เศรษฐกิจจีนปี 66 โตทะลุเป้า 5.2% แต่ปี 67 ยังเสี่ยง"อสังหา-เงินฝืด"ฉุดรั้ง

18 ม.ค. 2567 | 10:09 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2567 | 10:12 น.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ - ภาวะเงินฝืด เป็นปัจจัยสำคัญฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2567 คาดโตชะลอเหลือ 4.5% จากปี 2566 ที่ขยายตัวทะลุเป้าอยู่ระดับ 5.2% ผลจากมาตรการกระตุ้นและฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า

KEY

POINTS

  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้าหนุนเศรษฐกิจจีนปี 2566 เติบโตได้ที่ 5.2% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายทางการที่ 5.0% อย่างไรก็ตามภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจจีน
  • ในปี 2567ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงอยู่ที่ 4.5% โดยยังมีความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์และความเสี่ยงการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น
     

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย  ระบุว่าเศรษฐกิจจีนปี 2566 บรรลุเป้าหมายทางการโดยเติบโตที่ 5.2% ท่ามกลางแรงกดดันภาคอสังหาริมทรัพย์ และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 4/2566 เติบโตที่ 5.2%YoY จาก 4.9%YoY ในไตรมาส 3/2566 ได้รับปัจจัยหนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยตัวเลขยอดค้าปลีกของจีนในไตรมาส 4/2566 เติบโตอยู่ที่ 8.3% YoY จาก -2.7% YoY ในไตรมาส 4/2565 นอกจากนี้ ทางการจีนได้มีการอนุมัติการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (คิดเป็น 0.8% ของเศรษฐกิจจีนปี 2566) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

เศรษฐกิจจีนปี 66 โตทะลุเป้า 5.2% แต่ปี 67 ยังเสี่ยง\"อสังหา-เงินฝืด\"ฉุดรั้ง

สำหรับปี 2566 เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ที่ 5.2% สูงกว่าเป้าหมายของทางการ ได้รับปัจจัยหนุนจากฐานที่ต่ำในปีก่อน รวมถึงภาคบริการที่เติบโตได้ที่ 5.8% นอกจากนี้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปรับเพิ่มขึ้น 3.0% ซึ่งมาจากการลงทุนที่เกี่ยวข้องอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นสำคัญซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของทางการจีนที่ต้องการพึ่งพาตนเองในส่วนของเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลง 9.6% บ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของจีน 

ภาคอสังหาริมทรัพย์ : ปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของจีน

ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อจะยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจจีน โดยในปี 2567 คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเห็นอยู่ ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้มีการออกนโยบายมาสนับสนุนทั้งในฝั่งของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และผ่อนคลายกฎเกณฑ์เอื้อให้ประชาชนซื้อบ้าน แต่ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว โดยสถานการณ์ในเรื่องของบ้านที่สร้างไม่เสร็จและไม่ได้รับการส่งมอบยังคงไม่คลี่คลาย ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 100 แห่งปี 2566 ยังปรับลดลงอยู่ที่ -16.5% 

ความเสี่ยงเรื่องภาวะเงินฝืดเพิ่มขึ้น  ในช่วงไตรมาส 4/2566 เงินเฟ้อของจีนออกมาติดลบติดต่อกัน 3 เดือนจนสร้างความกังวลถึงภาวะเงินฝืดภายในประเทศ อย่างไรก็ดี การติดลบของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากราคาเนื้อหมูที่เผชิญปัญหากำลังการผลิตที่มากเกินไป (Oversupply) ในปี 2567 เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำทั้งจากปัญหาด้านการว่างงาน และภาคอสังหาริมทรัพย์  ทั้งนี้ คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 อยู่ที่ 1.4% (Bloomberg consensus) 

ในปี 2567เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปีก่อนอยู่ที่ 4.5% โดยคาดว่าทางการจีนจะยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงิน และการคลังต่อเนื่องเพื่อหนุนเศรษฐกิจจีนในช่วงเปลี่ยนผ่าน ติดตามการประกาศเป้าหมายเศรษฐกิจของจีนปี 2567 จากทางการในการประชุมเดือนมี.ค.2567