ทางรถไฟจีน-ลาว ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนทะลุ 1 แสนคนแล้ว

11 ธ.ค. 2566 | 06:01 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2566 | 06:27 น.

ทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเริ่มให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 13 เม.ย. ของปีนี้ ได้ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนกว่า 100,000 คนแล้ว เมื่อนับถึงวันอังคาร (5 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ทางรถไฟจีน-ลาว ที่ให้บริการปฐมฤกษ์ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2021 (พ.ศ.2564) และได้เริ่มให้ บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 13 เม.ย.ของปีนี้ ได้ ขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน กว่า 100,000 คนแล้ว เมื่อนับถึงวันอังคาร (5 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของจีนรายงานเมื่อปลายสัปดาห์ (7 ธ.ค.) อ้างอิงข้อมูลจากสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกของตำบลโม๋ฮัน มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ระบุว่า ผู้โดยสารข้ามพรมแดนส่วนหนึ่งเป็นชาวต่างชาติราว 14,900 คน และด่านรถไฟโม๋ฮันรองรับรถไฟโดยสารแล้วจำนวน 474 เที่ยว

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งวิ่งจากเมืองคุนหมิงมายังนครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของสปป.ลาว กลายเป็นวิธีการขนส่งที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น นับตั้งแต่เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดน เนื่องจากมีราคาค่าโดยสารที่ย่อมเยาและมีความสะดวกสบาย

รถไฟหัวกระสุนฟู่ซิงวิ่งบนสะพานหยวนเจียงของทางรถไฟจีน-ลาว มณฑลอวิ๋นหนาน (แฟ้มภาพซินหัว)

ทางรถไฟจีน-ลาว ความยาวรวมทั้งสิ้น 1,035 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างนครคุนหมิงของอวิ๋นหนาน(ยูนนาน) และนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ถือเป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่มีคุณภาพสูง เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021

ปัจจุบัน การเดินทางจากคุนหมิงสู่เวียงจันทน์ด้วยรถไฟใช้เวลาเพียงราวๆ 9 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นผลจากขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่กระชับรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็น “ทางด่วน” ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว (แฟ้มภาพซินหัว)

เกี่ยวกับทางรถไฟจีน-ลาว

รถไฟจีน - ลาว เปิดให้บริการปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นับเป็นหนึ่งในโครงการที่อยู่ภายใต้ "ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative: BRI) ของรัฐบาลจีน ครอบคลุมระยะทางยาวถึง 1,035 กิโลเมตรจากนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน ถึงนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว และใช้ระยะเวลาในการขนส่งเพียง 8-9 ชั่วโมง โดยสถานีปลายทางสุดท้ายสิ้นสุดที่นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ห่างจากจังหวัดหนองคายเพียง 24 กิโลเมตร ระยะแรกให้บริการขนส่งสินค้า ต่อมาปีนี้ (2566) จึงให้บริการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ

เส้นทางนี้เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกผ่านโครงการรถไฟจีน - ยุโรป ทำให้มีการเดินทางของผู้คนเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจไทยในภาพรวมและเศรษฐกิจภูมิภาคทั้งในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการขนส่ง

ส่วนบริการขนส่งผู้โดยสารข้ามพรมแดนขบวนแรก เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 โดยรายงานระบุว่า รถไฟเริ่มต้นให้บรรทุกผู้โดยสารเต็มกำลัง วิ่งด้วยความเร็วสูงถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตลอดเส้นทางยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร มีสถานีรายทาง 8 แห่ง

ระยะแรกๆที่ให้บริการ การเดินทางใช้ระยะเวลา 10 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งนับรวมระยะเวลาผ่านพิธีการศุลกากร แต่ปัจจุบัน การเดินทางจากคุนหมิงสู่เวียงจันทน์ด้วยรถไฟ ใช้เวลาเพียงราวๆ 9 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น

ที่มา สำนักข่าวซินหัว