทบต่อพลวัตของครอบครัวไปสู่รุ่นต่อๆ ไปได้ ก่อนจะส่งผ่านความมั่งคั่งเราต้องประเมินประเด็นที่มีความเห็นต่างและเป็นประเด็นอ่อนไหวของครอบครัวเราให้ครบถ้วน ซึ่งแต่ละครอบครัวและธุรกิจครอบครัวจะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตามมีหลักพื้นฐาน 2 ประการที่สามารถนำไปปรับใช้ด้วยกันได้

ความยุติธรรม ในธุรกิจครอบครัวสร้างได้               

หลักความยุติธรรม จงปฏิบัติต่อทายาทที่ทำงานในธุรกิจเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติต่อพนักงานคนสำคัญ โดยให้พิจารณาจากผลงานและความจงรักภักดี ทายาทที่ช่วยสร้างการเติบโตของธุรกิจ ลงทุนด้วยหยาดเหงื่อแรงงาน และปฏิเสธโอกาสอื่นๆ ที่อาจสร้างกำไรได้มากกว่าจากภายนอกธุรกิจ ทายาทกลุ่มนี้ควรได้รับรางวัลเป็นผลประโยชน์จากการถือสิทธิ์เป็นเจ้าของธุรกิจในสัดส่วนที่มากพอจะควบคุมธุรกิจได้

              

หลักความความเท่าเทียม จงแบ่งทรัพย์มรดกและรวมไปถึงในการจัดการทรัพย์สินที่ไม่ใช่ธุรกิจ ให้มีมูลค่าใกล้เคียงกันและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของทายาท คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในธุรกิจด้วย พวกเขาอาจต้องการทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องและมีความเสี่ยงน้อย มากกว่าการเป็นหุ้นส่วนที่ไม่มีอำนาจควบคุมในเรื่องผลประโยชน์

 

การดึงทายาทที่ไม่มีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจเข้ามาเป็นหุ้นส่วนเจ้าของ คนกลุ่มนี้อาจแค่เข้ามาร่วมในธุรกิจและมักไม่มีความเห็นใดๆ ต่อการดำเนินงานและกลยุทธ์ของธุรกิจ นอกจากนี้หุ้นส่วนความเป็นเจ้าของของพวกเขาอาจไม่มีสภาพคล่องหากไม่มีกลไกการซื้อ-ขายที่เหมาะสม และเมื่อมีการเปลี่ยนผ่านสู่รุ่นต่อไป

 

ปัญหานี้มักจะนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและความไม่พอใจระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเจ้าของและทำหน้าที่บริหารธุรกิจ ในทางกลับกันสิ่งที่มักเกิดขึ้นอีกด้านคือ ลูกที่ทำงานในธุรกิจเกิดความไม่พอใจลูกที่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของแต่ไม่เข้ามาช่วยทำงานในธุรกิจ เช่นในธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกำลังเติบโตและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ลูกๆ ที่ทำงานในธุรกิจมีส่วนทำให้มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้น แต่พี่น้องของพวกเขาพลอยได้รับประโยชน์ด้วยโดยไม่ได้เข้ามาช่วยทำงานเลย

              

ดังนั้นธุรกิจครอบครัวควรทำอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงและ/หรือแก้ไขปัญหาเหล่านี้ การวิจัยชี้ว่ากว่า 50% ของธุรกิจครอบครัวไม่มีแผนหรือกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านกิจการ ดังนั้นเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านความเป็นเจ้าของและการควบคุมไปสู่รุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ ครอบครัวจึงต้องมีกลยุทธ์ธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มต้นจากการมีส่วนร่วมของคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในการกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของธุรกิจครอบครัวร่วมกัน

              

ที่มา: Plaster, G. A. and Wong, W.A. May 25, 2021. Equal is not always fair in family businesses. Available:

https://www.bakertilly.com/insights/equal-is-not-always-fair-in-family-businesses

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,844 วันที่ 15 - 17 ธันวาคม พ.ศ. 2565