อยู่ไม่ไหว! “เนสท์เล่” ประกาศปิดโรงงาน ถอนการลงทุนออกจากเมียนมา

02 มี.ค. 2566 | 11:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 มี.ค. 2566 | 12:11 น.
640

เนสท์เล่ ประกาศปิดโรงงาน-ยุติการผลิตสินค้าทั้งหมดในเมียนมา ระบุต้องการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ขณะรัฐประหารเมียนมาครบรอบ 2 ปียังไม่เห็นสันติภาพ เศรษฐกิจมีแต่ทรุด

 

เนสท์เล่ (Nestle) บริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จากสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศเตรียม ปิดโรงงาน และสำนักงานใหญ่ในเมืองย่างกุ้ง พร้อมระงับการผลิตทั้งหมดใน ประเทศเมียนมา นับเป็นบริษัทต่างชาติรายล่าสุดที่ระงับการดำเนินกิจการและถอนการลงทุนออกจากเมียนมาหลังการก่อรัฐประหารโดยกองทัพครบรอบ 2 ปีเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าว่าสันติภาพและประชาธิปไตยจะกลับมาในเร็ววัน เนื่องจากรัฐบาลทหารได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งหมายถึงการเลื่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศออกไปอีก

โฆษกเนสท์เล่เปิดเผยว่า ด้วยเหตุผลด้านสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันของเมียนมา โรงงานเนสท์เล่ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางด้านการพาณิชย์ในนครย่างกุ้ง รวมทั้งสำนักงานใหญ่ของเนสท์เล่ที่ย่างกุ้ง จะปิดทำการและยุติการดำเนินกิจการทั้งหมด โดยเนสท์เล่มอบหมายให้บริษัท เมียนมา ดิสทริบิวชัน กรุ๊ป หรือ เอ็มดีจี เป็นผู้จัดจำหน่าย ทำการตลาด และกระจายสินค้าของเนสท์เล่ ที่จะนำเข้าจากประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มาจำหน่ายในเมียนมาแทน 

โรงงานผลิตของเนสท์เล่ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

ทั้งนี้ เนสท์เล่ เริ่มเข้ามาเปิดตลาดจำหน่ายสินค้า อาทิ กาแฟสำเร็จรูปเนสท์กาแฟ บะหมี่แม็กกี้ และเครื่องมอลต์รสช็อคโกแลตไมโล นมแลคโตเจน อาหารเด็กซีรีแลค ในประเทศเมียนมา ตั้งแต่ปี 1991 (พ.ศ.2534) มีการจ้างงานในเมียนมา 138 ตำแหน่งทั้งในโรงงานและสำนักงานใหญ่

แต่ต่อมาหลังกองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมียนมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เมียนมาก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งสำคัญ รวมทั้งการประท้วง การกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงทำให้ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รวมทั้งสงครามกลางเมืองและการปะทะกับชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เมียนมาถูกคว่ำบาตร บริษัทต่างชาติจำนวนมากแห่ถอนการลงทุนและยุติการดำเนินกิจการในเมียนมา ซึ่งบริษัทต่างชาติที่ถอนการลงทุนออกไปแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่โททาล เอเนอร์จีส์ จากฝรั่งเศส บริษัทเชฟรอนจากสหรัฐอเมริกา และบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมเทเลนอร์จากนอร์เวย์

ข้อมูลจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ชี้ว่า ผลพวงจากพิษเศรษฐกิจและการถอนทุนออกของต่างชาติ ทำให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคนในประเทศเมียนมา ต้องอยู่ในสถานะคนตกงานในเวลานี้  

การคว่ำบาตรของอียู

ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (EU) เพิ่งประกาศมาตรการลงโทษ "ชุดใหม่" ต่อเมียนมา สืบเนื่องจากเหตุรัฐประหารที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 2 ปีแล้ว 

มาตรการลงโทษชุดใหม่ซึ่งเป็นชุดที่ 6 ครอบคลุมถึงบุคคล 9 คนและนิติบุคคล 7 แห่งในเมียนมา ซึ่งอียูระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเมียนมา รวมถึงรัฐมนตรีพลังงานและเจ้าหนา้ที่ระดับสูง ตลอดจนนักธุรกิจผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร

สำหรับนิติบุคคลที่ถูกลงโทษล่าสุด นั้นได้แก่หน่วยงานในกระทรวงกลาโหมเมียนมา รัฐวิสาหกิจ และบริษัทเอกชนที่สนับสนุนด้านอาวุธให้แก่กองทัพ

นับจนถึงขณะนี้ สหภาพยุโรปสั่งลงโทษบุคคลในเมียนมาแล้ว 93 คน และนิติบุคคล 18 แห่ง ซึ่งถูกอายัดทรัพย์สินในยุโรปและห้ามเดินทางเข้าประเทศที่เป็นสมาชิกของอียู

นอกจากนี้ ยังมีการจำกัดการส่งออกอุปกรณ์สำหรับการสื่อสารโทรคมนาคมต่าง ๆ ที่อาจถูกนำไปใช้ในการกดขี่ประชาชนชาวเมียนมา รวมทั้งคำสั่งห้ามฝึกฝนหรือให้ความร่วมมือทางทหารแก่กองทัพเมียนมาด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2564 มีนักโทษการเมืองถูกจับกุมคุมขังในเมียนมาเกือบ 20,000 คน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,000 คนจากการปราบปรามของรัฐบาลทหาร อ้างอิงจาก Assistance Association for Political Prisoners ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

 

ข้อมูลอ้างอิง