นายกฯ สั่งการเร่งกต.เจรจา "ทุกช่องทาง" ช่วย 23 ตัวประกันคนไทยในอิสราเอล

03 พ.ย. 2566 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2566 | 13:54 น.

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ติดตามความคืบหน้า และสั่งการการเจรจาระหว่างไทยกับต่างประเทศทุกช่องทาง เพื่อขอรับความสนับสนุนให้เจรจาปล่อยตัวประกันชาวไทย 23 รายที่ถูกกลุ่มฮามาสจับไปโดยเร็วที่สุด

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยวันนี้ (3 พ.ย.) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการอย่างเร่งด่วนให้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยเดินทางไปยังประเทศกาตาร์และอียิปต์ เพื่อพบหารือกับเชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี (Sheikh Mohammed bin Abdulrahman bin Jassim Al Thani) นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐกาตาร์,ดร. ฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน (Dr. Hossien Amir Abdollahian) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน และนายซามิห์ ฮัสซัน ชุกรี (Mr. Sameh Shoukry) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ เพื่อ ขอรับความสนับสนุนให้เจรจาปล่อยตัวประกันชาวไทย 23 ราย  

โดยในโอกาสนี้ นายปานปรีย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์ในอิสราเอลที่ห้องแถลงข่าว กระทรวงการต่างประเทศ ( 3 พ.ย. เวลา 11.00 น.) ให้รายละเอียดเพิ่มเติม ดังนี้

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับเชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัฐกาตาร์ (31 ต.ค. 2566)

  • จากการได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ รัฐมนตรีแห่งรัฐ รัฐกาตาร์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเยือนกาตาร์ช่วงเดียวกัน และได้พบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอียิปต์ ที่กรุงไคโร ทุกฝ่ายแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและกาซา แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สิน โดยเฉพาะพลเรือนที่บริสุทธิ์ ซึ่งรวมถึงแรงงานไทยด้วย นอกจากนี้ ทุกฝ่ายแสดงท่าทีสนับสนุนประชาคมโลกที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิง และการเจรจาที่จะนำไปสู่ทางออกที่ยั่งยืนระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์
  • ในการหารือกับมิตรประเทศทั้งสามของไทยที่มีความสัมพันธ์และมีช่องทางสามารถเข้าถึงกลุ่มฮามาสได้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ขอรับการสนับสนุนในการหาแนวทางและผลักดันให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยเร็วที่สุด โดยทั้งสามประเทศเห็นว่า แรงงานไทยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำงานในภาคการเกษตร และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง อีกทั้งล้วนให้คำมั่นว่า ยินดีสนับสนุนและรับจะช่วยเจรจาปล่อยตัวประกันไทยอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงพร้อมดำเนินการที่จำเป็นเพื่อดูแลช่วยเหลือตัวประกันอย่างเต็มที่ และเห็นว่า หากมีการหยุดยิงในโอกาสแรกก็จะทำให้ตัวประกันได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้น

พบหารือกับ ดร. ฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน

  • กาตาร์มีบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยสำคัญในภูมิภาคที่สามารถเข้าถึงได้ทั้งฝ่ายอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เห็นว่า เมื่อมีการปล่อยตัวประกัน คนไทยน่าจะเป็นต่างชาติกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการปล่อยตัว ในขณะที่อิหร่านมีความใกล้ชิดกับกลุ่มฮามาสและได้ช่วยเจรจาเรื่องการปล่อยตัวประกันให้ไทยแล้วตั้งแต่แรกได้รับคำร้องขอ รับที่จะหยิบยกเรื่องนี้กับกลุ่มฮามาสอย่างต่อเนื่อง สำหรับอียิปต์นั้น รับที่จะพิจารณาให้ฝ่ายไทยเข้าถึงจุดผ่านแดนราฟาห์ ในฐานะประเทศปลายทางที่ตัวประกันอาจได้รับการปล่อยตัวผ่าน

พบหารือกับนายซามิห์ ฮัสซัน ชุกรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ (1 พ.ย.2566)

  • ทั้งนี้ มิตรประเทศทั้งสาม (กาตาร์ อิหร่าน อียิปต์) ได้รับที่จะส่งผ่านข้อเรียกร้องของไทยไปยังกลุ่มฮามาสทันที แต่โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าตัวประกันคนไทยถูกจับอยู่ที่ที่ปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นพื้นที่ปลอดภัย ได้รับแจ้งว่า คนไทยจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับการปล่อยตัว
  • นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีฯ ยังมีโอกาสได้หารือการขยายความร่วมมือทวิภาคีและการส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกมิติกับแต่ละประเทศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนมุมองกับอีกฝ่ายเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในภูมิภาค

“นายกรัฐมนตรียังคงติดตามสถานการณ์ สั่งการการทำงานอย่างต่อเนื่อง และใช้ทุกช่องทางของการเจรจาหารือ เพื่อเพิ่มโอกาสในการปล่อยตัวประกันชาวไทยโดยเร็วที่สุด” นายชัยฯโฆษกรัฐบาลกล่าว