สื่อนอกเผย ผบ.ทอ.ไทยเตรียมเยือนสวีเดน-สหรัฐ หารือซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่

07 พ.ค. 2567 | 11:23 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2567 | 11:57 น.

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย ของญี่ปุ่นรายงานว่า พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ของไทยจะบินเยือนประเทศสวีเดนและสหรัฐในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อหารือรายละเอียดเกี่ยวกับแผนจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงใหม่ 12 ลำ

แผนจัดซื้อเครื่องบินรบ ฝูงใหม่ 12 ลำของ กองทัพอากาศไทย นั้น เป็นข้อตกลงที่อาจครอบคลุมข้อตกลงการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอาวุธของไทยด้วย

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) พิจารณาซื้อ เครื่องบินกริพเพน (Gripen) ของสวีเดน หรือไม่ก็ F-16 Block 70/72 ของสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาทดแทนฝูงบินเก่าจำนวน 12 ลำ อันได้แก่ เครื่องบิน F-16 A และ F-16 ADF โดยกองทัพอากาศไทยได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในสมุดปกขาวเมื่อช่วงต้นปีนี้ เพื่ออธิบายการประเมินความปลอดภัยสำหรับปี 2567-2580

F-16 Block 70/72 ของสหรัฐอเมริกา

แหล่งข่าวกระทรวงกลาโหมไทยระบุว่า กองทัพอากาศไทยใกล้จะต้องสรุปข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงของไทยมีกำหนดตัดสินใจในเดือนมิ.ย.นี้ว่า จะอนุมัติการจัดซื้อเครื่องบินจากประเทศใด

สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า แผนจัดซื้อฝูงบินใหม่ดังกล่าวนับเป็นเรื่องเร่งด่วน หลังไทยนำเครื่องบินรบออกลาดตระเวนตามแนวพรมแดนฝั่งตะวันตกของไทยตลอดเดือนเม.ย. เนื่องจากสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น

เครื่องบินกริพเพน (Gripen) ของสวีเดน

รายงานระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณจัดซื้อเครื่องบินรบฝูงดังกล่าวในหลักการ จากงบประมาณสำหรับปีการคลัง 2567-2568 ซึ่งเริ่มต้นในเดือนต.ค.ปีนี้ แต่ยังสามารถปรับลดงบประมาณก่อนที่จะมีการลงมติ โดยประมาณการว่าการจัดซื้อเครื่องบินรบชุดแรกจำนวน 4 ลำจะใช้งบประมาณ 19,000 ล้านบาท (517 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ปัจจุบัน ทอ. มีฝูงบิน F-16 จำนวน 50 ลำ และฝูงบินกริพเพนซึ่งจัดซื้อในปี 2551 นับว่าไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ซื้อเครื่องบินรบกริพเพนของสวีเดน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเครื่องบินรบเอนกประสงค์

ซีมอน เวซมาน นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute) ซึ่งเป็นองค์กรคลังสมองของสวีเดนที่ติดตามข้อมูลอุตสาหกรรมอาวุธทั่วโลก ให้ความเห็นว่า ความต้องการเครื่องบินรบฝูงใหม่ของไทยนั้น ถือเป็นการทบทวนนโยบายเก่า เพราะอันที่จริงไทยมีแผนจัดซื้อเครื่องบินรบมาทดแทนฝูงเก่าที่ใช้อยู่ และมีการเจรจาเรื่องซื้อเครื่องบินมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ถึงต้นทศวรรษ 2000 แต่ดูเหมือนว่า แผนการซื้อเครื่องบินจะถูกชะลอมาระยะหนึ่งแล้วจนถึงขณะนี้