สงครามยูเครนขึ้นปีที่สาม สหรัฐจัดหนักมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่

25 ก.พ. 2567 | 00:05 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2567 | 00:15 น.

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ จัดหนักประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียชุดใหม่ช่วงสุดสัปดาห์นี้ ในวาระครบรอบ 2 ปีย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ของการที่กองทัพรัสเซียบุกเข้ารุกรานยูเครน โดยมาตรการคว่ำบาตรครั้งนี้ มุ่งเป้าบุคคลและองค์กรของรัสเซียรวมกว่า 500 ราย

 

มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียรอบใหม่ ที่ประกาศโดย ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.พ.) ประกอบด้วยมาตรการของกระทรวงต่างๆ โดย กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาตรการลงโทษชุดใหม่ต่อรัสเซีย มุ่งเป้าไปที่บุคคลและองค์กรเกือบ 300 รายชื่อ ขณะที่วันเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาตรการลงโทษบุคคลและองค์กรของรัสเซียกว่า 250 รายชื่อ ส่วน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ ได้เพิ่มรายชื่อกว่า 90 บริษัท ประกอบด้วยบริษัทของรัสเซีย จีน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอื่น ๆ เข้าไปในบัญชีดำของสหรัฐ

โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐกล่าวว่า มาตรการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ต้องชดใช้ในพฤติกรรมก้าวร้าวรุกรานในต่างประเทศและการปราบปรามผู้เห็นต่างภายในประเทศ

ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวของสหรัฐ สอดรับกับวาระครบรอบ 2 ปีและการย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งวาระการเสียชีวิตของนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเครมลินเมื่อเร็วๆนี้

มาตรการลงโทษชุดใหม่ของสหรัฐมุ่งเป้าไปในที่ระบบธุรกรรมการเงินของรัสเซีย ที่ชื่อว่า เมียร์ (Mir) สถาบันการเงินต่าง ๆ ฐานอุตสาหกรรมการทหารของรัสเซีย ภาคพลังงานและภาคส่วนอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลงโทษต่อเจ้าหน้าที่เรือนจำที่สหรัฐฯ ระบุว่า “มีส่วนเกี่ยวข้อง” กับการเสียชีวิตของนาวาลนีอีกด้วย

ภายหลังการประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียรอบใหม่ นายอนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐอเมริกากล่าวผ่านบัญชีเทเลแกรมของสถานทูตรัสเซียในสหรัฐว่า รัฐบาลวอชิงตันไม่เข้าใจเลยหรือว่า มาตรการลงโทษเหล่านี้ไม่อาจทำอะไรรัสเซียได้  

ความเคลื่อนไหวของสหรัฐครั้งนี้ สอดรับกับวาระครบรอบ 2 ปีและการย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทั้งนี้ รัสเซียส่งทหารรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเรียกมันว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” และการต่อสู้ที่ยังคงยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้ ก็ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับหมื่นคนและทำให้หลายเมืองเสียหายหนัก

เท่าที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดีไบเดน พยายามหาทางสนับสนุนยูเครนในช่วงที่ยูเครนเผชิญกับการขาดแคลนกระสุนและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แต่มาในระยะหลังๆนี้ การอนุมัติความช่วยเหลือด้านการทหารของสหรัฐให้กับยูเครนนั้น พบกับความล่าช้ามาหลายเดือนแล้ว

การระดมลงโทษรัสเซียโดยชาติตะวันตก 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ประเทศตะวันตกอื่นๆ ได้ระดมประกาศมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียออกมา โดยเมื่อวันศุกร์ (23 ก.พ.) ทางสหภาพยุโรป (อียู) อังกฤษ และแคนาดา ได้ออกมาตรการลงโทษรัสเซียเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ทำให้ตอนนี้มีบุคคลและองค์กรกว่า 2,000 รายชื่อที่อยู่ในบัญชีดำของอียู ภายใต้มาตรการลงโทษที่มุ่งเป้าต่อรัสเซีย

ปูตินลั่น มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ไม่ทำให้รัสเซียสะเทือน

การประกาศมาตรการลงโทษรัสเซียครั้งนี้ ยังมีความน่าสนใจตรงที่นับเป็นครั้งแรก ที่มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของอียู พุ่งเป้าครอบคลุมมายังบริษัทของจีนที่ต้องสงสัยว่าให้การช่วยเหลือรัฐบาลเครมลินด้วย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอินเดีย ตุรกี เซอร์เบีย คาซัคสถาน สิงคโปร์ ศรีลังกา ฮ่องกง รวมทั้งบริษัทไทย ที่อยู่ในรายชื่อล่าสุดนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของรัสเซียที่มุ่งเน้นภาคการส่งออกนั้น กลับมีความทนทานต่อมาตรการลงโทษที่ชาติตะวันตกระดมใช้กับรัสเซียมาเป็นเวลาร่วม 2 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ในทิศทางที่ดีเกินคาด ซึ่งทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของรัสเซีย จะมีการขยายตัว 2.6% ในปีนี้ (2567) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมในเดือนตุลาคมปีก่อนราว 1.5% หลังจากเศรษฐกิจรัสเซียเติบโตได้ที่อัตรา 3.0% ในปี 2566 ทั้งๆที่อยู่ในภาวะสงคราม

ปัจจัยเหล่านี้จะมีผลต่อทิศทางของสงครามยูเครน

การรุกรานยูเครนโดยกองทัพรัสเซียครบรอบ 2 ปีเต็ม ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว จนถึงขณะนี้ กองทัพยูเครนกำลังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ ขาดยุทธภัณฑ์ และถูกบีบให้ถอนกำลังออกจากบางพื้นที่ กล่าวได้ว่าการสนับสนุนจากพันธมิตรชาติตะวันตก จะมีผลอย่างมากต่อความสามารถของรัฐบาลกรุงเคียฟในการต่อต้านการโจมตีของรัสเซีย

จากการประมวลของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่ามีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือยูเครนจากสหรัฐ และชาติตะวันตก ดังนี้

  • งบประมาณสนับสนุนจากอเมริกา

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายที่จะให้งบสนับสนุนทางการทหารแก่ยูเครนวงเงินราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กำลังค้างคาอยู่ในสภาคองเกรส หลังเผชิญกับแรงต่อต้านจากผู้แทนราษฎรสังกัดพรรครีพับลิกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากนี้ นายไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังคงเมินเฉยต่อแรงกดดันจากทำเนียบขาวที่ให้สภาเริ่มลงคะแนนเสียงเรื่องนี้เสียที

ด้านนายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กล่าวในการประชุมความมั่นคงมิวนิคเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ทุกสัปดาห์ที่เรารอคอย หมายความว่าจะมีคนถูกสังหารมากขึ้นที่แนวหน้าในยูเครน”

เจ้าหน้าที่จากชาติตะวันตกและยูเครนกล่าวว่า ร่างงบประมาณข้างต้นของสหรัฐ มีความสำคัญอย่างมากต่อกองทัพยูเครน โดยเจ้าหน้าที่จากยุโรประบุว่า มีสัญญาณที่ดีจากสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐในเรื่องนี้ในการประชุมที่มิวนิค แต่ก็คาดว่าคงต้องใช้เวลา กว่าที่กฎหมายจะได้รับการรับรอง

ผู้นำยูเครนพยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกจัดส่งระบบอาวุธที่จะช่วยให้ยูเครนสามารถโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง

  • ความพร้อมทางอาวุธยุทโธปกรณ์

การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ดำเนินอยู่นี้ ส่วนใหญ่เป็นการซัดกันด้วยกระสุนปืนใหญ่หลายพันลูกต่อวัน นักวิเคราะห์ระบุว่า ยูเครนสามารถยิงได้มากกว่าจนถึงปี 2566 ก่อนที่รัสเซียจะพลิกเกมด้วยการเพิ่มกำลังการผลิต และนำเข้ากระสุนปืนใหญ่จากอิหร่านและเกาหลีเหนือ

ไมเคิล คอฟแมน นักวิจัยจากสถาบัน  Carnegie Endowment for International Peace ในกรุงวอชิงตัน คาดว่ารัสเซียยิงปืนใหญ่ได้มากกว่ายูเครนถึง 5 เท่า

เรื่องนี้สอดคล้องกับความคิดเห็นของศาสตราจารย์ จัสติน บรองค์ จากสถาบัน RUSI ซึ่งเป็นคลังความคิดด้านความมั่นคงจากอังกฤษ ที่กล่าวว่า ปัจจัยที่สำคัญยิ่งของยูเครน อยู่ที่ว่าพันธมิตรจากประเทศตะวันตกจะจัดส่งกระสุนให้ยูเครนได้มากกว่าที่รัสเซียมีอยู่หรือไม่

ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับแถวหน้าของยูเครนพยายามเรียกร้องให้ชาติตะวันตกจัดส่งระบบอาวุธอื่น ๆ เพื่อที่จะสามารถโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซียได้ เช่น ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (ATACMS) ของสหรัฐ หรือขีปนาวุธเทารุส (Taurus) ของเยอรมนี แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ข่าวระบุว่า ทางเยอรมนีมีความกังวลว่า การให้ขีปนาวุธดังกล่าวแก่ยูเครน อาจยกระดับของสงคราม และทำให้บทบาทของรัฐบาลเบอร์ลินในความขัดแย้งครั้งนี้มีมากขึ้น

การสู้รบในตะวันออกกลาง ทำให้ชาติตะวันตกมีเวลาและเจตจำนงทางการเมืองที่จะให้กับยูเครนน้อยลง

  • สงครามตะวันออกกลาง

การสู้รบในฉนวนกาซาที่ตามมาหลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ทำให้ชาติตะวันตกมีเวลาและเจตจำนงทางการเมืองที่จะใช้กับยูเครนน้อยลง และอาจจะยิ่งน้อยลงไปอีกหากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาสขยายปมและยกระดับเป็นสงครามระดับภูมิภาค

นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่ม Global South ซึ่งเป็นประเทศจากภูมิภาคละตินอเมริกา แอฟริกา เอเชียและโอเชียเนีย ที่มองว่า ชาติตะวันตกมีท่าทีต่อสงครามที่กาซาและยูเครนแบบสองมาตรฐาน ยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นสำหรับรัฐบาลกรุงเคียฟในการออกมาเรียกร้องประเทศต่าง ๆ ให้หันมาสนับสนุนแผนสันติภาพของยูเครน

  • การประชุมผู้นำ NATO ที่กรุงวอชิงตัน

การประชุมสุดยอดผู้นำชาติสมาชิก NATO ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9-11 มิถุนายนที่จะถึงนี้ ไม่เพียงจะมีผลกระทบต่อการสู้รบ แต่ยังจะมีผลต่อบรรยากาศทางการเมืองและขวัญกำลังใจของฝ่ายยูเครน สืบเนื่องจากความพยายามที่จะให้ยูเครนเข้าเป็นชาติสมาชิกของ NATO ยังคงดำเนินต่อไป และการเป็นสมาชิก NATO นั้นก็หมายถึงการอยู่ภายใต้หลักการที่ว่า ทุกชาติสมาชิกจะเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ถูกรุกราน

ทั้งนี้ นักการทูตหลายคนระบุว่า มหาอำนาจใน NATO อย่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี ยังคงคัดค้านการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO เนื่องจากกังวลว่าจะทำให้กลุ่มก้อนพันธมิตรนี้ขัดแย้งกับรัสเซียโดยตรงมากขึ้น

  • การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.

นายโดนัลด์ ทรัมป์ เต็งหนึ่งจากพรรครีพับลิกัน ที่จะมาท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ย.นี้ มีท่าทีวิพากษ์วิจารณ์ NATO อย่างดุดันในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของสหรัฐ กระทั่งถึงขั้นที่เขาขู่ว่าจะนำสหรัฐออกจากการเป็นสมาชิก NATO และยังหั่นงบที่สนับสนุนองค์กรดังกล่าวลงด้วย

ขณะที่ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งปัจจุบันอายุ 81 ปี ตัดสินใจที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง เพราะเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน พบว่าความนิยมในตัวเขาตกลงมาแทบจะเท่ากับนายทรัมป์แล้ว และชาวอเมริกันก็ยังมีข้อสงสัยในเรื่องอายุของนายไบเดน แผนการทางเศรษฐกิจของเขา รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับชายแดนและภูมิภาคตะวันออกกลางของเขาด้วย