โลกตื่นตาเตรียมชมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกคิงชาร์ลส์ที่สาม 6 พ.ค.นี้

05 พ.ค. 2566 | 05:36 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ค. 2566 | 06:18 น.

ผู้ชมทั่วโลกเตรียมเป็นสักขีพยานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 สุดยิ่งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 6 พ.ค.นี้

 

อังกฤษ กำลังจัดเตรียม พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ใน วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม นี้ ซึ่งมีผู้นำประเทศและสมาชิกราชวงศ์ต่าง ๆ จากทั่วโลกได้รับเชิญเข้าร่วม และคาดว่าจะมีผู้ติดตามชมการถ่ายทอดสดหลายล้านคนทั่วโลก

นี่คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกในรอบ 70 ปีของอังกฤษ ซึ่งจะจัดขึ้นที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน อันเป็นสถานที่เดียวกันกับที่เพิ่งจัดพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สอง เมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา (2565)

อาร์คบิชอพจัสติน เวลบี ผู้นำคริสตจักรแห่งอังกฤษ จะเป็นผู้นำในพิธีบรมราชาภิเษกที่ใช้เวลาราวสองชั่วโมง โดยอาร์คบิชอพจะขอให้ผู้ที่อยู่ในมหาวิหารนี้และผู้ที่ชมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ร่วมกันกล่าวคำปฏิญาณแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

ในพระราชพิธีนี้จะมีบิชอพหญิงเข้าร่วมเป็นครั้งแรก รวมทั้งผู้นำศาสนาอื่น ๆ และจะมีการสวดภาวนาและการร้องเพลงสรรเสริญศาสนาในภาษาเวลช์ ภาษาสกอต ภาษาไอริช และภาษาอังกฤษด้วย

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ถือเป็นภาพสะท้อนความพยายามของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ในการแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์ที่มีมานานถึง 1,000 ปีนั้นยังมีความยึดโยงกับประเทศที่มีความหลากหลาย มากกว่าเมื่อครั้งที่พระราชมารดาทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 70 ปีก่อน

สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3

พระราชพิธีนี้จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่หรูหราตามธรรมเนียมดั้งเดิมของอังกฤษ คาดว่าจะมีประชาชนหลายแสนคนเฝ้ารอถวายความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ตามเส้นทางพระราชดำเนินจากพระราชวังบักกิงแฮมถึงวิหารเวสต์มินสเตอร์

พระราชพิธีเปี่ยมด้วยความหมาย มีประวัติย้อนไปกว่า 1,000 ปี

สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งมีพระชนมายุ 74 พรรษา จะทรงประทับบนพระที่นั่งราชาภิเษกที่ถูกใช้ในพระราชพิธีเดียวกันนี้มานานกว่า 700 ปี พร้อมด้วย "หินแห่งสโคน" หรือ "หินแห่งโชคชะตา" ซึ่งเป็นแท่นหินโบราณที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ทรงนำมาจากสกอตแลนด์เมื่อปี 1296 และถูกนำมาใช้ในพิธีราชาภิเษกตั้งแต่นั้นมา

ส่วนของพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด จะอยู่ในช่วงที่อาร์คบิชอพแห่งแคนเทอร์เบอร์รีทำการเจิมน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่นำมาจากนครเยรูซาเล็ม ให้กับสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเป็นพิธีปิดด้วยฉากกั้นที่จะไม่มีใครได้เห็น ส่วนไม้กางเขนที่นำมาใช้ในราชพิธีจะรวมถึงเศษไม้ที่เชื่อว่ามาจากไม้กางเขนจริงที่พระเยซูคริสต์ทรงถูกตรึงไว้จนสิ้นพระชนม์ โดยพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นผู้ส่งมอบกางเขนดังกล่าวให้

ริชาร์ด ฟิตซ์วิลเลียมส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์อังกฤษ กล่าวกับสำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐว่า รายละเอียดทุกอย่างของพระราชพิธีนี้ล้วนมีนัยทางประวัติศาสตร์และศาสนา

มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน

"พระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีประวัติย้อนไปกว่า 1,000 ปี คือตั้งแต่ปีค.ศ. 973 เมื่อสมเด็จพระเจ้าเอดการ์ทรงสวมมงกุฏที่เมืองบาธ ส่วนพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกที่วิหารเวสต์มินสเตอร์เท่าที่ทราบนั้นคือปีค.ศ. 1066 ในสมัยพระเจ้าวิลเลียม เดอะ คองเคอเรอร์ หลังจากนั้นมีการปรับเปลี่ยนพิธีไม่มากนักในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา" ฟิตซ์วิลเลียมส์กล่าว

หลังเสร็จพิธีที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ สมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา จะเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถม้าสีทอง ที่ลากด้วยม้าสีเทา 8 ตัว กลับไปยังพระราชวังบักกิงแฮม ท่ามกลางขบวนแถวของประชาชนตลอดเส้นทาง

ความท้าทายของกษัตริย์พระองค์ใหม่

ผลสำรวจความเห็นของประชาชนอังกฤษเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชี้ให้เห็นว่า 58% ยังคงสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่อายุ 18 - 24 ปี ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ระดับเพียง 32% เท่านั้น

ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ยังคงปกคลุมราชวงศ์ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสมัยใหม่

โรเบิร์ต ฮาร์ดแมน ผู้เขียนหนังสือ Queen of Our Times: The Life of Elizabeth II กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า ภัยคุกคามใหญ่ที่สุดต่ออนาคตของราชวงศ์วินเซอร์ ไม่ใช่ฝูงชนบุกเข้าไปในพระราชวังหรือการปฏิวัติ แต่ราชวงศ์ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของประชาชน ดังเช่นที่พระราชินีเอลิซาเบ็ธเคยตรัสไว้เสมอว่า  “พวกเขาจะเชื่อก็ต่อเมื่อพวกเขาเห็นเรา”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้เฉลิมฉลองไปกับราชวงศ์อังกฤษในยุคใหม่ และยังเป็นหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ซึ่งสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส์ที่ 3 ต้องทรงนำพาสถาบันกษัตริย์เผชิญความท้าทายต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 21 นี้ด้วยเช่นกัน

 

ที่มา: วีโอเอ/เอพี