แม้ว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกจะได้รับการชะลอ 90 วันจากภาษีนำเข้าเพิ่มเติมที่นอกเหนือจากภาษีใหม่ 10% สำหรับประเทศคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ แต่ "จีน" กลับต้องเผชิญกับแรงกดดัน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2025 ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 125% เเละต่อมา ฝ่ายบริหารของ โดนัลด์ ทรัมป์ ยืนยันกับซีเอ็นบีซีเมื่อวันที่ 10 เมษายนว่า อัตราภาษีสหรัฐ ต่อสินค้านำเข้าจากจีนในปัจจุบันรวมแล้วอยู่ที่ 145% โดยคำสั่งบริหารล่าสุดของทรัมป์ได้เพิ่มภาษีตอบโต้ต่อปักกิ่งเป็น 125% ซึ่งรวมกับภาษีที่เกี่ยวข้องกับเฟนทานิลอีก 20% ที่ถูกบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม
หลายประเทศเลือกจะไม่ตอบโต้การขึ้นภาษีแบบต่างตอบแทนของทรัมป์ในทันที โดยหันไปใช้วิธีการเจรจาเช่นเดียวกับประเทศไทย เเต่จีนกลับเลือกใช้วิธีที่ต่างออกไปอย่าง โดยตอบโต้ด้วยมาตรการสวนกลับที่รวดเร็วและเด็ดขาด เมื่อวันที่ 11 เมษายน จีนออกมาประณามมาตรการของทรัมป์ว่าเป็นและประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 125% เช่นกัน
สองเศรษฐกิจใหญ่กำลังอยู่ในภาวะการปะทะกันทางการค้าแบบเต็มพิกัด และจีนก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีทีท่าจะยอมถอย
เว็บไซต์ the conversation รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สหรัฐฯ–จีน ไม่คาดว่าจีนจะยอมถอยเช่นกัน แตกต่างจากสงครามการค้าระหว่างสองประเทศในสมัยแรกของทรัมป์ ซึ่งในตอนนั้นจีนยังมีท่าทีต้องการเจรจากับสหรัฐฯ แต่ในขณะนี้ จีนกลับถือไพ่ที่แข็งแกร่งกว่าอย่างชัดเจน
ผลกระทบจากภาษีศุลกากรนั้นรุนแรงต่อผู้ผลิตที่มุ่งเน้นการส่งออกของจีน โดยเฉพาะในฝั่งที่ผลิตสินค้าอย่างเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า ของเล่น และเครื่องใช้ภายในบ้านเพื่อส่งออกไปยังผู้บริโภคชาวอเมริกัน
ย้อนกลับไปแต่ตั้งแต่ทรัมป์เริ่มต้นใช้มาตรการขึ้นภาษีกับจีนครั้งแรกในปี 2018 ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหลายประการได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จนทำให้การคำนวณเชิงยุทธศาสตร์ของจีนเปลี่ยนไป
ที่น่าสนใจคือ ความสำคัญของตลาดสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการส่งออกของจีนนั้นลดลงอย่างมาก ในปี 2018 เมื่อเริ่มสงครามการค้าครั้งแรก การส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ คิดเป็น 19.8% ของการส่งออกทั้งหมดของจีน แต่ในปี 2023 ตัวเลขนี้ลดลงเหลือเพียง 12.8% เท่านั้น
คำถามก็คือ ภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้นอาจยิ่งกระตุ้นให้จีนเร่งเดินหน้ากลยุทธ์การขยายอุปสงค์ภายในประเทศมากขึ้นอีก ซึ่งจะปลดปล่อยการใช้จ่ายของผู้บริโภคชาวจีนและเสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจในประเทศหรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จีนรู้ว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถแทนที่การพึ่งพาสินค้าจากจีนได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทาน แม้การนำเข้าสินค้าจากจีนโดยตรงของสหรัฐจะลดลง แต่สินค้าจำนวนมากที่นำเข้าจากประเทศที่สามยังคงใช้ชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบจากจีนอยู่
ภายในปี 2022 สหรัฐฯ ยังพึ่งพาจีนในสินค้า 532 หมวด ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าจากปี 2000 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน การพึ่งพาสินค้าจากสหรัฐฯ ของจีนกลับลดลงครึ่งหนึ่ง
อีกหนึ่งตัวแปรคือ ความคิดเห็นของสาธารณชน ภาษีที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มจะผลักดันให้ราคาสินค้าแพงขึ้น ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจในหมู่ผู้บริโภคชาวอเมริกัน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ซึ่งจีนเชื่อว่าภาษีของทรัมป์อาจเสี่ยงต่อการผลักเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เคยแข็งแกร่งให้เข้าสู่ภาวะถดถอย
อาวุธตอบโต้ที่ทรงพลัง
จีนมีอำนาจเหนือห่วงโซ่อุปทานของ “แร่หายาก” ซึ่งมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมทางทหารและเทคโนโลยีขั้นสูง โดยจัดหาประมาณ 72% ของการนำเข้าแร่หายากของสหรัฐฯ ตามบางประมาณการ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม จีนได้ขึ้นบัญชีควบคุมการส่งออกต่อบริษัทอเมริกัน 15 แห่ง ตามมาด้วยอีก 12 แห่งเมื่อวันที่ 9 เมษายน ส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาด้านกลาโหมและบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่พึ่งพาแร่หายากเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ของตน
จีนยังคงมีศักยภาพในการโจมตีภาคการส่งออกเกษตรกรรมของสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น สัตว์ปีกและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาความต้องการจากจีนและมีฐานอยู่ในรัฐที่นิยมพรรครีพับลิกัน โดยจีนเป็นผู้นำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ คิดเป็นราวครึ่งหนึ่งของปริมาณส่งออก และนำเข้าสัตว์ปีกคิดเป็นเกือบ 10% เมื่อวันที่ 4 มีนาคม จีนเพิกถอนการอนุมัตินำเข้าสำหรับผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ของสหรัฐฯ สามราย
ด้านเทคโนโลยี บริษัทสหรัฐฯ อย่าง Apple และ Tesla ยังมีความผูกพันกับฐานการผลิตในจีน ภาษีนำเข้าขู่ว่าจะทำให้กำไรของบริษัทเหล่านี้หดตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจีนมองว่าเป็นแต้มต่อที่สามารถใช้กดดันรัฐบาลทรัมป์ได้อย่างดี ล่าสุดมีรายงานว่าจีนกำลังใช้แรงกดดันด้านกฎระเบียบตอบโต้บริษัทสหรัฐฯ ที่ดำเนินธุรกิจในจีน
ตามรายงานของสำนักข่าวซินหัว ระบุว่า จีนได้เพิ่มบริษัทของสหรัฐฯ 6 แห่ง ซึ่งรวมถึง ชิลด์ เอไอ อิงก์ (Shield AI, Inc.) และเซียร์รา เนวาดา คอร์ปอเรชั่น (Sierra Nevada Corporation) เข้าบัญชีรายชื่อองค์กรธุรกิจที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 12.01 น. ของวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.) เเละเพิ่มบริษัทสหรัฐฯ 12 แห่ง เข้าบัญชีควบคุมการส่งออก ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของจีน อาทิ อเมริกัน โฟโทนิกส์ (American Photonics) และโนโวเทค อิงก์ (Novotech, Inc.) เข้าในบัญชีควบคุมการส่งออกสินค้า เริ่มตั้งแต่เวลา 12.01 น. ของวันพฤหัสบดี (10 เม.ย.)
นอกจากนี้ ความจริงที่ว่า "อีลอน มัสก์" ซึ่งเป็นบุคคลวงในของทรัมป์ และเคยปะทะกับที่ปรึกษาการค้าของสหรัฐฯ อย่าง "ปีเตอร์ นาวาร์โร" ในประเด็นภาษีศุลกากร มีผลประโยชน์ทางธุรกิจจำนวนมากในจีนนั้น ก็ถือเป็น “ช่องทางแตกแยก” ที่จีนอาจใช้ประโยชน์เพื่อทำให้รัฐบาลทรัมป์เกิดความขัดแย้งภายใน
โอกาสเชิงยุทธศาสตร์ของจีน
นโยบายการลงดาบคู่ค้าหลายประเทศของสหรัฐฯ ครั้งนี้ อาจเปิดช่องทางเชิงยุทธศาสตร์ในระดับประวัติศาสตร์ ที่อาจช่วยให้จีนสั่นคลอนอำนาจนำของสหรัฐฯ บนเวทีโลกได้
จังหวะการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของเอเชียตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม หลังจากที่ทรัมป์เริ่มประกาศขึ้นภาษีสินค้าจีน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้จัดการเจรจาทางเศรษฐกิจร่วมกันเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี และให้คำมั่นว่าจะผลักดันข้อตกลงเขตการค้าเสรีไตรภาคีให้เดินหน้าอย่างจริงจัง ความเคลื่อนไหวนี้ถือว่าน่าจับตา เพราะในยุคของประธานาธิบดีไบเดน สหรัฐฯ ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เพื่อถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในลักษณะเดียวกัน ภาษีที่ทรัมป์กำหนดอย่างรุนแรงต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในยุคไบเดน อาจผลักดันให้ประเทศเหล่านั้นโน้มเอียงเข้าหาจีนมากขึ้น
สื่อของรัฐจีนรายงานเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เตรียมเดินทางเยือนเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ระหว่างวันที่ 14–18 เมษายน เพื่อกระชับความร่วมมือรอบด้านกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสามประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ว่านี้ ต่างเป็นเป้าหมายของมาตรการภาษีแบบต่างตอบแทนที่ทรัมป์ประกาศก่อนหน้านี้ โดยสินค้าจากกัมพูชาถูกเก็บภาษีถึง 49% สินค้าจากเวียดนาม 46% และสินค้าจากมาเลเซีย 24% แม้ว่าขณะนี้การดำเนินการจะถูกชะลอก็ตาม
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ที่น่าจับตายิ่งกว่านั้นอีก นั่นคือในความสัมพันธ์จีน-ยุโรป กลยุทธ์ด้านภาษีของทรัมป์ได้กระตุ้นให้จีนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป เริ่มพิจารณาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าซึ่งเคยตึงเครียดกันในอดีต หากเกิดขึ้นจริง อาจบั่นทอนพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกที่เคยตั้งเป้าจะร่วมกันลดการพึ่งพาจีน
เมื่อวันที่ 8 เมษายน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปได้สนทนาทางโทรศัพท์กับนายกรัฐมนตรีจีน ทั้งสองฝ่ายร่วมกันประณามนโยบายปกป้องการค้าของสหรัฐฯ และสนับสนุนการค้าเสรี ในวันถัดมา วันที่ 9 เมษายน วันที่จีนประกาศขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯ เป็น 84% สหภาพยุโรปก็ประกาศมาตรการตอบโต้ชุดแรกเช่นกัน ด้วยการเก็บภาษี 25% ต่อสินค้าสหรัฐฯ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านยูโร แต่ชะลอการบังคับใช้ไว้ชั่วคราวเพื่อรอผลจากมาตรการผ่อนผัน 90 วัน
วันศุกร์ ที่ 11 เมษายน สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน พบปะหารือกับ เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ณ กรุงปักกิ่ง โดยกล่าวว่า
ไม่มีผู้ชนะในสงครามภาษีศุลกากร และการสวนกระแสโลกจะนำพาสู่การแยกตัวโดดเดี่ยวเท่านั้น
ล่าสุดมีรายงานวา เจ้าหน้าที่จากจีนและสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างเจรจาเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าที่มีอยู่ และกำลังพิจารณาการจัดประชุมสุดยอดร่วมอย่างเต็มรูปแบบในประเทศจีนช่วงเดือนกรกฎาคม
นอกจากนี้นโยบายภาษีของทรัมป์อาจบั่นทอนสถานะระหว่างประเทศของ "เงินดอลลาร์สหรัฐฯ" ได้อย่างมีนัยสำคัญ ภาษีในวงกว้างที่สหรัฐฯ กำหนดต่อหลายประเทศทั่วโลก ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเศรษฐกิจอเมริกัน นำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์
ดอลลาร์สหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลมักถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่ความปั่นป่วนในตลาดช่วงหลังกลับสร้างข้อกังขา ในเวลาเดียวกัน ภาษีศุลกากรที่พุ่งสูงได้จุดประกายความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความยั่งยืนของหนี้สาธารณะ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งต่อเงินดอลลาร์และพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ