ตัดสินแล้ว พณ.สหรัฐจ่อเก็บภาษีย้อนหลังแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มีผลปีหน้า

19 ส.ค. 2566 | 05:58 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ส.ค. 2566 | 06:14 น.
6.9 k

พาณิชย์สหรัฐประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการแล้ว จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา หลังพบบริษัทจีนเข้ามาใช้เป็นฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ระบุวานนี้ (18 ส.ค.ตามเวลาท้องถิ่น) ว่า บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีน ได้แก่ BYD, Trina Solar, Longi Green Energy และ Canadian Solar ได้ใช้ ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อ หลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้า จากสหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อแผงโซลาร์เซลล์จากบริษัทดังกล่าวซึ่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตใน 4 ชาติอาเซียนรวมทั้งไทย ซึ่งอาจจะสูงถึง 250% 

ทั้งนี้ สหรัฐนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของจำนวนนำเข้าทั้งหมด       

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐมีผลการตัดสินดังกล่าว แต่การเรียกเก็บภาษีจะยังไม่มีผลบังคับใช้ จนกว่าจะถึงเดือนมิ.ย.ปีหน้า (2567) เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 เนื่องจากเกรงว่า การเก็บภาษีนำเข้าในทันทีจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาดในสหรัฐเอง

การเก็บภาษีนำเข้าในทันทีจะส่งผลกระทบต่อนโยบายสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในสหรัฐเอง

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเคยประกาศคำตัดสินเบื้องต้นออกมาในเดือนธ.ค.2565 ที่ระบุว่า บริษัทผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีน 4 ราย ซึ่งประกอบด้วย BYD, Trina Solar, Longi Green Energy และ Canadian Solar ได้ใช้ฐานการผลิตในประเทศไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ หลังจากที่บริษัทออกซิน โซลาร์ (Auxin Solar) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ยื่นฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเพื่อให้มีการสอบสวนว่า ผู้ผลิตของจีนได้โยกย้ายฐานการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าสู่ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีจากทางสหรัฐหรือไม่

แต่คำตัดสินเบื้องต้นดังกล่าว ถูกทัดทานคัดค้านโดยบางกลุ่มองค์กรในสหรัฐ รวมทั้งสมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) ที่ออกมาเตือนว่า การเก็บภาษีนำเข้าต่อแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศอาเซียนดังกล่าว จะส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงาน 30,000 คน ขณะที่การลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ในสหรัฐก็จะหยุดชะงักลง หลังจากที่ได้ชะลอตัวลงอยู่แล้ว อันเนื่องมาจากต้นทุนในระดับสูง ความล่าช้าในการขนส่งสินค้า รวมทั้งปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยขัดขวางนโยบายของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ต้องการสนับสนุนโครงการใช้พลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา

คำสั่งประธานาธิบดีชะลอการเรียกเก็บภาษีไปเป็นปีหน้า

อย่างไรก็ดี แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะประกาศผลการตัดสินอย่างเป็นทางการออกมาแล้วเมื่อวันศุกร์ (18 ส.ค.) โดยให้ความเห็นชอบต่อการเรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา แต่จะยังไม่มีผลบังคับใช้ไปจนกว่าจะถึงเดือนมิ.ย.2567 เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2565 แต่หลังหมดช่วงเวลาคุ้มครองแล้ว จะทำให้มีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังได้สูงถึง 250%