พลิกโฉมหน้า “ปตท.” “แตกหน่อใหญ่” 2 ปีเห็นผล!

18 พ.ย. 2565 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2565 | 05:04 น.
1.9 k

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3837

ผมได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างและการทำงาน ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ที่แปรรูปมาจาก “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” เป็นบริษัทจดทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2544  ด้วยทุนจดทะเบียน 2 หมื่นล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544
 

ปัจจุบัน บริษัท ปตท. มีทุนจดทะเบียน 2.85 หมื่นล้านบาท มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 956,860 ล้านบาท มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 14,598 ล้านหุ้น คิดเป็น 51.11% แต่หากนับรวมกองทุนวายุภักดิ์ หนึ่ง ที่ถือหุ้นอยู่ 2 ก้อนๆ ละ 1,736 ล้านหุ้น รวม 3,472 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนราว 12% นั่นเท่ากับว่า รัฐถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมราว 63% มีต่างด้าวถือหุ้น 6,160 ล้านหุ้น นักลงทุนรายย่อยถือหุ้นอยู่ราว 159,454 ราย มูลค่าหุ้นตามบัญชี  35.24 บาท
 

ในแต่ละปี บริษัท พลังงานแห่งชาติรายนี้ จะจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเฉลี่ยราว 5.90 บาท/หุ้น จากนโยบายจ่ายเงินปันผลในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า  25% ของกำไรสุทธิที่เหลือหลังหักเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภท 
 

หากพิจารณารายได้จากการขายและการให้บริการ ของ บริษัท พลังงานแห่งชาติรายนี้ เอาเฉพาะ 3 ปีย้อนหลังจะพบว่า ปี 2562 รายได้รวม 2,219,739 ล้านบาท ปี 2563 รายได้ 1,615,665 ล้านล้านบาท ปี 2564 มีรายได้  2,258,818 ล้านบาท 
 

ยิ่งหากใครที่ติดตามเรื่องกำไรจะพบว่า  ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 92,951  ล้านบาท ปี 2563 กำไรละฮวบลงมาเหลือ 37,766 ล้านบาท ปี 2564 กำไรจึงถีบตัวขึ้นมาเป็น 108,363 ล้านบาท 

 

ล่าสุด ผลประกอบการของครอบครัว ปตท. ในงวดไตรมาส 3  กำไรรวมของกลุ่ม ปตท. 7 บริษัทหลัก ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย 1.บมจ.ปตท. (PTT) 2.บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) 3.บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) 4.บมจ.ไทยออยล์ (TOP) 5.บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) 6.บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) และ 7.บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ (GPSC) กลับลดฮวบลง เหลือแค่ 18,166 ล้านบาท ลดลงถึง 62% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงถึง 78% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 
 

เฉพาะบริษัท PTT กำไรแค่ 8,884 ล้านบาท ถือว่าต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับอดีตที่เคยทำกำไรมา เนื่องจากธุรกิจก๊าซ ถือว่าปรับตัวลดลงทั้งหมดยกแผง ไม่ว่าจะเป็น โรงแยกก๊าซ ท่อก๊าซ หรือ ธุรกิจการขายก๊าซ จากการคิดค่าผ่านท่อใหม่ จาก 21 บาทต่อล้านบีทียู เหลือ 13 บาทต่อล้านบีทียู ขณะที่ปริมาณก๊าซก็ปรับตัวลดลงถึง 5% 
 

บริษัทในครอบครัว ปตท. ที่ทำกำไรที่แข็งแกร่งที่สุดเป็นในส่วนของ PTTEP กำไรอยู่ที่ 24,172 ล้านบาท เติบโตขึ้น 153% เทียบปีต่อปีและเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 
 

บริษัทในกลุ่มที่อ่อนแอมากที่สุดคือ PTTGC มีผลขาดทุนทั้งสิ้น 13,384 ล้านบาท ลดลง 219% เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนถึง 1,064%  

 

ประเด็นที่ชวนติดตามคือ ครอบครัวตัว ป. จะปรับบทบาทอย่างไร ในการทำธุรกิจในฐานะบริษัทแห่งชาติของประเทศไทย 
 

ต้องยอมรับว่า นับตั้งแต่ปี 2544-2554 บริษัท ปตท. ภายใต้การบริหารของ นายวิเศษ จูภิบาล และยุคของ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ที่เป็นซีอีโอ ถือว่าเป็นยุคของความรุ่งเรืองของ ปตท. ชนิดที่ยากจะหาผู้ใดเทียบติด มีการแตกบริษัทออกไปกว่า 7-8 บริษัท ที่นำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  

 

รายได้ยกขึ้นมาจากระดับ 4 แสนล้าน กำไรจากระดับ 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2545-2546 ยกขึ้นมาเป็นบริษัที่มีรายได้ 1.5-1.8-2 ล้านล้านบาท กำไรยกขึ้นมาเป็น 9.5 หมื่นล้านบาท และขึ้นทะลุไป 1 แสนล้านบาท ก็เกิดขึ้นในยุคซีอีโอที่ชื่อ “ประเสริฐ” นี่แหละ
 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปตท.ก็ค่อนข้างนิ่งในแง่ของการขยายกิจการ เพราะต้องทำให้บริษัทลูกในครอบครัวที่แตกหน่อออกไปเข้มแข็งขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยุค ไพรินทร์ ชูเชิดถาวร ช่วงปี 2554-2558 ที่มีกำไรเริ่มลดลงในช่วง 3 ปีหลัง พอถึงยุค เทวินทร์ วงษ์วานิช เป็นซีอีโอ ก็ยังคงตกต่ำในปีแรกก่อนกระเตื้องขึ้นมาสร้างรายได้เป็น 2 ล้านล้าน กำไรยกขึ้นเป็น 1.3 แสนล้านบาทในปี 2560 ช่วงของ ชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นซีอีโอระยะเวลา 1 ปี 8 เดือนก็ถือว่าผันผวน เพราะกำไรเหวียงจากระดับ 1 แสนล้านบาท ลดลงมาเหลือ 9.2 หมื่นล้านบาท แม้ว่ารายได้จะยืนอยู่ระดับ 2 ล้านล้านบาทก็ตาม 

 


 

มาถึงยุค อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ เป็นซีอีโอ ถือเป็นปีที่ ปตท.มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอีกรอบ จากการแตกบริษัทลูกออกไป 1 บริษัทนั่นคือ โออาร์ ทำให้ปี 2563 กำไร 37,766 ล้านบาท พอถึงปี 2564 กำไรรวม 108,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70,597 ล้านบาท โดยกำไรหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้น ทั้งสายโอเลฟินส์ และ อะโรเมติกส์ 
 

โดยในปีนี้ทั้งปี นักวิเคราะห์ต่างประเมินกันว่า กำไรของบริษัท ปตท.น่าจะใกล้เคียง 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่แย่นัก
 

แต่ที่น่าจับตาของการคือ การปรับตัวในทางยุทธศาสตร์และโครงสร้างการทำธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ที่สยายปีกออกไปนอกขอบเขตของพลังงานอย่างเดียวมากกว่า  
 

ด้วยนโยบายขององค์กรที่กำลังเดินหน้าสู่ “Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังงานแห่งอนาคต” ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานให้เติบโตไปสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ทีไปไกลมากกว่าพลังงาน นับเป็นการคิกออฟการพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ นี่แหละที่เป็นจุดเปลี่ยนในเชิงการทำธุรกิจของกลุ่ม PTT อีกครั้งในรอบ 20 ปี  
 

ในการเดินทางไปดูงานด้านพลังงานที่ฝรั่งเศส อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ได้ชี้แจงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนองค์กร ให้เห็นภาพการแปลเปลี่ยนและการปรับตัวขององค์กรอย่างน่าตื่นตาตื่นใจใน 2-3 ปี ข้างหน้า ผมจะไล่เรียงให้เห็นภาพดังนี้ 
 

ในแง่ของ Future Energy นั้น ปตท.กำลังเดินหน้ามุ่งสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มสูบ  
 

ปตท. ได้มีการขยายฐานการค้า LNG ส่งเสริมการเป็น Regional LNG Hub เพื่อมุ่งสู่การเป็น Global LNG Player ในระยะเวลาอันใกล้ไม่เกิน 1- 2 ปี หลังจากนี้ไป
 

กลุ่มปตท.กำลังติดเครื่องเปิดเกมรุกในธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยใช้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC มาเป็นแกนนำในการสร้างนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถสร้างธุรกิจนี้ได้ถึง 12 กิกะวัตต์ในปี 2573
 

ปตท.ยังได้จัดตั้ง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) ขึ้นมาเพื่อเดินหน้าธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร (EV Value Chain) โดยร่วมมือกับฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด(HORIZON PLUS) เพื่อขยายตลาดและสร้างฐานการผลิต EV ในไทย มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลาง EV ในภูมิภาค  

 

ปตท.ร่วมทุนกับ GPSC จัดตั้ง บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนด้านแบตเตอรี่ของกลุ่ม ปตท. สนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Battery Value Chain)   
 

ในระยะเวลาอันใกล้ บริษัท ARUN PLUS ยังมีแผนจับมือกับพันธมิตรชั้นนำในการขยายสถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station) ภายใต้แบรนด์ ออน-ไอออน (on-ion) ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ละจะเปิดให้บริการติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัยด้วย 
 

ปตท.จัดตั้ง บริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศธุรกิจให้เกิดการใช้ EV ในประเทศ ตอนนี้เริ่มเปิดให้บริการให้เช่ารถ EV  และกำลังขยายสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จของ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) 
 

ปตท.ยังได้จัดตั้ง บริษัท รี แอค จำกัด (ReAcc) ขึ้นเป็นตัวแทนให้บริการซื้อขายด้านพลังงานสะอาดและความเป็นกลางทางก๊าซเรือนกระจกผ่าน ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพื่อผลักดันให้เกิดการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น  เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด EV และเพื่อสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด  
 

ถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายภาครัฐสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย…นี่คือ การปรับตัวเพื่อรองรับการใช้พลังงานที่แปรเปลี่ยนไปในอนาคต 
 

ในแง่ของการสยายปีกทางธุรกิจใหม่ในคอนเซ็ปต์ Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ผมว่าอันนี้แหละจะเป็นอนาคตที่ชวนติดตามอย่างยิ่ง 
 

กลุ่ม ปตท.กำลังให้น้ำหนักในการเน้นธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ด้วยการเข้าสู่ “ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต” หรือ Life Science โดยใช้เรือธงหลักคือ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ที่มี ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เป็นรูปธรรม
 

ตอนนี้ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้เดินหน้าการลงทุนในธุรกิจยา ธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ จำนวนมากไม่น้อย และที่กำลังเจรจาเพื่อร่วมลงทุนในมืออีกนับ 10 บริษัท เพื่อก้าวขึ้นเป็นบริษัท Life Science ชั้นนำในภูมิภาค   
 

ปตท.ยังสยายปีกออกไปในธุรกิจปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI, Robotics & Digitalization) โดยร่วมกับกลุ่มมิตซุย ประเทศญี่ปุ่น จัดตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด (PTT RAISE) เพื่อให้บริการด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม 
 

จัดตั้งบริษัท เมฆา เทคโนโลยี จำกัด (Mekha Tech) เพื่อเปิดให้บริการระบบ Public Cloud ที่จะรองกับการเก็บข้อมูลในอวกาศ 
 

จัดตั้งบริษัท ที-อีโคซิส จำกัด (T-ECOSYS) พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบอัตโนมัติและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันสู่การเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจของผู้ประกอบการ 
 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท. ยังมุ่งเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) ต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งธุรกิจน้ำมันและเสริมสร้างธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Mobility & Lifestyle) เพื่อสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค
 

กลุ่มปตท.ยังเดินหน้าสู่ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมการขนส่งสินค้าแบบครบวงจร ทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดย ปตท. มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ของอาเซียน  
 

ธุรกิจในครอบครัวตัว ป.กำลังแตกหน่อออกไปยุบยับในธุรกิจอนาคต แทนที่จะพึ่ง 7 บริษัทลูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่นในอดีต แต่ดอกผลจะผลิบานแค่ไหน ผมว่าไม่ช้านนานจะเห็นบริบทของ PTT ในอีกมิติหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะถ้าเพาะต้นกล้าลงบนดินที่สมบูรณ์ เมื่อไหร่ ต้นไม้ก็จะแตกหน่อแบ่งบาน กิ่ง ก้าน เติบโตออกมาให้เห็นแน่!