เลขาธิการอาเซียนพบ “ปานปรีย์” ย้ำเอกภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

18 ธ.ค. 2566 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ธ.ค. 2566 | 14:39 น.

เลขาธิการอาเซียน พบหารือ "ปานปรีย์" ระหว่างเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษที่กรุงโตเกียว ย้ำเอกภาพของอาเซียนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมหนุนบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

 

ดร.เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยมคารวะ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในห้วง การประชุมสุดยอดอาเซียน – ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลอง วาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 14-18 ธันวาคม 2566 ณ กรุงโตเกียว โดยการพบปะครั้งนี้ มีขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ย้ำความปรารถนาของไทยให้อาเซียนมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และขอบคุณการสนับสนุนของเลขาธิการอาเซียนที่ให้แก่ไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น

ดร.เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน เข้าเยี่ยมคารวะ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นสำคัญอื่น ๆ อาทิ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล วาระความยั่งยืน ความเป็นแกนกลางของอาเซียน สถานการณ์ในเมียนมา รวมถึงข้อริเริ่มของไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความพยายามของอาเซียนในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาด้วย

ในวันเดียวกัน (17 ธ.ค.) นายปานปรีย์ยังได้ร่วมคณะของนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อ ฉลองวาระครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็น ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น วาระปี พ.ศ. 2564-2567 ขอชื่นชมบทบาทที่สำคัญของญี่ปุ่น และความร่วมมือใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ที่มีมายาวนานกว่า 50 ปี ในการเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในภูมิภาค

การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น (17 ธ.ค.66)

เลขาธิการอาเซียนพบ “ปานปรีย์” ย้ำเอกภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนให้ญี่ปุ่นมีบทบาทที่สร้างสรรค์ท่ามกลางวิกฤติและความเปราะบางของสันติภาพโลก ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิเทคโนโลยี

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เสนอแนวทางยกระดับความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อร่วมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน 5 ประเด็น ได้แก่

  1. การเสริมสร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน - ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อย่างเต็มที่ รวมทั้งความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาค โดยไทยกำลังพัฒนาโครงการ Landbridge เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
  2. การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเติบโตสีเขียว การเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเงินสีเขียว การพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า โดยไทยสนับสนุนข้อริเริ่ม Asia Zero Emission Community ของญี่ปุ่น และยุทธศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (Strategic Program for ASEAN Climate and Environment) เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  3. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEFA ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคขึ้น 2 เท่าเป็น 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 โดยไทยยินดีร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อสร้างระบบนิเวศทางดิจิทัล
  4. ความมั่นคงด้านสาธารณสุข ไทยชื่นชมญี่ปุ่นที่สนับสนุนเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ หรือ ACPHEED ซึ่งมีสำนักเลขาธิการในประเทศไทย และพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระดับโลก
  5. เศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ โดยไทยพร้อมร่วมมือกับอาเซียนและญี่ปุ่นด้านการออกแบบ แฟชั่น อาหาร ภาพยนตร์ ดนตรี และดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม

นายกฯ ยังได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนแบบใจถึงใจ (Heart-to-Heart Partnership) ผ่านการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน ทั้งในด้านการศึกษาและวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นที่มีมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นต่อสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ในเมียนมา โดยญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับไทยและอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมา ผู้นำอาเซียนและญี่ปุ่นยังได้รับรองแถลงการณ์ร่วมวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่นและแผนดำเนินงานฉบับใหม่ เพื่อกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์แบบรอบด้านอาเซียน-ญี่ปุ่นในอนาคต

ในการให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นครั้งนี้ ตอนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์นายกฯกล่าวว่า “การเดินทางในครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมาก และการพูดคุยในวันนี้ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี ซึ่งกระทรวงต่างประเทศเตรียมการไว้ดีมาก อย่างเรื่องนักธุรกิจไม่ต้องใช้วีซ่า เขา (ญี่ปุ่น) ขอมาช่วงที่เจอกันในที่ประชุมเอเปค ที่เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาขอมาไม่ถึง 1 เดือนก็เรียบร้อย เพราะเรารู้ดีว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นคู่สัญญาที่สำคัญในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในเมียนมา ผมจึงให้ความมั่นใจไปว่าประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงเราจะไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งก่อนหน้านี้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯและรมว. ต่างประเทศ ได้ประชุมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด โดยจะมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาพูดคุยว่าจะช่วยเหลืออย่างไร“ นายกรัฐมนตรีกล่าว