กรณีศึกษา การวางตัวของ "ประเทศญี่ปุ่น" ในภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส

24 ต.ค. 2566 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2566 | 13:11 น.

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการสู้รบระหว่างอิสราเอลและฮามาส เนื่องจากมีชาวญี่ปุ่นจำนวนมากทำงานอยู่ในฉนวนกาซาซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางการโจมตี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานการบาดเจ็บ-เสียชีวิตของพลเมืองญี่ปุ่นในสมรภูมิที่กำลังเดือดระอุนี้

 
ท่าทีของญี่ปุ่น ต่อ สถานการณ์การสู้รบของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ นั้น ยังคงยืนยันเหมือนเช่นเดิมคือ การวางตัวอย่างสมดุล และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการใช้ความพยายามทางการทูตในเวทีนานาชาติเพื่อเรียกร้องให้ร่วมกันหาทางทำให้สถานการณ์สงบลงโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วย

ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว เปิดเผยรายงานสรุปโดยสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก (สน.ผชท.ทบ.) กรุงโตเกียว และข้อมูลที่ประมวลจากข่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับปฏิกิริยาของรัฐบาล และกลุ่มต่างๆ ในญี่ปุ่น หลังการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ซึ่งอาจนำมาใช้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ดังนี้

ปฏิกิริยาของรัฐบาล และกลุ่มต่างๆ ในญี่ปุ่น หลังการสู้รบ ระหว่าง อิสราเอล กับ ฮามาส

กรณีศึกษา การวางตัวของ \"ประเทศญี่ปุ่น\" ในภาวะสงครามอิสราเอล-ฮามาส
1) จุดยืนทางการทูตของญี่ปุ่น
 ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมากกว่า 90% และพยายามดำรงความสัมพันธ์กับทั้งประเทศอิสราเอลและอาหรับ โดยให้ความสำคัญกับเสถียรภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นสิ่งสำคัญ แม้ว่าญี่ปุ่นจะดำรงตำแหน่งประธาน G7 ในปีนี้ แต่ก็ไม่เข้าร่วมในแถลงการณ์ร่วมเพื่อสนับสนุนอิสราเอลที่ประกาศโดย 5 ประเทศตะวันตก รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร  อีกทั้งในวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งวันหลังจากการโจมตีอิสราเอลของฝ่ายฮามาสเริ่มขึ้น นายฟุมิโอะ คิชิดะนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้โพสต์ในบัญชี X (Twitter) ของเขา “ประณามการโจมตีของกลุ่มฮามาสและกลุ่มอื่นๆอย่างรุนแรง'' แต่ไม่ได้ใช้คำว่า “ผู้ก่อการร้าย” 

นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

ต่อมา เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 จึงได้เริ่มปรากฏคำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ในแถลงการณ์/แถลงข่าวของรัฐบาล ซึ่งผู้เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีความแน่ชัดขึ้นว่า เป็นการโจมตีแบบไม่เลือกเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและมีความโหดร้าย ซึ่งหลังจากนั้น นายมัตสุโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ก็แถลงท่าทีของญี่ปุ่นว่า จะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อโน้มน้าวทั้งสองฝ่ายเพื่อให้สถานการณ์สงบลง

2) การดำเนินการที่สำคัญของญี่ปุ่นต่อเหตุการณ์นี้
นางคามิกาวะ โยโกะ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้จัดการหารือทางโทรศัพท์หลายครั้งกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมทั้งกับจอร์แดน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และกาตาร์ เพื่อร่วมหาแนวทางที่จะทำให้สถานการณ์สงบโดยเร็ว รวมทั้งมีการเยือนอียิปต์และเข้าร่วมประชุมระดับนานาชาติเพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา

นอกจากนี้ เมื่อคืนวันที่ 17 ต.ค. 2566 นายฟุมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีแห่งอียิปต์ ซึ่งอยู่ติดกับฉนวนกาซาโดยเขากล่าวว่ากำลังติดตามสถานการณ์อิสราเอล-ปาเลสไตน์ด้วยความกังวลอย่างยิ่ง และขอความร่วมมือในการอพยพชาวญี่ปุ่นในฉนวนกาซาไปยังฝั่งอียิปต์

3) การช่วยเหลือฉุกเฉินด้านมนุษยธรรม
ในด้านมนุษยธรรม รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมฉุกเฉินแก่พลเรือนในฉนวนกาซาผ่านองค์กรระหว่างประเทศ มูลค่ารวม 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่า จะดำเนินการทางการทูตต่อไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม เพื่อให้การสนับสนุนที่จำเป็น เช่น อาหาร น้ำ การรักษาพยาบาล และการดูแลด้านสุขอนามัย

4) สถานการณ์ของชาวญี่ปุ่นในอิสราเอล
ข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุว่า ณ วันที่ 19 ต.ค. 2566 มีชาวญี่ปุ่นประมาณ 900 คนเหลืออยู่ในอิสราเอลและปาเลสไตน์  โดยยังไม่มีข้อมูลว่ามีชาวญี่ปุ่นได้รับอันตรายใดๆ นอกจากนี้ ยังมีชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่มากในฉนวนกาซา  ส่วนใหญ่เป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรเพื่อการพัฒนาของเอกชน  และยังสามารถติดต่อได้ทั้งหมดเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ยกระดับการแจ้งเตือนในพื้นที่เสี่ยงดังนี้ 

  • ฉนวนกาซาและพื้นที่ชายแดนยังคงอยู่ภายใต้การเตือนระดับสูงสุด คือระดับ 4 แนะนำให้อพยพ
  • พื้นที่ชายแดนติดกับเลบานอนได้รับการยกระดับเป็นระดับ 4 แนะนำให้อพยพ
  • เวสต์แบงก์ได้รับการยกระดับเป็นระดับ 3  แนะนำไม่ให้เดินทาง
  • พื้นที่อื่นๆ รวมถึงเทลอาวีฟและเยรูซาเลม ยังคงอยู่ภายใต้การเตือนระดับ 2  ให้ยกเลิกการเดินทางที่ไม่จำเป็นทั้งหมด

5) การเตรียมการด้านการอพยพชาวญี่ปุ่นออกจากพื้นที่

  • เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดเครื่องบินเช่าเหมาลำเพื่อช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ โดยเดินทางออกจากสนามบินเทลอาวีฟ และถึงเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในเช้าตรู่ของวันที่ 15 ต.ค.โดยเที่ยวบินนี้มีผู้โดยสาร 8 คน
  • นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่น 51 คนเดินทางออกจากอิสราเอลด้วยเครื่องบินขนส่งทางทหารของรัฐบาลเกาหลีใต้ และมาถึงสนามบินใกล้กรุงโซลในคืนวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา
  • ต่อมาในวันที่ 20 ต.ค.2566 รัฐบาลญี่ปุ่นได้อพยพชาวญี่ปุ่น 60 คนและสมาชิกในครอบครัวที่เป็นชาวต่างชาติ 4 คน และชาวเกาหลี 18 คนกับสมาชิกในครอบครัวของชาวเกาหลีที่เป็นชาวต่างชาติรวมอยู่ด้วย  ด้วยเครื่องบินเติมเชื้อเพลิง/ลำเลียงทางอากาศของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ KC767
  • ทั้งนี้ กองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นยังคงเตรียมเครื่องบินลำเลียงของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศ C2 จำนวนสองลำไว้ที่จอร์แดนและเมืองจิบูตีในแอฟริกาตะวันออก เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจการลำเลียงต่อไป

6) เกี่ยวกับปฏิกิริยาของกลุ่มต่างๆ ในญี่ปุ่น

  • เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดปราศรัยที่บริเวณหน้าสถานีรถไฟเมืองชิบุยะญี่ปุ่นว่า “กลุ่มฮามาสได้เป็นคนเริ่มต้นสงครามนี้ขึ้น  แต่พวกเราจะชนะสงครามนี้” นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่านี่ไม่ใช่สงครามของอิสราเอลเท่านั้น แต่เป็นสงครามของคนทั้งโลก   และเรียกร้องให้ทุกคนสนับสนุนอิสราเอล
  • เมื่อ 13 ต.ค. 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. ที่ถนนหน้าสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศญี่ปุ่น ได้มีกลุ่มชาวปากีสถานกว่า 100 คน ได้มาชุมนุมเรียกร้องเสรีภาพให้แก่ชาวปาเลสไตน์ โดยหนึ่งในผู้ชุมนุมให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่ว่าจะเป็นที่ใดในโลก  การฆ่าคนก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ ทุกคนจึงได้มารวมตัวเพื่อเรียกร้องให้หยุดการฆ่า”  และยังมีผู้ร่วมชุมนุมตะโกนว่า “ปลดปล่อยปาเลสไตน์   จงมอบอิสระภาพให้แก่ปาเลสไตน์”
  • วันที่ 15 ต.ค. 2566 มีการชุมนุมที่ลานหน้าสถานีรถไฟชินจูกุเพื่อประท้วงการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา และเพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์  โดยมีทั้งชาวปาเลสไตน์ในญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นเข้าร่วมชุมนุมประมาณ 200 คน
  • วันที่ 20 ต.ค. มีกิจกรรมการรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือฉุกเฉินให้แก่ชาวปาเลสไตน์ที่มัสยิดโตเกียวคามี  หนึ่งในมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ตั้งอยู่ในเขตชิบุยะ กรุงโตเกียว

ข้อพิจารณา/บทวิเคราะห์ 

ท่าทีของญี่ปุ่นต่อสถานการณ์การสู้รบของอิสราเอล-ปาเลสไตน์นั้นยังคงยืนยันเหมือนเช่นเดิมคือ การวางตัวอย่างสมดุล และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง รวมทั้งการใช้ความพยายามทางการทูตในเวทีนานาชาติเพื่อเรียกร้องให้ร่วมกันหาทางทำให้สถานการณ์สงบลงโดยเร็ว อีกทั้งการให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังได้เตรียมพร้อมสำหรับการอพยพชาวญี่ปุ่นหากมีความจำเป็น โดยได้เตรียมเครื่องบินลำเลียงของกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศไว้ที่จอร์แดนและจิบูตีซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ขัดแย้ง